2 กูรูฟันธงย้าย “แม่สาย” พื้นที่เสี่ยงภัย ล่อแหลม

ภาพจาก FB: Suttisak Soralump

ปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นถี่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก และไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งสุดท้าย เพียงแต่ฤดูฝนปีนี้ความรุนแรงเริ่มถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ อย่าง อ.แม่สาย อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จ.ลำปาง และ จ.เชียงใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ 2 กูรู “นายพิชิต สมบัติมาก” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) และ “รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมาไขความกระจ่างต้นตอของปัญหา เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงอันตรายจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

พิชิต สมบัติมาก
พิชิต สมบัติมาก

ชง ครม.แผนที่ดินถล่ม 54 จังหวัด

อธิบดีพิชิตบอกว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล 15,080 หมู่บ้าน จากลักษณะสภาพภูมิประเทศพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชันสูง ลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินผุพังใต้ชั้นดินหนา การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประกอบกับฝนตกหนักและนานต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้

กว่า 2 ปีที่ผ่านมามีการจัดทำ “แผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มประเทศไทย” 54 จังหวัด อยู่ระหว่างการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เบื้องต้นได้ส่งให้ทุกจังหวัดเสี่ยงได้ใช้ประโยชน์แล้ว พร้อมตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และเสริมความร่วมมือของชุนชนให้ปลอดภัย โดยตั้งแต่ปี 2546-2567 มีอาสาสมัครในพื้นที่ 51 จังหวัด 45,789 คน และเครือข่ายวัดปริมาณน้ำฝน 7,300 คน

ที่ผ่านมาทางกรมมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย เพื่อติดตามตรวจสอบสภาพอากาศ ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย เพื่อนำมาวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดทำรายงานสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยประจำวัน มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ

ขณะที่ในพื้นที่เสี่ยงตอนนี้ มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย ให้ความรู้กับประชาชน มีการประกาศเสียงตามสายแจ้งเตือนภัย จัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมพร้อมอพยพไปยังจุดปลอดภัยผ่านกลุ่มไลน์ และมือถือ

ADVERTISMENT

ปัจจุบันมีการทำ MOU ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกอบด้วย กรมทรัพยากรธรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ และกรมป่าไม้ เพื่อบูรณาการป้องกันแก้ไขปัญหาแผ่นดินถล่มในอนาคต พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน ให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำ

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2568 จัดทำพื้นที่ต้นแบบเพื่อจัดทำแนวทางการป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดิน ในพื้นที่วิกฤตที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่สรวย ลุ่มน้ำโขงเหนือ (บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย)

ADVERTISMENT

แนะนำการสร้างฝายในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มควรศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะทางระบายน้ำล้นเป็นพื้นที่เสี่ยง ไม่ควรให้มีบ้านเรือน อยู่อาศัยถาวร การสร้างสะพานข้ามลำน้ำใหญ่ ไม่ควรให้มีเสามากเกินไป และต้องสูงเพียงพอที่จะไม่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ

ในกรณีที่ลำน้ำไม่กว้างเกินไป ควรสร้างถนนแบบลดระดับ (ถนนน้ำล้น) รวมถึงปรับปรุงระบบนิเวศของลำน้ำโดยการปลูกต้นไม้น้ำเพื่อลดความรุนแรงของกระแสน้ำ การก่อสร้างโครงสร้างป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินถล่ม

“อยากแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินถล่ม ควรหลีกเลี่ยงที่จะไปตั้งบ้านอยู่อาศัย ไม่ควรปลูกสิ่งก่อสร้างที่ไปกระตุ้นให้เกิดดินถล่ม เช่น การตัดไหล่เขาสร้างบ้าน ที่พัก รีสอร์ต หลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่บริเวณสูงชัน และที่ลาดเชิงเขา ที่มีความลาดชันมากกว่า 30 องศา

เพราะมีผลทำให้เสถียรภาพของลาดดินลดลง อาจส่งผลทำให้เกิดความเลื่อนไถลของชั้นดินและหินได้ ตอนนี้หากเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดดินถล่ม หากเราไปแจ้งเตือน คนน่าจะให้ความร่วมมืออย่างรวดเร็ว แต่พื้นที่ที่ไม่เคยเกิด ถ้าให้ไปอพยพน่าจะยาก เพราะมีความห่วงทรัพย์สินเป็นเรื่องปกติ

แต่เราต้องทำอย่างไรให้เขาเชื่อฟัง นี่เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะทำให้คนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เพราะจริง ๆ แล้วที่ผ่านมา หมู่บ้านเขาอยู่มาก่อนแล้ว การไปอพยพพี่น้องประชาชนออกจึงเป็นเรื่องยาก เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้กระทั่งคนอยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็อยู่พื้นที่เสี่ยง ดังนั้นการอพยพออกอาจจะมีคนมาต่อต้าน เดินขบวนคัดค้าน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดทุกวัน”

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

ย้ายแม่สายพื้นที่ล่อแหลม

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ฉายภาพเจาะเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า อำเภอแม่สายถือเป็น “พื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ล่อแหลม” สาเหตุที่เกิดภัยพิบัติ เพราะมีคนเข้าไปอาศัยอยู่ “จากข้อมูลสภาพทางธรณีวิทยา เขตชุมชนเมืองใน อ.แม่สาย เป็นพื้นที่ดอน เกิดจากดินที่ไหลทับถมมาตั้งแต่ในอดีต เป็นพื้นที่อยู่ติดตีนเขาสูง มีน้ำเเละตะกอนที่ถูกกัดเซาะไหลออกมาตรงปากของร่องเขา เเละเเผ่ออกเป็นรูปพัด ไม่ใช่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทั่วไป

หากมองกระบวนการเปลี่ยนแปลงเปลือกโลก ภูเขาจะถูกกัดเซาะ ทำให้ดินไหลมาตามแรงโน้มถ่วงลงมาพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุดท้ายแล้ว ภูเขาอาจทลายลงเป็นที่ราบในที่สุด ส่วนพื้นที่ดอนสูงเกิดจากกระบวนการไหลของตะกอนเป็นที่สูง เช่น หมู่บ้านดอยช้าง

ผมขอเอาข้อมูลเก่าที่ผมเเละลูกศิษย์เคยไปสำรวจสภาพชั้นดินเเละน้ำใต้ดินในพื้นที่ อ.แม่สายมาดูในรายละเอียด เห็นได้ชัดว่าบริเวณพื้นที่ด่านเเละชุมชนเเม่สาย เป็นพื้นที่ที่มีระดับพื้นดินสูงกว่าในด้านฝั่งตะวันออก มีระดับน้ำใต้ดินที่ขึ้นลงตามมีอิทธิพลมาจากภูเขา ลักษณะเป็น Terrace deposits (พื้นที่สีเหลืองเข้ม) เป็นส่วนหนึ่งของดินตะกอนรูปพัด

ระดับพื้นดินที่สูงนี้เกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่ไหลลงมาจากภูเขานำพามาโดยลำน้ำ เเละมาเป็นช่วง ๆ โดยมีอายุตะกอนไม่น่าต่ำกว่า 10,000 ปี (Holocence period) ดังนั้นตะกอนเหล่านี้ถูกทับถมสะสมมาก่อนที่มนุษย์จะเข้าไปอยู่อาศัย เเละก็จะลงมาทับถมต่อไป

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.เกิดจากคนไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายหรือไม่ 2.เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพื้นที่ล่อแหลม คนที่เข้าไปอยู่มีการจัดการที่เข้มแข็งหรือเปราะบาง เช่น ไม่ควรไปสร้างอาคารพื้นที่ตีนเขา และบนภูเขา

หากเปรียบเทียบแม่สาย และภูเก็ต เป็นลักษณะคล้ายกัน คือมีผู้ได้รับผลกระทบคือผู้ที่อยู่บริเวณตีนเขา เพียงแต่พื้นที่รับน้ำที่ภูเก็ตเป็นพื้นที่เสี้ยว ๆ เล็ก ในขณะที่ อ.แม่สาย เปรียบเสมือนเป็นโอ่งใหญ่ ที่หลายคนบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากมนุษย์ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า ผมไม่ทราบ ต้องไปเก็บข้อมูล แต่มีการไปสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ มีน้ำท่วมบ่อย

สำหรับแนวทางออกในการแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ล่อแหลม เพื่อลดความเสี่ยง แบ่งเป็นแผนระยะสั้น กลาง และยาว ในส่วนแผนระยะสั้น “การซักซ้อม” ต่อไปจะต้องมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและส่วนกลางลงไปช่วยทำกระบวนการ โดยตอบคำถาม 3 ข้อให้ได้ 1.When ทูโก เมื่อไหร่จะหนี 2.How ทูไป จะไปอย่างไร

3.Where ไปที่ไหน โดยรัฐจะต้องจริงจัง มีงบประมาณให้กับการซ้อม หรืออาจมีงบประมาณให้กับอาสาสมัคร และประชาชนต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่สามารถทำได้เลย ควรเปลี่ยนวิธีการสั่งการจากวิธี Top-down หรือ แนวการคิดแบบเสื้อโหล ให้เป็นการคิดแบบ Bottom up เพื่อให้ด้านบนตอบสนอง

แผนระยะกลาง “การทำโครงสร้างป้องกัน” เป็นแผนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องเข้าไปดำเนินการ เช่น การทำฝาย ทำกำแพงเสริมเหล็ก ชะลอมวลดินที่จะไหลมาจากภูเขา เป็นการลดความเสี่ยง ฯลฯ

ส่วนแผนระยะยาว “การย้ายเมือง อำเภอแม่สาย มีความจำเป็นต้องย้ายชุมชนออกไป แม้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีก็ตาม แต่ต้องทำ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงและล่อแหลม โดยต้องมีการจัดทำผังเมืองเศรษฐกิจรองรับ และสร้างกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์ในแง่ธุรกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถจัดทำได้ทันที

ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นการย้ายเมืองจากกรณีดินถล่ม เช่น ปี 2561 บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน นายอำเภอสั่งย้ายหมู่บ้านบริเวณตีนเขากว่า 100 ครัวเรือน และปี 2549 ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พื้นที่เปราะบางมีคนอาศัยอยู่น้อย ควรทำแผนย้ายตลาดชุมชน โดยวางผังเมืองให้ดี