
ในโอกาสท่าอากาศยานภูเก็ตครบรอบปีที่ 36 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม ของทุกปี “มนต์ชัย ตะโหนด” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ฉายภาพถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนงานและทิศทางในอนาคตว่า ท่าอากาศยานภูเก็ตมุ่งมั่นสู่การพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี และเป็นท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ภายใต้แนวคิด “Prime Destination through Secondary Hub Airport” ตามแผนวิสาหกิจของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นประตูต้อนรับนักเดินทาง และเป็นฟันเฟืองด้านการท่องเที่ยวและการบิน ประกอบกับปัจจัยจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้การเติบโตของปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานภูเก็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2567 ท่าอากาศยานภูเก็ตมีจำนวนเที่ยวบินรวม 98,711 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97 เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2566 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ
จำนวน 53,378 เที่ยวบินและเที่ยวบินภายในประเทศ 45,333 เที่ยวบิน ขณะที่ผู้โดยสารรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 16,388,955 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.17 เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2566 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวน 9,864,824 คน และผู้โดยสารภายในประเทศจำนวน 6,524,131 คน ซึ่งเกินขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ตที่สามารถรองรับผู้โดยสารที่ 12.5 ล้านคนต่อปี
จากปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เร่งผลักดันโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อรองรับการเติบโตที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินท่าอากาศยานภูเก็ตมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารคุณภาพการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการผู้โดยสาร เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก และลดระยะเวลารอคอยของผู้โดยสาร
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานภูเก็ตมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยนำโครงการจัดอันดับท่าอากาศยาน Airport Service Quality : ASQ ของ Airports Council International : ACI และโครงการ Skytrax
ภายใต้โปรแกรม World Airport Audit มาบูรณาการเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและสำรวจความพึงพอใจผู้โดยสารสู่การได้รับใบรับรองคุณภาพการให้บริการ ACI Airport Customer Experience Accreditation (Level 1) และใบรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC STAR เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน
นอกจากนั้น ท่าอากาศยานภูเก็ตยังให้ความสำคัญใส่ใจดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดการเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน Corporate Citizenship Airport ควบคู่ไปกับการดำเนินงานธุรกิจการบิน เช่น โครงการท่าอากาศยานภูเก็ตรักษ์ป่าชายเลน ปีที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้และพื้นที่เขตป่าชายเลนอนุรักษ์ จากศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต บริเวณบ้านบางดุก ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวน 25 ไร่
เป็นพื้นที่รับผิดชอบของท่าอากาศยานภูเก็ต ดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง, โครงการท่าอากาศยานภูเก็ตรักษ์ชายหาด ร่วมเก็บขยะบริเวณหาดไม้ขาว, โครงการ AOT พี่อาสา กิจกรรม “First Aid ปลอดภัยเรื่องใกล้ตัว” ในการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติแก่ชุมชนและนักเรียนโดยรอบท่าอากาศยานภูเก็ต
อีกทั้งได้จัดกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับประถมศึกษา ชิงทุนการศึกษาเนื่องในโอกาสครบรอบการดำเนินงานท่าอากาศยานภูเก็ต ปีที่ 36 รวมเงินรางวัล 30,000 บาท ในหัวข้อ “เครื่องบินของฉัน”
โดยมี 7 โรงเรียนรอบท่าอากาศยานภูเก็ตร่วมส่งผลงาน ซึ่งผลการแข่งขันชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนวัดมงคลวราราม ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนบ้านป่าครองชีพ ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนบ้านหมากปรก ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชยอีก 4 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาและสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของนักเรียนโดยรอบท่าอากาศยานภูเก็ต
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานภูเก็ตมีความมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการและเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นผู้ให้บริการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก” (The World Class Arports) ด้วยการยกระดับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย บนมาตรฐานสากล ก้าวสู่การดำเนินงานปีที่ 37 อย่างยั่งยืน