กกร.ปทุมธานี ร้องแก้สีผังเมือง รับโรงงานใหม่ “หนองเสือ-ลาดหลุมแก้ว”

patum
สมควร จันทร์แดง

กกร.ปทุมธานีจี้ปลดล็อกผังเมือง ยื่น จม.ถึงกรมโยธาฯ แก้ไขบัญชีประเภทโรงงาน ให้ 40 ลำดับขยายพื้นที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะ 2 อำเภอ “หนองเสือ-ลาดหลุมแก้ว” ขอเป็นพื้นที่สีม่วง เพื่อขยายธุรกิจอุตสาหกรรมมูลค่าสูง จาก “แรงม้า” เป็น “คาร์บอนเครดิต”

นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปทุมธานีมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 3,000 แห่ง หลายแห่งมีแผนจะตั้งโรงงานใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต รวมถึงนักธุรกิจนอกพื้นที่ด้วย แต่ติดปัญหาไม่สามารถขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน หรือใบ รง.4 ได้

เนื่องจากผังเมืองรวม อ.ลาดหลุมแก้ว กำหนดไว้เป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) และ อ.หนองเสือ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีชมพู (ที่ดินประเภทชุมชน)

ขณะที่พื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม) มีน้อยมาก รวมถึงเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ต.บางกะดี อ.เมือง ใกล้เต็มแล้วเช่นกัน

ดังนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย สมาคมธนาคารจังหวัดปทุมธานี หอการค้าจังหวัดปทุมธานี และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอให้พิจารณาแก้ไขรายการบัญชีประเภท หรือชนิดของโรงงาน ที่แนบท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2558 จำนวน 40 ลำดับ ตามมาตรา 35 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงในปัจจุบัน

“โรงงานตั้งมานาน 40-50 ปีแล้ว ก่อนประกาศใช้ผังเมืองรวมฉบับปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการที่มีที่ดินติดกับโรงงานเดิมไม่สามารถขยายโรงงานใหม่ได้ ส่วนใหม่ก็ไม่สามารถขอใบอนุญาตตั้งโรงงานใหม่ได้ ทั้งที่โรงงานเกิดใหม่เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ADVERTISMENT

ตัวอย่าง กิจการโรงเลื่อยมีฝุ่นมาก พอเลิกกิจการมีคนมาซื้อที่ และวางแผนจะตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะติดเรื่องสีผังเมือง ทั้งที่รัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ไม่ก่อมลพิษ อุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” นายสมควรกล่าว และว่า

ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของปทุมธานีเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ เพราะคนส่วนใหญ่จะพักที่ปทุมฯ แล้วไปทำงานในกรุงเทพฯ แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐสร้างแหล่งจ้างงานใหม่ ๆ ให้คนปทุมฯ ได้อยู่และทำงานใกล้บ้าน

ADVERTISMENT

“การขออนุญาตตั้งโรงงานมีหลักการว่า ถ้าผังสีและลำดับโรงงานสอดคล้องกันก็ขอใบ รง.4 ได้ แต่ถ้าไม่สอดคล้องกันจะต้องขอแก้ไขบัญชีแนบท้าย เป็นเรื่องเฉพาะกิจ ขณะนี้มีทั้งหมด 40 ลำดับที่ต้องการแก้ไข จาก 106 ลำดับ ที่ผ่านมามีการประชุมเรื่องนี้กว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า”

ปัญหาผังเมืองมีมายาวนาน บางพื้นที่ยังไม่สามารถแก้ไขผังเมืองได้สำเร็จ แม้ว่าผังเมืองรวมของจังหวัดจะหมดอายุไปตั้งแต่ปี 2558 แม้จะพยายามแก้ไขปรับปรุงบางพื้นที่แต่ก็ไม่คืบหน้า ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม

นายสมควรกล่าวอีกว่า อย่างกรณีโรงงานผลิตกล่องกระดาษ เป็นอุตสาหกรรมบริการ มีการพรินต์สี ซึ่งปัจจุบันปรับมาใช้สีแบบฟู้ดเกรด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่สามารถขอขยายพื้นที่ได้

ขณะที่โรงงานใหญ่หลายแห่งที่ต้องการขยายเป็นพาร์ตเล็ก ๆ เช่น การทำชิ้นส่วนรถยนต์ งานกลึง งานแมชีน ที่ใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรทันสมัยในการผลิตและขึ้นรูป จะขยายแรงม้าและขยายพื้นที่ก็ไม่สามารถทำได้ แม้จะมีพื้นที่สำรองไว้แล้ว

“รัฐควรส่งเสริมโดยอนุญาตอุตสาหกรรมมูลค่าสูงให้จัดตั้งได้ หรือการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจากแรงม้า เป็นพิจารณาจากการปล่อยคาร์บอนเครดิตแทน โดยมีเกณฑ์พิจารณา เช่น การจัดการน้ำเสีย การจัดการอากาศ ถ้าปล่อยคาร์บอนน้อยก็มีสิทธิขออนุญาตได้ อยากให้เป็นไปในลักษณะส่งเสริมกันมากกว่า ทุกจังหวัดก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน”

สำหรับกิจการโรงงานที่ต้องการแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทของเมืองที่เปลี่ยนไปนั้นมี 40 ประเภท อาทิ 1) โรงงานเกี่ยวกับผัก พืช ผลไม้ 2) โรงงานเกี่ยวกับเมล็ดพืช หรือหัวพืช 3) โรงงานเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง 4) โรงงานเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต ขนมหวาน

5) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุง หรือเครื่องประกอบอาหาร 6) โรงงานเกี่ยวกับน้ำดื่ม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำแร่ 7) โรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอ ซึ่งมิใช่เครื่องนุ่งห่ม 8) โรงงานผลิตเสื่อหรือพรมด้วยวิธีทอ สาน ถัก หรือผูกให้เป็นปุย ซึ่งมิใช่เสื่อหรือพรมที่ทำด้วยยาง หรือพลาสติก หรือพรมน้ำมัน

9) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ซึ่งมิใช่รองเท้า 10) โรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากไม้ หรือไม้ก๊อก 11) โรงงานผลิตภาชนะบรรจุจากกระดาษทุกชนิด หรือแผ่นกระดาษไฟเบอร์ (Fibreboard)

12) โรงงานเกี่ยวกับเยื่อ กระดาษ หรือกระดาษแข็ง 13) โรงงานเกี่ยวกับการพิมพ์ การทำแฟ้มเก็บเอกสาร การเย็บเล่ม ทำปก หรือตกแต่งสิ่งพิมพ์ 14) โรงงานเกี่ยวกับยา 15) โรงงานเกี่ยวกับสบู่ เครื่องสำอาง หรือสิ่งปรุงแต่งร่างกาย 16) โรงงานที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น