
ขณะที่กำลังย่างก้าวเข้าสู่ต้นฤดูทุเรียนภาคตะวันออก ล่าสุดมีประเด็นที่น่ากังวล เมื่อสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) แจ้ง “ไม่รับรองผลตรวจของแล็บไทย” 2 แห่ง ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนของจีนไปแล้ว เนื่องจากแล็บไทย 2 รายสุ่มตรวจและออกใบรับรองว่า ไม่พบสารย้อมสี Basic Yellow (BY2) แต่ด่านจีนสุ่มตรวจ 100% พบสาร BY2 สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้ที่อยู่ในโครงสร้างวงจรทุเรียน เพราะฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มต้นปลายเดือนเมษายน 2568 นี้
หากแล็บที่ให้บริการตรวจรับรองไม่เพียงพออยู่แล้ว และลดจำนวนลงไปอีก ทุเรียนไทยระส่ำตั้งแต่ชาวสวน ผู้ประกอบการล้ง ผู้ส่งออกและห้องปฏิบัติการ
แม้ทางการไทยระบุว่า ได้มีการควบคุมอย่างเข้มงวดแล้ว โดยกรมวิชาการเกษตรออกประกาศเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ให้ผู้ส่งออกทุเรียนผลสดไทยไปจีนต้องแนบผลการตรวจรับรอง (Test Report) สารแคดเมียมไม่เกินค่ามาตรฐาน 0.05 ไมโครกรัม และ BY2 ต้อง Not Detected จากห้องแล็บที่ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนจากสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) แต่การตรวจพบของด่านจีนแสดงให้เห็นว่า ยังคงมีการแอบลักลอบใช้สาร BY2 หรือเป็นเพียงการปนเปื้อนจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป
นอกจากนี้ อีกปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทุเรียนไทย คือ การส่งออก “ทุเรียนอ่อน” ไปจีน ซึ่งช่วงต้นฤดูมีให้เห็นเกลื่อนตลาด แต่ปีนี้ข่าวการตรวจพบทุเรียนอ่อนจำนวนมากถูกกลบด้วยกระแสร้อนแรงของปัญหาทุเรียนปนเปื้อนสารย้อมสี BY2 ที่จีนยังคงตรวจพบอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่จำนวนแล็บที่ให้บริการตรวจรับรองไม่เพียงพอ และลดจำนวนลงไปอีก ดังนั้น หากรัฐบาลไทยยังปล่อยให้มีการลักลอบใช้ BY2 โอกาสที่จะให้ทางการจีนผ่อนปรนยกเลิกการตรวจสาร BY2 100% ในทุกตู้คงเป็นเรื่องยาก ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่ประดังกันเข้ามาสร้างความระส่ำให้คนในวงการทุเรียนอย่างมาก
ผงะ 2 แล็บกลางถูกระงับ
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาช่วงปลายเดือนมกราคม 2568 บริษัท ห้องปฏิบัติกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาสงขลา ถูกระงับเป็นแห่งแรก ๆ ที่ทางการจีนไม่รับรองผล (Test Report) BY2 และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 แจ้งว่า บริษัท ห้องปฏิบัติกลางฯ กรุงเทพฯ ถูกระงับเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง รวมเป็น 2 แล็บ เหลือแล็บที่ตรวจรับรองได้ 6 แล็บ และรอการขึ้นทะเบียนจาก GACC อีก 5 แล็บ เกรงว่าจะไม่สามารถตรวจรับรองได้ทันช่วงฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออก
ทั้งนี้ การที่แล็บไทยสุ่มตรวจแล้วไม่พบสาร BY2 แต่ด่านจีนสุ่มตรวจพบ BY2 น่าจะไม่ใช่ความผิดพลาดของเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ เพราะทุเรียน 1 ตู้ มีประมาณ 18 ตัน วิธีการตรวจเป็นลักษณะการตรวจรับรองเฉพาะตัวอย่างที่สุ่มมา 5 ลูกใน 1 ตู้เท่านั้น
ดังนั้นการที่จีนตรวจพบมีความเป็นไปได้ เพราะจีนสุ่มตรวจทุกตู้ ทุกชิปเมนต์ ทุเรียนที่ตรวจคนละลูกกันกับตัวอย่างที่ไทยตรวจ มีโอกาสในการตรวจพบ และจนถึงวันนี้แล็บที่สงขลายังไม่ได้รับการปลดล็อกจากจีนให้กลับมาตรวจรับรองการส่งออก
“เรามั่นใจในแล็บไทยที่ได้มาตรฐานสากล เพราะมีการตรวจผลไม้ส่งออกไปหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ที่มีระบบมาตรฐานสูง ตอนนี้แล็บจาก 8 บริษัทเหลือ 6 บริษัท รออีก 4-5 บริษัทขึ้นทะเบียนกับ GACC จีน เมื่อถึงฤดูกาลผลผลิตทุเรียนออกมามาก 700-1,000 ตู้ต่อวัน จากที่กรมวิชาการเกษตรประเมินไว้ว่ามีแล็บตรวจรับรองการส่งออกได้ 8 บริษัท รอขึ้นทะเบียน 5 บริษัทจะตรวจได้วันละ 3,000 ตัวอย่าง นั้นก็คงไม่สามารถทำได้ทัน ทางกรมวิชาการเกษตรคงต้องเร่งไปเจรจากับจีนให้ปลดล็อก และขึ้นทะเบียนแล็บใหม่โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ในเรื่องมาตรฐานการตรวจของไทยที่เป็นสากลตั้งมาตรฐานสูงมากและจากการตรวจพบ BY2 ในระยะแรก ๆ ที่เปลือกทุเรียน พบน้อยกว่า 1 ใน 1,000 ล้านส่วน (ppb) ถือว่าน้อยมาก” แหล่งข่าวกล่าว
ส่งออกลดเสี่ยงทยอยซื้อ
นายณัฐกฤษณ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน ผู้ส่งออกทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนที่ผ่านการตรวจของแล็บไทยว่าไม่พบสารปนเปื้อน แต่จีนตรวจพบสาร BY2 อยู่นั้น
หากจีนยังไม่ผ่อนปรนมาตรการตรวจเข้มสุ่มทุกตู้ทุกลอต ผู้ส่งออกต้องลดความเสี่ยงโดยทยอยซื้อจากที่ล้งเคยซื้อส่งออกวันละ 3 ตู้ ตอนนี้ต้องซื้อวันละ 1 ตู้ รอตรวจ 2 วันให้ผ่านด่านตรวจไทยได้ใบตรวจผ่านแล้ว จึงซื้อครั้งที่ 2 อีก 1 ตู้ รอตรวจผ่านก่อนจึงจะซื้อครั้งที่ 3 อีก 1 ตู้ ผ่านด่านไทยแล้วยังต้องไปวัดดวงที่ด่านจีนอีกว่าจะผ่านหรือไม่ ดังนั้นทุเรียนจะไม่มีการทะลักออกไปลอตใหญ่ ๆ เพราะถ้ามีการตรวจพบต้องถูกระงับการส่งออกทันที เสียหาย 4-5 ล้านบาทต่อตู้
“ปีนี้หากจีนยังมีมาตรการเข้มข้นในการตรวจ จะเป็นปัญหากับการส่งออกทุเรียนมาก แต่ละล้งจะมีการชะลอการซื้อ ซื้อแล้วหยุด 2 วัน เพื่อให้ผ่านการตรวจจากด่านไทยก่อนจึงจะซื้อตู้ต่อไป เพื่อส่งออกไปจีน การส่งออกทุเรียนยังต้องตั้งหลักกันดูก่อนว่าผ่านการตรวจหรือไม่แต่ละชุด ๆ ไม่ใช่การส่งรวมลอตใหญ่ ๆ ทีเดียว 300 ตู้ จะทยอยส่งครั้งละ 100 ตู้” นายณัฐกฤษณ์กล่าว
ทางด้านแหล่งข่าวจากโรงแพ็กส่งออกกล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล้งส่วนใหญ่จะทยอยเปิดรับซื้อในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ตามที่มีข่าวจีนยังตรวจพบ BY2 และมีล้งที่ถูกระงับเลขทะเบียนการส่งออก (DOA) ที่ต้องดีแคลร์เพื่อให้จีนปลดล็อก และล่าสุดยังมีแล็บถูกระงับไปอีก ทำให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อทุเรียนให้เถ้าแก่ที่จีนวิตกกังวล เพราะหากผิดพลาดต้องรับผิดชอบเอง
ทั้งนี้ ล้งได้ทำความสะอาดกันอย่างหนัก บางล้งเทปูนทำพื้นใหม่ เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ อบรมพนักงานให้รักษาความสะอาด และบางล้งต้องสร้างความมั่นใจ
ขอให้ชาวสวนที่จะขายทุเรียนให้ต้องมีใบรับรอง GAP ใบรับรองตรวจเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งก่อนตัด และใบตรวจสารปนเปื้อนแคดเมียม และสาร BY2 และทิ้งระยะเวลาการตัดให้เป็นช่วงที่ปลอดภัย ซึ่งค่าใช้จ่ายการตรวจ BY2 และแคดเมียม ค่าใช้จ่ายสูง 5,2343 บาทต่อตัวอย่าง จึงต้องมีการตกลงกับชาวสวน ล้งจำเป็นต้องระวังตัวอย่างหนัก
เพราะหากตรวจพบ BY2 ในไทยครั้งที่ 1-2 ยังให้ดีแคลร์ตัวเองได้ ครั้งที่ 3 คือ ถูกระงับเลข DOA หากตรวจพบที่ด่านจีนอาจจะถูกระงับเลข DOA เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วหากพบว่ามีสารปนเปื้อน BY2 ล้งเองน่าจะรู้ข้อมูลที่มาของทุเรียนที่ส่งออก
หวั่นตู้คอนเทนเนอร์ขาด
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปีนี้ผู้ส่งออกน่าจะลดลงและมีปัญหาเป็นลูกโซ่ เนื่องจาก GACC ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุใหม่ พบว่ามีล้งว่างให้เช่าจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการลดค่าเช่าลง บางแห่งลดจาก 1.8 ล้านบาท เหลือ 800,000 บาท และการขนส่งทางเรือจำนวนมากกว่า 50% อาจจะมีปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนจากการตรวจที่ด่านล่าช้า ซึ่งการขนส่งติดที่ด่านทั้งทางบก ทางเรือ การหมุนเวียนของตู้ใช้เวลาเพิ่มขึ้น ราคาค่าเช่าตู้จะเพิ่มขึ้น จากราคาปกติตู้ละ 160,000-190,000 บาท เมื่อขาดแคลนมาก ๆ อาจจะสูงถึง 200,000-300,000 บาท
ทำให้ล้งรับซื้อได้น้อยลง ส่งผลต่อราคาที่รับซื้อจากชาวสวน แม้ว่าผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกโดยรวมลดลง แต่ยังมีปริมาณมาก ถ้ายังมีปัญหาต่าง ๆ ตัวเลขส่งออกไปจีนน่าจะลดลง โอกาสของทุเรียนไทยปีนี้นอกจากปัญหา BY2 แล้ว ขึ้นอยู่กับความสามารถของล้งที่จะมีช่องทางการส่งออก ทั้งการขนส่ง ความพร้อมของตู้คอนเทนเนอร์ การทำกำไร ล้งที่ขาดทุนจะถอยไปเรื่อย ๆ
ทุเรียนลดเหลือ 7 แสนตัน
นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังกรมวิชาการเกษตรประกาศคุมเข้มในช่วง 20 วันแรกตรวจไม่พบสารปนเปื้อน BY2 เลย แต่ล่าสุดมีข่าวด่านไทยเองก็ตรวจพบ และต้องอายัดตู้ และระงับการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งว่า ทำมาตู้แรก ๆ ผ่านไม่มีปัญหา แต่ตู้หลัง ๆ ยืนยันว่าทำเหมือนเดิม แต่กลับพบสาร BY2 ตอนนี้ยังมีปัญหาทุเรียนอ่อนที่ใช้ยาฉีดเร่งสีด้วย เวลานี้ผู้ประกอบการจะกลัวไปหมด ไม่กล้าเหมาสวนล่วงหน้า ปัญหา BY2 ยังสรุปไม่ได้จากสวนหรือล้ง ล่าสุดทราบข่าวว่าทางการจีนแจ้งว่าไม่รับรองผลแล็บของไทยเพิ่มอีก 1 แห่ง
ดังนั้น ภาครัฐของไทยต้องเร่งเจรจากับทางจีนให้ผ่อนปรนการตรวจเข้ม 100% เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดการให้ได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2568 ก่อนที่ทุเรียนรุ่นใหญ่ประมาณ 30% ของผลผลิตทั้งหมด จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน
“แม้ว่าปีนี้ต้นฤดูทุเรียนตะวันออก ราคาพลิกกลับพุ่ง 240-250 บาท/กก. แต่เป็นผลผลิตเพียง 5% ของผลผลิตภาคตะวันออกทั้งหมด และปีนี้คาดว่าผลผลิตภาพรวมน่าจะลดลง 30% เหลือประมาณไม่เกิน 700,000 ตัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่ตกลงมา” นายสัญชัยกล่าว
ต้นฤดูเจอทุเรียนอ่อนเพียบ
นายชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 เจ้าของฉายามือปราบทุเรียนอ่อน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้มีข่าวสารปนเปื้อน BY2 และแคดเมียม ทำให้ดูเหมือนว่าปัญหาทุเรียนอ่อนที่เคยเกิดเป็นปกติในภาคตะวันออกเบาบางลงในช่วงต้นฤดู ทั้งที่พบว่ามีปัญหาทุเรียนอ่อนเกลื่อนตลาด เพราะทุเรียนต้นฤดูราคาสูง ชาวสวนเร่งตัด หรือล้งที่เหมาล่วงหน้าเห็นว่า ราคาสูงกลัวขาดทุน รีบส่งคนมาตัด
และที่สำคัญ ยังมีล้งรับซื้อส่งออกไปตลาดจีน แต่ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบกับทุเรียนไทยที่ตลาดปลายทาง หากไม่เร่งแก้ไขจะทำให้เสียตลาดให้ทุเรียนเวียดนาม ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรี ตราด ควรกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตั้งด่านตรวจการขนย้ายทุเรียนและ สวพ.6 ควรตรวจเข้มโรงคัดบรรจุไม่ให้ทุเรียนอ่อนหลุดออกไป และล้งไม่ควรรับซื้อทุเรียนอ่อน
หน่วยงาน เจ้าหน้าที่น่าจะยุ่งอยู่กับเรื่องสาร BY2 แคดเมียม ทำให้ปัญหาทุเรียนอ่อนในช่วงต้นฤดูปีนี้ถูกกลบไป ไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก ทั้ง ๆ ที่ผ่านมามีทุเรียนอ่อนที่หลุดออกสู่ตลาดภายในประเทศและตลาดปลายทางที่จีนจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้ตลาดทุเรียนไทยอย่างมาก ที่ตลาดจีนพบว่าทุเรียนที่ซื้อไป 9 ลูก มีทุเรียนอ่อน 6 ลูก กินได้แค่ 3 ลูก
“ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดอย่างจริงจัง และประชาชนทั่วไปต้องช่วยเป็นหูเป็นตาชี้เบาะแส ตรวจจับและดำเนินการตามมาตรการของกฎหมาย ชาวสวนเองไม่ต้องรีบตัด มือตัดของล้งต้องไม่รีบตัดเพื่อเอาราคาสูง ๆ และล้งต้องไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน จริง ๆ แล้วมีมาตรการการใช้ใบรับรอง GAP การตรวจเปอร์เซ็นต์ในเนื้อแป้งที่ควบคุมอยู่ แต่มีช่องทางที่ให้ทำกันได้ แม้แต่สีทุเรียนให้มีสีเหลืองโดยที่เปอร์เซ็นต์แป้งยังไม่ได้ และทุเรียนปีนี้ 1 ต้น มี 3-4 รุ่น แต่ละรุ่นห่างกัน 10 วัน กรมวิชาการเกษตรควรเร่งออกมาตรการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนให้เร็วที่สุด เพราะเดือนเมษายนทุเรียนลอตใหญ่ภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาด” นายชลธีกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่ทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดปลายทาง ทำให้ราคาทุเรียนในตลาดรับซื้อได้ปรับตัวลง กก.ละ 5-10 บาท ทุเรียนหมอนทองเกรด AB จากราคา 240-255 บาท/กก. เหลือ กก.ละ 230-240 บาท ทั้งที่คาดการณ์กันว่าราคาจะลดต่ำลงหลังวันที่ 10 เมษายนไปแล้ว
ข้อมูลจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) แจ้งผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแป้งของทุเรียน โรงคัดบรรจุภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ปริมาณตัวอย่างสะสมตั้งแต่ 24-27 มี.ค. 68 จำนวน 318 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 289 ตัวอย่าง คิดเป็น 90.9% ไม่ผ่านเกณฑ์ 29 ตัวอย่าง คิดเป็น 9.1% โดยกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก พันธุ์กระดุม 4 เม.ย. 68 พันธุ์ชะนี พวงมณี 10 เม.ย. 68 พันธุ์หมอนทองและก้านยาว 30 เม.ย. 68