วิกฤตปาล์ม-ยาง-มะพร้าว ฉุดกำลังซื้อภาคใต้ดิ่งเหว

แฟ้มภาพ

สภาเกษตรกรแห่งชาติจี้รัฐเร่งแก้ราคาสินค้าเกษตรภาคใต้ร่วงยกแผง ทั้งปาล์ม-มะพร้าว-ยางพารา ลามไปถึงอ้อย-ยาสูบ จากปัญหาราคาตลาดโลกตกต่ำ ปล่อยสต๊อกใน ปท.ล้นไม่ยอมแก้กันมาตั้งแต่ต้น หวั่นกระทบกำลังซื้อภาคใต้ทั้งภาค ส่วนมาตรการแก้ปัญหายังเปะปะ แถมยังมาช้าแก้ที่ปลายเหตุ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกษตรกรในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ภาครัฐดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับลดลงเหลือ กก.ละ 2.50-2.60 บาท จากต้นทุนเกษตรกรที่ กก.ละ 3.10 บาท ก่อนหน้านี้ราคามะพร้าวได้ปรับลดลงเหลือ กก.ละ 3-4 บาท จากปัญหาการลักลอบนำเข้ามะพร้าว ขณะที่ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ กก.ละ 42 บาท จากปีก่อนที่เคยสูงเกินกว่า กก.ละ 50 เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัว โดยล่าสุดในเดือนกันยายน ส่งออกยางลดลง 6.2% และ 9 เดือนแรกส่งออกได้เพียง 1.1% ส่วนราคาขั้นต้นก็เหลืออยู่ตันละ 680 บาท ถือว่า “ต่ำสุดในรอบ 10 ปี”  ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ โดยล่าสุดในเดือนกันยายนไทยส่งออกน้ำตาลลดลง 19.1% และ 9 เดือนแรกส่งออกติดลบ -8.8% ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกรในช่วงปลายปีนี้

ภาคใต้เศรษฐกิจทรุดหนัก

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรที่สำคัญของทางภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน-มะพร้าว-ยางพารา ต่างมีราคาตกต่ำลงทั้งหมด ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุน แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายด้าน “การตลาดนำการผลิต” แต่ก็ยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ถ้าหากรัฐไม่เร่งแก้ไขสถานการณ์จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในภาคใต้ ในช่วงปลายปีปรับลดลงแน่นอน

“ตอนนี้ปาล์ม-ยางพารา-มะพร้าวปรับราคาลดลงหมด ปาล์มน้ำมันเกษตรกรขายได้เพียง กก.ละ 2 บาท ส่วนยางพารา ราคาน้ำยางลดลงไปตอนนี้เหลือ 3 กิโลกรัม ราคา 100 บาทแล้ว สต๊อกก็เป็นแรงกดดันตลาด ขณะที่มะพร้าวเกษตรกรที่สวนจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 2.50 บาทถึง 3 บาทเท่านั้น” นายประพัฒน์กล่าว

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิดในส่วนปาล์มน้ำมัน “จะต้องสร้างดีมานด์เพื่อดึงซัพพลายออกจากตลาด” ทั้งการผลักดันการส่งออกและการเร่งผลิตไบโอดีเซล B20 ขณะที่มะพร้าวรัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาโดยการเช็กสต๊อกและสั่งให้ระงับการนำเข้าเป็นเวลา 1 ปี ยางพาราจะเป็นสินค้าที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะมีปัญหาอย่างรุนแรงและยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน จนทำให้ราคาน้ำยางลดลงไปเหลือ 3 กิโลกรัม 100 บาท ปริมาณสต๊อกยางพาราเก่า (104,550 ตัน) ของรัฐบาลส่งผลในแง่จิตวิทยาต่อราคาตลาด การส่งออกลดลง ส่วนการกระตุ้นความต้องการใช้ยางภายในประเทศก็ยังไม่ได้เกิดผล รัฐบาลต้องกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น

ปาล์มหวัง B20 ช่วย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการนำเข้ามะพร้าว เพื่อพิจารณามาตรการดูแลการนำเข้ามะพร้าว ซึ่งจะต้องสรุปให้ได้ภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้ขึ้นบัญชีมะพร้าวและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าควบคุมและกำหนดมาตรการดูแลการขนย้ายมะพร้าว ส่วนคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ก็ได้พิจารณาขยายระยะเวลาในการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จากเดิมที่จะสิ้นสุด

โครงการในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ออกไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกลางวงเงิน 525 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สนับสนุนต้นทุนค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการให้ผู้ประกอบการปาล์ม กก.ละ 1.75 บาท ช่วยผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 300,000 ตันภายใน 3 เดือน จากจำนวนสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบทั้งประเทศ 3.5-3.8 ล้านตัน หรือ “สูงกว่า” ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่ควรจะมีไม่เกิน 250,000 ตัน

ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานจะต้องเร่งผลักดันการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่-จูงใจรถบรรทุกขนาดเล็ก-รถไฟ โดยเชื่อกันว่า การใช้ B20 จะสามารถ “ดูดซับ” น้ำมันปาล์ม “ส่วนเกิน” ให้ได้มากขึ้น ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมต้องยกร่างประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรง A ต้องสกัดน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 18% และโรง B ต้องสกัดน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 30% เพื่อผลักดันให้มีการบังคับใช้โดยเร็ว “ถ้าทำตามมาตรการที่กำหนดราคาผลปาล์มจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น กก.ละ 3-3.20 บาท จากต้นทุนการผลิตที่ กก.ละ 3.10 บาท

เกษตรกรรวมพลกดดันรัฐ

ด้านแหล่งข่าวในกลุ่มโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เปิดเผยว่า การสนับสนุนส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่ กก.ละ 1.75 บาทนั้น “ไม่ใช่เรื่องง่าย” ที่จะผลักดันสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 300,000 ตันออกไปนอกประเทศได้ เพราะตลาดส่งออกปาล์มชะลอตัวจากประเทศผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและอินเดียมีมาตรการลดภาษี ส่งผลให้ปริมาณซัพพลายน้ำมันปาล์มในตลาดโลก “ล้น” ราคา CPO ลดลงไปเหลือ กก.ละ 17-18 บาท ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มดิบในไทยก็ไม่ต่างกัน “บางวันราคาไทยถูกกว่าราคาในตลาดโลกด้วยซ้ำ” ส่วนการกระตุ้นการใช้ B20 จากการเปิดตัวโครงการของกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 ปรากฏมีการใช้น้ำมัน B20 เพียง 6-7 ล้านลิตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพียง 1,199 ตันเท่านั้น

ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ ปรากฏนายสมเกียรติ เหล่านาค นายกสมาคมชาวสวนมะพร้าวจังหวัดชุมพร (พท.ปลูกมะพร้าวแกง 100,000 ไร่) ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ส่วนนายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ก็ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นเดียวกัน โดยขอให้มีการรับซื้อผลปาล์ม กก.ละ 4.50 บาท (18%) ยกเลิกการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง และให้โรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิง และจะรอฟังผลก่อนเคลื่อนไหวใหญ่ในอาทิตย์นี้

ส่วนนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/62 ตกลงมาอยู่ 680 บาท/ตัน ซึ่งต่ำมาก หากทิศทางราคาผลผลิตอ้อยตกต่ำแบบนี้ทุกปี ชาวไร่ก็คงต้องให้รัฐเข้ามาช่วยในลักษณะของปัจจัยการผลิตเช่นนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยปีนี้รัฐบาลได้นำเงินจากงบประมาณช่วยค่าปัจจัยการผลิต 50 บาท/ตัน+เงินจากกองทุนอ้อยอีก 70 บาท/ตัน รวมเป็น 120 บาท/ตัน


นายสุครีพ บุญชุ่ม นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จ.สุโขทัย กล่าวว่า กลุ่มชาวไร่ยาสูบก็ได้รับความเดือดร้อนจากการลด “โควตา” รับซื้อใบยาของทางโรงงานยาสูบ โดยแต่ละรายถูกลดโควตาลงไปถึงราว 50% และร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. …(บัตรทอง) เรียกเก็บเงินสมทบจากบุหรี่ 10 สตางค์/มวนเข้ามาอีก “ถ้าเรื่องราคาใบยา (เบอร์เลย์) จริง ๆ เราพออยู่กันได้ที่ 71 บาท/กก. แต่ผลกระทบจริงก็คือ การถูกตัดโควตา ทางสมาคมจึงยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการ สศค.ให้ช่วยทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้”