เกษตรตะวันออกเซ่นพิษไวรัสโคโรน่า ล้งขาดทุนยับ-ฉีกสัญญาเหมายกสวนทุเรียน-ลำไย

ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกกระอักเลือด ล้งส่งออกฉีกสัญญาเหมาสวนทุเรียนเพียบ หลังเชื้อไวรัสโคโรน่าระบาดหนักในจีน ผู้นำเข้าจีนหยุดรับซื้อ ปลายทางไม่มีคนซื้อ ด้านทูตเกษตรจีนเผยผลสำรวจผู้ประกอบการในปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้-กว่างโจว เปิดตลาดปกติ แต่นำเข้าผลไม้ไทยลดลง เหตุขายไม่ดี เน่าเสียหาย คนจีนซื้อสินค้าพื้นฐานมากกว่าผลไม้

นายธานัท ประสิ่งชอบ ประธานกลุ่มคุณภาพส่งออก 4.0 อ.สอยดาว จ.จันทบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่เชื้อโรคไวรัสโคโรน่าระบาดในหลายเมืองของจีน ล้งหยุดซื้อลำไยส่งออกไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เพราะตลาดปลายทางไม่มีคนซื้อ ขายช้า ขายยาก และถูกกดราคา ถ้าภายใน 15 วัน ตลาดยังไม่คลี่คลาย ล้งยังไม่รับซื้อจะเกิดผลกระทบกับราคาลำไย จากปกติก่อนตรุษจีนราคา 30-35 บาท/กก. และคาดการณ์ว่าเมษายนช่วงเช็งเม้งราคาจะสูงถึง 40-50 บาท แต่ตอนนี้ ราคากลับรูดลงมา 16-20 บาท/กก.

นายอเนก ธรรมสุทธิ์ ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสอยดาว จำกัด จ.จันทบุรี กล่าวว่า ชาวสวนต้องเผชิญกับราคาลำไยร่วงต่ำมากจากช่วงตรุษจีน 30-40 บาท/กก. ล้งบางรายทำสัญญาซื้อไว้ 32 บาท ขอลดราคาลงเหลือเพียง 18 บาท ทำให้เงินค่าเหมาลำไยหายไปถึง 300,000 บาท แม้มีการทำสัญญาฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ฟ้อง เพราะค่าใช้จ่ายทนาย 20,000 บาท และต้องใช้ระเวลาตัดสินคดีอีก 5 เดือน ทำให้ล้งกล้าฉีกสัญญากันจำนวนมาก

นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าอย่างใกล้ชิด เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ในช่วงนี้ โดยเฉพาะลำไยปีนี้คาดว่ามีประมาณ 211,900 ตัน แต่ผลผลิตเหลือน้อยลงแล้วประมาณ 20% ส่วนทุเรียน พยากรณ์เบื้องต้นประมาณ 400,000 ตัน เป็นปริมาณใกล้เคียงกับปี 2562 แต่ต้องรอประเมินเดือนกุมภาพันธ์ที่ติดผลอีกครั้ง แต่คาดว่าจีนจะแก้ไขสถานการณ์ผ่านพ้นไปได้

ล้งหวั่นห้องเย็นไม่พอแช่แข็ง

แหล่งข่าวจากโรงคัดบรรจุส่งออก (ล้ง) ขนุน ทุเรียน มะพร้าวอ่อน จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้แต่เมืองกว่างโจว ตลาดเจียงหนาน ตลาดผลไม้ใหญ่ของไทย แต่ผู้คนไม่ออกจากบ้าน หรือซื้ออาหาร รถผลไม้ที่เคยขายหมดภายในวันเดียวต้องจอดรอลูกค้านาน ทำให้ขนุนที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์มูลค่า 500,000 บาท เน่าเสียต้องทิ้ง ส่วนทุเรียน มะพร้าวอ่อนต้องขายนานและขายขาดทุน สร้างผลกระทบต่อการค้าผลไม้ไทยไปจีนมาก ล้งในไทยเกือบทั้งหมดหยุดการซื้อและส่งออก เพราะไม่มีตลาดจำหน่าย ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ทุเรียนภาคตะวันออกจะออกมาก ยังไม่กล้าซื้อไว้ล่วงหน้าอีก เพราะของเดิมที่เหมาไว้ราคา 150 บาท/กก. และวางมัดจำรวม 10 ล้านบาทยังไม่มีตลาดระบาย หากสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย เดือนมีนาคมผลผลิตออกมาก จะมีผลกระทบกับราคาน่าจะไม่เกิน 60-80 บาท/กก. เบื้องต้นเตรียมนำไปกระจายตลาดในประเทศ หรือแช่แข็ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าปริมาณห้องเย็นจะพอหรือไม่ และทุเรียนแช่แข็งอาจแข่งกับเวียดนามที่ราคาถูกกว่าไม่ได้

ทูตเกษตรชี้ผลไม้ไทยกระทบ

รายงานข่าวจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าและผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทย ลงวันที่ 30 มกราคม 2563 ว่า ด่านศุลกากรที่นำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญจากไทยบางพื้นที่ปิดเนื่องในวันหยุดตรุษจีนและอาจพิจารณาหยุดต่อเนื่องตามสถานการณ์การระบาด และมาตรการของรัฐบาลท้องถิ่น

โดยข้อมูล 7 ด่านสำคัญ ได้แก่ 1.ด่านโหยวอี้กวน 2.ด่านอื่น ๆ ภายใต้ศุลกากรหนานหนิง 3.ด่านโม่ฮาน 4.ด่านสนามบินไป๋หยุนกว่างโจว 5.ด่านภายใต้การดูแลของศุลกากรเสิ่นเจิ้น 6.ด่านศุลกากรสนามบิน และเขตท่าเรือเซี่ยงไฮ้ 7.ด่านท่าเรือ สนามบิน (ดูตาราง) ส่วนใหญ่ศุลกากรมีการทำงานปกติ เป็นการหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน และกลับมาทำงานแล้ว แต่บางด่านขยายวันหยุดเพื่อป้องกันการระบาด ซึ่งช่วงนี้การส่งออกผลไม้ไทยผ่านเส้นทางบกอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้น เช่น ด่านโหยวอี้กวน เขตกว่างสีฯ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการผลไม้พิจารณาเส้นทางขนส่งทางบกอื่น เช่น ด่านโม่ฮาน คุนหมิง หรือทางเรือ เพื่อขนส่งผลไม้เข้าสู่จีนได้

สถานการณ์ความต้องการสินค้าเกษตรไทยในภาพรวม จากการสำรวจข้อมูลจากผู้ประกอบการในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว พบว่าตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนานยังเปิดทำการปกติ มีผู้นำเข้าสินค้ามาขาย แต่ปริมาณลดน้อยลง มีคนซื้อน้อยและเงียบมาก เนื่องจากประชาชนหวาดกลัวโรคระบาด ทำให้ระบายสินค้าได้ช้าและตกค้างอยู่ในตลาด จากการสอบถามผู้นำเข้าทุเรียนและขนุนจากไทย พบว่าไม่ได้นำเข้าผลไม้จากด่านโหยวอี้กวน เนื่องจากด่านปิดทำการ โดยเปลี่ยนเป็นการนำเข้าที่คุนหมิงแทน ช่วงนี้สินค้าขายไม่ดีและได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

ตลาดค้าส่งผลไม้ในนครเซี่ยงไฮ้ (ตลาดเจียซิง ตลาดหลงอู่ ตลาดห้วยจ่าน และตลาดซ่านหนงพี) พบว่า ตลาดค้าส่งผลไม้ทั้งหมดเปิดปกติ แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดตรุษจีน ตลาดบางแห่งอาจจะเปิดและปิดเร็วกว่าปกติ และมีร้านค้าเปิดน้อยกว่าปกติ เนื่องจากร้านค้าหยุดช่วงตรุษจีน ผู้นำเข้าผลไม้ไทยรายใหญ่ของตลาดซ่านหนงพีให้ข้อมูลว่า ผู้นำเข้ายังเปิดร้านค้าและจำหน่ายผลไม้นำเข้าตามปกติ

จีนซื้อสินค้าหลักมากกว่าผลไม้

การค้าออนไลน์พบว่าร้านค้าผลไม้ online ในเซี่ยงไฮ้เปิดให้บริการตามปกติ แต่เลื่อนการส่งสินค้าออกไป ด้านซูเปอร์มาร์เก็ต ณ นครเซี่ยงไฮ้ เปิดบริการปกติ ขณะที่ตลาดสดในกรุงปักกิ่งปิดบริการตั้งแต่ 23-31 ม.ค. แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดให้บริการปกติ ส่วนตลาดค้าส่งผลไม้ซินฟาตี้ ณ กรุงปักกิ่ง ได้รับผลกระทบอย่างมาก ยอดการนำเข้าผลไม้ไทยลดลง 50-60% และจากประเทศอื่นลดลง รวมทั้งผู้บริโภคหันมาจับจ่ายสินค้าพื้นฐานที่มีความจำเป็นมากกว่าผลไม้


อย่างไรก็ตาม การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวจีนทั้งประเทศ คนจีนส่วนใหญ่เลือกอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ชุมชน เช่น ตลาด ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้การจับจ่ายลดลง กำลังซื้อหดตัวอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ยากต่อการควบคุม หรือมีผู้ติดเชื้อในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลต่อการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการติดตามความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของระยะเวลาการหยุดยั้งการแพร่ระบาดในจีน