3จังหวัดใต้วิตก “ทุเรียน” ออก ส.ค.ไม่มีตลาดรองรับ

3 จังหวัดชายแดนใต้วิตกผลไม้ออกมากเดือนสิงหาคมหวั่นไม่มีตลาดรองรับ เร่งประชุมเตรียมการรับมือ หาตลาดใหม่รองรับ ด้านทูตเกษตรจีนเผยสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในจีนแนวโน้มดีขึ้น หลายมณฑลประกาศลดระดับสถานการณ์ฉุกเฉินลง แต่ยังคาดการณ์ปริมาณความต้องการยาก ชี้เฉพาะตัวเลขส่งออกผลไม้ 2 เดือน ม.ค.-ก.พ. 63 ลดฮวบถึง 59% หวั่นเดือน เม.ย.ฤดูผลไม้ออกมาต้องเร่งหาตลาดระบาย กระตุ้นการบริโภคภายในไทยแทน พร้อมแนะนำแปรรูป

นายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการแก้ไขปัญหาผลผลิตไม้ผล ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2563 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไม้ผล ซึ่งภาคใต้ผลผลิตจะออกประมาณเดือนสิงหาคม 2563 ยกเว้นลองกองที่ให้ผลในเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อ เกรงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจในพื้นที่เงียบ นักท่องเที่ยวลดลงมาก ทั้ง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เบตง จ.ยะลา

สำหรับตัวเลขไม้ผลในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2562 มีการปลูกทุเรียนกว่า 120,000 ไร่ รวมผลผลิตกว่า 69,000 ตัน และมีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้น เพราะมีแรงจูงใจด้านราคาสินค้า ส่วนการปลูกมังคุดมีเนื้อที่ประมาณ 34,000 ไร่ ให้ผลผลิตกว่า 18,000 ตัน ส่วนเงาะให้ผลผลิตกว่า 15,000 ตัน และลองกอง ให้ผลผลิตกว่า 30,000 ตัน แต่เงาะและลองกองมีแนวโน้มการปลูกลดลง เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าทุเรียน จึงไม่มีแรงจูงใจในการเพาะปลูก

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในที่ประชุมต่างเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาว่า ควรพิจารณาดูวิธีการแก้ไขปัญหาของจังหวัดภาคตะวันออกของประเทศก่อนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เนื่องจากไม้ผลทางตะวันออกให้ผลผลิตก่อนภาคใต้ หากส่งจีนไม่ได้ ต้องหาทางกระจายตลาดภายในประเทศ และส่งออกประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ในระยะยาวต้องหาตลาดส่งออกใหม่อย่างจริงจัง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการควบคุมราคาไม้ผลบางชนิดไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยภาครัฐเป็นผู้รับซื้อและส่งออกสินค้าให้ได้ ถึงจะสามารถควบคุมราคาได้ อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีการเสนอให้มีการสร้างแบรนด์ผลไม้ชายแดนใต้ให้ขึ้นชื่อ เพื่อเปิดช่องทางการจำหน่ายไม้ผลให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้จัดทำรายงานฉบับที่ 3 ประจำเดือนมีนาคม 2563 ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยระบุถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อการนำเข้าผลไม้ไทย พอสรุปได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันให้ความเห็นว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าผลไม้ไทย เนื่องจาก 1.ผลไม้ไทยมีราคาสูง ทำให้คนจีนไม่นิยมบริโภค ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าจำเป็น และเลือกซื้อผลไม้ท้องถิ่นที่ราคาไม่แพง

2.ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ผลไม้ไทยที่ส่งออกมาจีนช่วงเดือนมกราคม ได้แก่ ลำไย มะพร้าวอ่อน ทุเรียน มะม่วง ส้มโอ ขนุน มังคุด มะขามหวาน กล้วย ชมพู่ สับปะรด (แบบปอกเปลือก) มีปริมาณรวม 84,200 ตัน น้อยกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการส่งออก 98,500 ตัน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีปริมาณ 49,800 ตัน น้อยกว่าเดือนเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีการส่งออก 121,500 ตัน หรือลดลง 59% เนื่องจากผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกมาในที่สาธารณะ รวมทั้งปัญหาระบบโลจิสติกส์ภายใน ทำให้ผู้นำเข้าต่างชะลอการสั่งซื้อ และรอดูสถานการณ์การระบาด 3.การระงับเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยที่ขนส่งทางอากาศ

ผลกระทบระยะยาว แม้สถานการณ์การระบาดในจีนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลาย ๆ มณฑลได้ประกาศลดระดับภาวะฉุกเฉิน แต่สถานการณ์ยังไม่ปกติ ตลาดจีนจึงอาจมีความไม่แน่นอนในปริมาณความต้องการบริโภคสินค้า ดังนั้น ผลไม้ที่จะมีการส่งออกมามากในช่วงเดือนเมษายน เช่น ทุเรียน มังคุด อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากผู้นำเข้ายังคงมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ในรายงานได้มีข้อเสนอแนะแนวทาง/มาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์การนำเข้าผลไม้จากไทย 1.ลดการพึ่งพาตลาดจีนและหาตลาดสินค้าเกษตรใหม่เพิ่มเติม รวมถึงกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 2.ส่งเสริมผลไม้แปรรูป แช่เย็น แช่แข็ง 3.หน่วยงานที่มีงบประมาณหรือแผนงานประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรในต่างประเทศ และหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการควรปรับแผนเตรียมการรับมือสถานการณ์โรคระบาด และเมื่อภาวะโรคสงบ ควรเร่งทำการประชาสัมพันธ์ทำ roadshow ในจีนเพื่อฟื้นฟูตลาดโดยเร็ว 4.ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยควรปรับตัวให้เข้าถึงโอกาสในตลาดสินค้าออนไลน์ และอาจมีตลาดใหม่เกิดขึ้นในจีนที่สนใจนำเข้าสินค้ามาจำหน่าย เช่น สินค้าเกษตรและอาหารอาจมีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้สามารถแบ่งขายในตลาดออนไลน์ และง่ายต่อการขนส่งและกระจายถึงมือผู้รับรายย่อยได้ง่าย 5.ควรติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด 6.ควรสร้างกลยุทธ์การส่งออกผลไม้ของไทยเพื่อสร้างการแข่งขันอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น