โรงงานระยองวิกฤตขาดน้ำ ขอส่งน้ำคลองวังโตนดช่วย

หอการค้าระยองร้องเหลือน้ำใช้แค่ต้น พ.ค. หลัง MOU ขอแบ่งน้ำจากคลองวังโตนดครบกำหนด วอนกรมชลฯเจรจาขอน้ำอีก 10-15 ล้าน ลบ.ม. สทนช.ปัด บอกยังมีน้ำเหลือใช้ทันฝนตก ส่วนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม EEC ได้อีสท์วอเตอร์ส่งน้ำให้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกกลับมาวิกฤตอีกครั้ง หลังจากที่กรมชลประทานได้ทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เพื่อขอแบ่งปันน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด (ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา) โดยใช้ระบบสูบน้ำผ่านสถานีสูบน้ำคลองวังโตนด ไปลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ในปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งครบระยะเวลาสูบน้ำตามที่ขอไปแล้ว (26 มีนาคม 2563)

ล่าสุดปรากฏ ณ วันที่ 21 เม.ย. 2563 ในภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำใช้การได้เหลือเพียง 189 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13 โดยอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 6 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้เหลือ “ต่ำกว่า” ร้อยละ 50 ได้แก่ เขื่อนนฤบดินทรจินดา 88 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32, เขื่อนขุนด่านปราการชล 37 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 17, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด 25 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6%, อ่างประแสร์ 16 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6%, อ่างบางพระ 13 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12% และอ่างหนองปลาไหล 10 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7% ท่ามกลางความกังวลกันว่า ฤดูฝนปีนี้มีแนวโน้มจะล่าออกไปจากเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างที่เหลืออยู่ตกอยู่ในขั้นวิกฤต

ระยองน้ำเหลือใช้แค่ต้น พ.ค

นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดการน้ำ ครั้งที่ 5/2563 (โครงการชลประทานระยอง) เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ใน 4 อ่างหลัก คือ ดอกกราย-หนองปลาไหล-คลองใหญ่-ประแสร์ คาดว่าจะเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ถึงวันที่ 6 พฤษภาคมนี้เท่านั้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ชลประทานระยองประสานไปยังกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อส่งตัวแทนไปเจรจากับคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาคลองวังโตนด เพื่อขอแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จังหวัดจันทบุรี มาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง อีกครั้งในปริมาณประมาณ 10-15 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงสัปดาห์หน้า

ขณะที่จังหวัดระยองมีความต้องการใช้น้ำวันละ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันทางโรงงานอุตสาหกรรมเดือดร้อนกันหนัก หากอนาคตโครงการ EEC เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว ความต้องการใช้น้ำต่อวันจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัญหาจะยิ่งหนักกว่านี้ เพราะแหล่งน้ำหลักของระยองจะรอฝนตกเพียงอย่างเดียว

“ผมมีแนวคิดว่า เราควรตอบแทนชาวจันทบุรี ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นพวกโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำหล่อเย็นปริมาณมาก โรงงานปิโตรเคมีทั้งหลาย และบริษัทอีสท์วอเตอร์ ที่สูบน้ำไปขายให้โรงงานอุตสาหกรรม ควรจัดสรรเงินไปทำ CSR สนับสนุนการทำโครงการวางท่อผันน้ำให้หมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรี ที่อยู่ห่างไกลให้มีน้ำใช้เพียงพอก่อน น้ำที่เหลือจะได้ผันมาช่วยชาวระยองและชลบุรีได้ โดยคนจันทบุรีไม่เดือดร้อน”

ด้านนายสงวน แสงวงศ์กิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดระยองน่าเป็นห่วงมาก ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ยังเป็นระดับที่วิกฤต ประกอบกับในภาคอุตสาหกรรมมีการดึงน้ำไปให้จังหวัดชลบุรี อีกประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมน้ำใช้ทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร

เกาะสีชัง-พนัสนิคมแล้งหนัก

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงปริมาณน้ำในจังหวัดชลบุรีเริ่มลดลงมาก คาดว่าจะมีใช้ได้แค่ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ขณะนี้ได้มีการสูบน้ำจากอ่างคลองหลวง เข้าไปอ่างบางพระ ประมาณ 4.7 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำที่เหลือในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 11 แห่ง มีอยู่ 294 ล้านคิว ส่วนน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งมีแหล่งน้ำสาธารณะทั้งจังหวัดเหลือประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ประสบภัยแล้งหนักสุดในจังหวัด คือ เกาะสีชัง กับ อ.พนัสนิคม

สทนช.บอกให้ระยองช่วยตัวเอง

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีการเจรจาขอน้ำจากคณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เพิ่มเติม หลังจากขอมารอบแรกครบ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรไปแล้ว สถานการณ์ขณะนี้ขอความร่วมมือให้แก้ไขใน จ.ระยองเองก่อน รวมทั้งเจรจาเอกชนเพิ่มเติม ประกอบกับกรมฝนหลวงได้ทำการปฏิบัติการจนได้รับน้ำ

“ซึ่งยังเพียงพอ ไม่ต้องขอน้ำอีก”

และบางส่วนมีการดึงน้ำบางปะกงจนถึงสิ้นมิถุนายนยังสามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังได้หารือกับบอร์ด EEC และการนิคมอุตสาหกรรม ให้เร่งรัดศึกษาแนวทางลงทุนในการผันน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด เพื่อเป็นน้ำสำรองในอนาคตสำหรับพื้นที่ EEC โดยก่อนหน้านี้มีนักลงทุนจีนสนใจอาจใช้ 2 แนวทาง คือ PPP กับสัมปทาน

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า ได้จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจาก “บ่อดินเอกชน” เข้ามาเสริมในพื้นที่ชลบุรี และฉะเชิงเทรา พร้อมทั้งเร่งดำเนินการเพื่อซื้อแหล่งน้ำจากเอกชน การเตรียมความพร้อมระบบสูบน้ำสระสำรองที่ดำเนินการแล้ว รวมทั้งโครงการด้านน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่

EEC ต้องลดใช้น้ำ 10%

นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิคมในพื้นที่ จ.ชลบุรี ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งเล็กน้อย เนื่องจากมีจำนวนโรงงานยังไม่เต็มพื้นที่ โดยนิคมซื้อน้ำจากอีสท์วอเตอร์ ซึ่งทางอีสท์วอเตอร์ลดกำลังการผลิตลง บวกกับรัฐบาลมีมาตรการให้โรงงานในนิคมลดการใช้น้ำลง 10% การหาน้ำมาทดแทนส่วนที่หายไปแม้จะไม่มาก แต่จำเป็นที่จะต้องบริหารน้ำให้เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำอยู่ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร จึงลงทุนสร้างระบบพัฒนาน้ำขึ้นมาใหม่เมื่อต้นปี 2563 โดยการนำน้ำเสียกลับมารีไซเคิลเก็บไว้ใช้ทั้งในนิคมและโรงงาน ส่วนนิคมที่ จ.ระยองไม่ได้ซื้อน้ำจากอีสท์วอเตอร์ จึงไม่ได้รับผลกระทบ

แหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะยืนยันว่า ปริมาณน้ำมีเพียงพอตลอดฤดูแล้ง 2563 และเร่งเจรจาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนปริมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต้องขอความร่วมมือลดการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต้องลดการใช้น้ำลง 10% ลดการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าเอกชนโดยให้เดินระบบ stand by หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น