เอกชนชงผู้ว่าฯ ผ่อนคลายเปิดธุรกิจ หวั่นลากยาวเศรษฐกิจจังหวัดพัง-ลดคนตกงาน

จี้ปลดล็อก - องค์กรภาคเอกชนในหลายจังหวัดทั้งหอการค้าฯและสภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ต่างร้องเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผ่อนคลายมาตการปิดสถานบริกต่าง ๆ เพื่อให้สภาพคล่องในจังหวัดหมุนเวียน

หลายจังหวัดชงผู้ว่าฯ ผ่อนปรนมาตรการให้เปิดสถานบริการ ห้างสรรพสินค้า-ร้านอาหาร-โรงแรม หลังครบกำหนด 30 เม.ย. 63 หวั่นเศรษฐกิจทั้งระบบพัง หากหยุดกิจการนานบางธุรกิจจะฟื้นกลับไม่ไหว ลดจำนวนคนตกงาน เงินจะได้หมุนเวียนในระบบ พร้อมให้วางมาตรฐานสาธารณสุข social distancing ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

หลังจากรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดรับลูกประกาศ “สั่งปิด” การเดินทางคมนาคมติดต่อของแต่ละจังหวัด ยกเว้นกรณีจำเป็นทางการแพทย์ ป่วยไข้ การขนส่งสินค้า พร้อมการออกประกาศ “สั่งปิด” สถานที่เสี่ยงแพร่กระจายโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสถานบริการ สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านเสริมสวย ร้านอาหารให้สั่งกลับบ้านได้ แต่ห้ามนั่งในร้าน รวมถึงกำหนดเวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมันจากที่เคยเปิด 24 ชม. เป็นเวลา 1 เดือน และทุกจังหวัดจะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2563 นั้น ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจความเคลื่อนไหวของหลายจังหวัดใหญ่ ๆ ปรากฏว่าล่าสุดมีภาคเอกชนหลายจังหวัดอยากให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการให้สามารถเปิดให้บริการสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามปกติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชะงักงันให้เดินหน้าไปได้ หลังจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลดจำนวนการแพร่กระจายลงแล้ว

เชียงใหม่ชงผ่อนกฎหวั่น ศก.พัง

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, ห้างร้านที่มีร้านค้าย่อยภายในอาคารที่จะผ่อนปรนมาตรการ ควรเป็นร้านที่มีบริเวณชัดเจน สามารถห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร, 1 คนต่อ 1 ตารางเมตร เป็นร้านที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ร้านโทรศัพท์มือถือ, เครื่องใช้ไฟฟ้า ในลักษณะค่อย ๆ ขยายการเปิดร้าน แบบค่อยเป็นค่อยไป ทุกสัปดาห์ ขณะที่โซนอาหารให้จัดที่นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร หรือเปิดเฉพาะซื้อกลับบ้าน ซึ่งต้องสวมหน้ากากและมีระบบคัดกรอง ต้องมีเจลล้างมือก่อนเข้าห้าง ทำความสะอาดสุขาทุกชั่วโมง และผู้ใช้บริการต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา

ทั้งนี้ การค่อย ๆ เปิดทีละโซนเช่นนี้ และมีมาตรฐานการควบคุมที่เข้มงวด จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการที่โซนที่ได้รับการผ่อนผันจะค่อย ๆ ฟื้นตัว คนจะเริ่มมีงานทำและเริ่มมีรายได้ เป็นการค่อย ๆ เพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจเชียงใหม่ ซึ่งหากมีการควบคุมและเข้มงวดด้านมาตรฐานการป้องกันที่ดี โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าห้างเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อจะสามารถควบคุมความหนาแน่นของคนที่จะเข้าห้างได้ หรือการจำกัดจำนวนผู้ใช้ลิฟต์ การใช้บันไดเลื่อน การจัดที่นั่งในร้านอาหารให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การจัดช่องทางการจ่ายเงิน (พิเศษ) ให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ ตลอดจนการสต๊อกสินค้าให้พร้อมทั้งการสั่งซื้อ offline และ online เป็นต้น เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ อาจจะรวมถึงร้านวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งวัสดุก่อสร้างเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร การผ่อนผันให้เปิดจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดจำนวนคนตกงาน

นายวโรดมกล่าวต่อว่า ในส่วนของร้านอาหารได้เสนอให้มีการผ่อนปรนมาตรการเช่นกัน โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาด เช่น การเว้นระยะห่างของโต๊ะ เก้าอี้, ร้านที่เป็นห้องแอร์จะต้องมีระบบอากาศถ่ายเท มีมาตรการตรวจสอบวัดอุณหภูมิ, มีอุปกรณ์หน้ากากอนามัยป้องกันผู้มาใช้บริการ มีจุดบริการดีลิเวอรี่ ซื้อกลับบ้าน การจัดระเบียบที่นั่งให้พนักงานและลูกค้าที่มาใช้บริการให้มีระยะห่างตามที่สาธารณสุขกำหนด พร้อมปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับร้านอาหาร open air เปิดโล่งอากาศปลอดโปร่ง ต้องกำหนดความเหมาะสมแนวระยะห่าง, จำนวนที่นั่ง, จัดให้มีอุปกรณ์เสริมด้านความสะอาดสำหรับภาชนะ และลูกค้าที่มาใช้บริการ

ทั้งนี้ ผลกระทบของยอดขายร้านอาหารแทบทุกร้านในขณะนี้ตกลงไปถึง 60-80% ผู้ประกอบการอยู่ในภาวะประคับประคองธุรกิจตัวเองเอาไว้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงมีเหมือนเดิม เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่า ค่าประกัน ค่าการตลาด เป็นต้น หากกิจการปิดนานมากกว่านี้ทุกธุรกิจจะไม่สามารถอยู่ได้ ดังนั้น การผ่อนปรนมาตรการจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และประชาชนที่ค้าขายได้เริ่มมีรายได้ ลดจำนวนคนตกงาน (พนักงานเสิร์ฟ, กุ๊ก, แคชเชียร์), เงินจะเริ่มหมุนเวียนในตลาด ซึ่งหากมีการควบคุมมาตรการอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานของสาธารณสุข และ social distancing จะสามารถลดความเสี่ยงได้มาก

ตราดดันแผนปลดล็อกธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ตราดในฐานะที่ยังเป็นจังหวัดปลอดโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 องค์กรภาคเอกชนประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าจังหวัดตราด สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด และสมาคมโรงแรมและรีสอร์ตจังหวัดตราด ได้ประชุมร่วมกับนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธาน โดยองค์กรภาคเอกชนขอทราบกำหนดการปลดล็อกดาวน์จังหวัด สถานที่เสี่ยงที่มีคำสั่งปิดให้บริการไป รวมถึงมาตรการเตรียมแผนรองรับในการเปิดให้บริการ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่แจ้งว่าจะนำเรื่องไปเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ

ทั้งนี้ ทางภาคเอกชนเห็นว่า หากไม่มีการเตรียมตัวอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งจังหวัดตราดยังไม่มีแผนหรือกำหนดการที่จะปลดล็อกจังหวัดตราดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศของจังหวัดตราดที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2563 เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนเมษายนว่าจะปลดล็อกดาวน์ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตราด

นายสุขสันต์ ก่อสง่าลักษณ์ นายกสมาคมโรงแรมและรีสอร์ตจังหวัดตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของโรงแรมต้องการทราบความชัดเจนของธุรกิจที่จะเปิดก่อนหลัง กำหนดเวลา มาตรการที่ชัดเจนของภาครัฐ ส่วนของธุรกิจโรงแรมมีอะไรเปิดได้ เปิดไม่ได้ และเปิดแล้วมีมาตรการอย่างไร เพราะโรงแรมต้องเตรียมการคงไม่ได้เปิดทุกแห่งแล้วแต่ความพร้อม หากเปิดต้องวางแผนทางด้านการทำตลาดเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาหรือไม่ เพราะเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเป็นช่วงโลว์ซีซั่น โดยเฉพาะเกาะช้างนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ ขณะที่สมาคมเองและสมาชิกแต่ละโรงแรมมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดอยู่แล้วที่จะให้พนักงานและนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติ เช่น การสวมหน้ากาก การรักษาระยะห่างทางสังคม การฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรค การทำความสะอาด แต่ในภาพรวมของจังหวัดตราดยังต้องรณรงค์การป้องกันอย่างเข้มงวดเพื่อไม่เป็นการเสี่ยง

นางวิยะดา ซวง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราดกล่าวว่า ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเศรษฐกิจจังหวัดตราดเสียหายจากการท่องเที่ยวร่วม 10,000 ล้านบาท ภาคเอกชนเห็นว่าต้องฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้ภาคเกษตรกรรมทำรายได้มูลค่าร่วม 10,000 ล้านบาทเช่นกัน ได้เตรียมการรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร นำแรงงานภาคท่องเที่ยวไปทดแทน หากเปิดการท่องเที่ยวแรงงานต้องกลับมา จังหวัดตราดควรมีมาตรการเชิงรุกเพื่อรักษาความปลอดภัยไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 การฟื้นฟูการท่องเที่ยวควรทำโปรโมชั่นไทยเที่ยวตราด หรือตราดเที่ยวตราด หากจังหวัดตราดเตรียมแผนรองรับการปลดล็อกดาวน์ในลักษณะการผ่อนปรนไม่ได้เปิดอิสระโดยไม่ควบคุม เพื่อรักษาบาลานซ์ การเป็นจังหวัดปลอดเชื้อโควิด-19 ให้เป็น 0 เพื่อให้สังคม ชุมชน เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปด้วยกัน

“โคราช-ชลบุรี” ถกรับมือเปิดบริการ

ขณะที่ภาคเอกชนหลายจังหวัดพยายามผลักดันให้ทางจังหวัดผ่อนคลายมาตรการสั่งปิดกิจการ หลายจังหวัดมีการจัดประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมวางแผนรับมือก่อนเปิดบริการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด-19

ดังที่ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อนุญาตให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครศรีฯ เปิดบริการได้เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2563 ได้เกิดคำถามขึ้นในวงการภาคเอกชนหลายคนว่า เหตุใดจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงกล้าตัดสินใจเปิดให้บริการนั้น

นายศิริพัฒน์ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยมีเงื่อนไขที่รัดกุม ซึ่งทางห้างได้มีการปฏิบัติตามระเบียบทุกอย่าง ด้วยการเน้นย้ำแนวคิด “เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ” เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 11.00-20.00 น.ทุกวัน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกขึ้น และยังคงไว้ซึ่งจุดบริการ take away หรือ food delivery pick-up counter สำหรับร้านอาหาร ณ พื้นที่บริเวณชั้น 1 โซนซูเปอร์มาร์เก็ตให้บริการลูกค้าโดยการจัดระเบียบ social distancing ให้พนักงานและลูกค้าทุกท่านที่เข้ามาใช้บริการให้มีระยะห่างตามที่สาธารณสุขกำหนด นอกจากนี้ ร้านค้าและพนักงานบริการ delivery ทุกคนต้องได้รับการตรวจคัดกรองวัดไข้ สวมใส่หน้ากากป้องกัน และใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนเข้าพื้นที่ห้างสรรพสินค้า

ด้าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เป็นระยะเวลาติดต่อกันมา 14 วันแล้ว และขณะนี้ทางจังหวัดกำลังหารือถึงมาตรการการผ่อนปรนการปิดสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ การเปิดห้างสรรพสินค้า ซึ่งอาจจะต้องจำกัดจำนวนคน และการใช้แอปพลิเคชั่นในการตรวจนับคนเข้าไปใช้บริการ รวมไปถึงการเปิดร้านเสริมสวยหรือร้านอาหารที่เป็นลักษณะร้านที่เปิดโล่ง ซึ่งในส่วนของมาตรการผ่อนปรนนี้ขอให้พี่น้องประชาชนจังหวัดนครราชสีมาอดทนรอคำสั่งมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) (ศบค.)

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดของโรคซ้ำ

อย่างไรก็ตาม มาตรการผ่อนปรนที่ทางจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม คือ ในส่วนของตลาดนัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้กับประชาชนทั้ง 32 อำเภอ โดยให้แต่ละอำเภอจัดเตรียมพื้นที่จำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้กับประชาชน โดยใช้หอประชุมอำเภอ หรือบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้นำร่องแล้วที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ขอให้อำเภอต่าง ๆ ในพื้นที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

ส่วน นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า สำหรับการปลดล็อกธุรกิจในจังหวัดชลบุรีนั้น ต้องรอดูภาพรวมของทั้งประเทศและรอฟังประกาศจากรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ทั้งด้านมาตรการและเงื่อนไขการปฏิบัติ ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการผ่อนคลายธุรกิจใดบ้างและจะแบ่งโซนอย่างไร อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดจะมีการประชุมกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหารือว่าหากมีคำสั่งให้เปิดร้านได้ตามปกติ จะมีวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไร

รวมถึงสอบถามข้อมูลเพื่อที่จะทำมาตรการเพิ่มเติม ปัจจุบันทางจังหวัดยังคงใช้มาตรการเดิมอย่างเข้มงวด เช่น social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม การคัดกรองประชาชนที่เดินทางตามจุดตรวจ ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มไม่มีแล้ว มีเพียงตัวเลขสะสมที่ค่อนข้างมาก