ครม.สัญจร : 6 จังหวัดอันดามันชง ภูเก็ต “เมดิคอลฮับ-ยุทธศาสตร์มาริไทม์”

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเตรียมวาระ 6 ด้าน ชง ครม.สัญจรภูเก็ตฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวหลายแสนล้านให้กลับสู่ความยั่งยืน ทั้งแผนเร่งด่วน ขอพักชำระเงินต้น 3 ปี ลดดอกเบี้ยเหลือ 2% ดันโครงการเมดิคอลพลาซ่า-ตั้งโรงเรียนแพทย์ในภูเก็ต พลิกโฉมเศรษฐกิจฝั่งอันดามันสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก พร้อมขับเคลื่อน Thailand Green Rubber ให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางยางพาราโลก” ของบฯศึกษาแผนแม่บทยุทธศาสตร์มาริไทม์ ฮับ รับธุรกิจเรือสำราญทั่วโลกเติบโต

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ทางภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ได้เตรียมจัดทำข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเสนอทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด โดยความช่วยเหลือระยะสั้นเป็นเรื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก

ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดกลุ่มอันดามันได้ โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ พังงา ซึ่งพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก จึงอยากเสนอทางแก้ปัญหาโดยขอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเหลือ 2% สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี เป็นวิธีที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจประคองตัวไปได้ และไม่ถูกต่างชาติมากว้านซื้อกิจการไปทั้งหมด

“ผลกระทบโควิดเกิดทั้งประเทศ แต่ความหนักเบาแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันธุรกิจท่องเที่ยวแม้จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่มีค่าใช้จ่ายต้องเลี้ยงพนักงาน ค่าบำรุงรักษาอาคารโรงแรม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ปีที่แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวเฉพาะภูเก็ต 4 แสนล้านบาท กระบี่ 2 แสนล้านบาท รวมกว่า 6 แสนล้านบาท ตอนนี้เหลือไม่ถึง 10% ค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนอาจลดลงในช่วงที่รัฐบาลช่วยเหลือ 3-4 เดือน แต่กว่าธุรกิจจะฟื้นถือเป็นมหากาพย์อีกยาว 3-4 ปีไม่รู้จะฟื้นหรือเปล่า และกว่าการท่องเที่ยวจะฟื้น อาจจะไม่เหลือธุรกิจในมือ

คนไทยแล้ว อนาคตเราจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วง ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยอาจถูกต่างชาติกว้านซื้อไปหมด เหมือนสถาบันการเงินตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง” นายสลิลกล่าวและว่า

นอกจากนี้ เตรียมเสนอโครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เพื่อให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเป็น medical hub ธุรกิจเรื่องสุขภาพมาช่วยให้การท่องเที่ยวในกลุ่มอันดามันมีความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่จะมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยระยะยาวขึ้น พร้อมดูแลสุขภาพควบคู่กันไป ส่วนแผนระยะยาว มีการเสนอเรื่องแผนยุทธศาสตร์มาริไทม์ ฮับ จะต้องแก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรคไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ รวมถึงด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการผลักดันให้มีการศึกษาเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ ทางบกซึ่งมีทั้งระบบราง และถนน ยกระดับท่องเที่ยวชุมชนให้ดีขึ้น

นายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ทางกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันส่วนใหญ่จะนำเสนอความเดือดร้อนของกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นหลัก เพราะกลุ่มอันดามันพึ่งพารายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักกว่า 70% หลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินกิจการไปได้ โรงแรมในภูเก็ตตอนนี้เปิดไม่ถึง 30% แต่ละธุรกิจมีภาระหนี้สินกับสถาบันการเงิน จึงเสนอขอพักชำระเงินต้น 3 ปี ลดดอกเบี้ยเหลือ 2% รวมถึงขอขยายมาตรการเยียวยาพนักงานในระบบประกันสังคม 62% ซึ่งครบกำหนดสิ้นเดือนตุลาคมนี้

รวมถึงภูเก็ตอยากเสนอให้มีการศึกษาเรื่องรูปแบบการปกครองพิเศษในอนาคต การพัฒนาธุรกิจมารีน่าฮับ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอันดามันมากขึ้นแข่งขันกับต่างชาติได้และการเสนอให้กลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันเป็น medical hub

นอกจากนี้ ด้านการเกษตร อยากให้รัฐบาลสนับสนุนในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Green Rubber ให้ไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก โดยให้สวนยางพาราไทยได้รับการรับรองการจัดการสวนป่าแบบยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราเป็นป่าปลูก ไม่บุกรุกทำลายป่า ภายใต้มาตรฐานชาติและมาตรฐานสากล PEFCและให้นำร่องยางพาราภาคใต้ 9 ล้านไร่ ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 14061 และ มอก.2861 เทียบเท่าสากล PEFC ในระยะเวลา 5 ปี

นางสาวเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อเสนอหลักที่จะนำเสนอ ครม.สัญจรภูเก็ตครั้งนี้ รวมกลุ่มอันดามันมีประมาณ 38 โครงการ แต่มีโครงการหลัก อาทิ โครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก และโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งปกติการสอนของคณะแพทยศาสตร์ทั้งหมดจะอยู่ที่ มอ.สงขลา ต่อไป มอ.วิทยาเขตภูเก็ตจะเปิดโรงเรียนแพทย์ เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์สนับสนุนโครงการ Medical Plaza โดยตรง ทั้งนี้ หาก 2 โครงการเกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ภูเก็ตเปลี่ยนโฉมจากเมืองท่องเที่ยวปกติ กลายเป็นท่องเที่ยวแบบคุณภาพ ไม่ใช่มาเที่ยวสนุกอย่างเดียว แต่เพื่อมาดูแลสุขภาพ จะทำให้เมืองไทยประกาศความเป็น medical hub เป็นรูปธรรมที่ภูเก็ต และจะเป็นประโยชน์กับคนในกลุ่มอันดามันทั้งหมด ซึ่งปกติจะไปรักษาตัวที่สงขลาปีละเป็นหมื่นคน

รวมถึงเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมมารีน่า โดยเฉพาะการขอขยายเวลาให้เรือสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ 3 ปี จากปัจจุบันอยู่ได้ 6 เดือน เป็นต้น

รายงานข่าวจากกลุ่มอันดามันเปิดเผยว่าข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งด่วน เช่น ขอให้ออกมาตรการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19, การยกเว้นค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานของนักท่องเที่ยวถึงสิ้นปี และให้มีการจัดเก็บรายได้อุทยาน 15% เข้ากองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อม, ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเหลือ 2% สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัด 3 ปี, ขอให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, การตั้งกองทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขอให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมมารีน่า โดยขยายเวลาให้เรืออยู่ในประเทศไทยได้ 3 ปี จากปัจจุบันอยู่ได้ 6 เดือนและอนุญาตให้คนประจำเรืออยู่ในประเทศไทยได้เท่ากับเรือ ปัจจุบันอยู่ได้ 30 วัน,ของบประมาณในการจัดโครงการมหกรรมอาหารและกีฬาใน 6 จังหวัด

2.ด้านการท่องเที่ยว เช่น ของบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ และของบประมาณพัฒนาเมืองอัจฉริยะอันดามัน เพื่อความเป็นเมืองน่าอยู่ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

3.ด้านการเกษตร เช่น ขอรับการสนับสนุนด้านนโยบาย Thailand Green Rubber ขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก, ขอสนับสนุนให้มีการทำประมงนอกน่านน้ำ อาทิ เรือเบ็ดราวทูน่าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ, ของบประมาณปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรในสวนยาง-ปาล์มน้ำมัน และของบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จ.กระบี่ เป็นต้น

4.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ขอสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการด้านสาธารณสุขในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รวมถึงของบประมาณในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จ.กระบี่

5.ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ของบประมาณในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ฟื้นฟูพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก

6.ด้านโครงสร้างโครงข่ายคมนาคม ส่วนใหญ่เป็นโครงการเร่งรัด เช่น โครงการก่อสร้างถนนแนวใหม่สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต งบประมาณ 30,000 ล้านบาท, โครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง การขยายถนนสายจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร รวมงบประมาณ 2,250 ล้านบาท เช่น ทางหลวงหมายเลข 4046 ตอนตรัง-ควนกุน ระยะทาง 21.28 กม. งบฯ 800 ล้านบาท, ทางหลวงหมายเลข 419 ควนปริง-บ.ควน ระยะทาง 11.550 กม. งบฯ 550 ล้านบาท, บ.ควน-แยกต้นรัก ระยะทาง 10.870 กม. งบฯ 530 ล้านบาท, แยกต้นรัก-บ.นาขา ระยะทาง 7.576 กม. งบฯ 370 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนน 3 ช่องจราจร บริเวณเขาท่ากะได อ.กะปง จ.พังงา งบฯ 140 ล้านบาท

ขอสนับสนุนด้านนโยบายในการศึกษา แผนแม่บทยุทธศาสตร์มาริไทม์ ฮับ(Maritime Hub) ธุรกิจเรือสำราญทั่วโลกกำลังเติบโต แต่ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดที่ต้องผ่อนคลายปัญหาอุปสรรคในการประกอบกิจการของภาคเอกชน


ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนามารีน่าชุมชน เพื่อยกระดับมาตรฐานท่าเรือชุมชนในอันดามัน เพื่อการพัฒนาขนส่งสินค้าประมงและเกษตร โครงข่ายการคมนาคมทางอากาศ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการเงินชดเชยค่าอสังหาริมทรัพย์จากการเวนคืนที่ดินท่าอากาศยานตรัง งบประมาณ 500 ล้านบาท