“ปาล์มน้ำมัน” ราคาพุ่งกว่า 7 บาทในรอบ 8 ปี

ราคาพุ่ง - ปัญหาความแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตสวนปาล์มน้ำมันภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ให้มีปริมาณลดลง

ปาล์มน้ำมัน “ขาดคอ-ปรับโครงสร้างน้ำมันปาล์มไปผลิตไบโอดีเซล” ราคาขยับในรอบ 8 ปี จาก 3.60-3.80 บาท/กก. ขึ้นไปที่ 7.50 บาท/กก. เหตุปริมาณผลผลิตน้อยหรือขาดคอ ชี้ระวังน้ำมันปาล์มเถื่อนลักลอบเข้าไทย ชี้ “ปาล์มน้ำมัน” ราคาเสถียรอยู่ที่นโยบายรัฐบาล

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า ในกลุ่มมีการปลูกทั้งสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และผลไม้พืชผักอื่น ๆ สำหรับในส่วนปาล์มน้ำมันสถานการณ์ราคาได้ขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในปี 2563

โดยเฉพาะช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้เริ่มขยับขึ้นจาก 3.60-3.80 บาท/กก. มาเป็น 5 บาทกว่า/กก. และขยับขึ้นอีกวันละ 10-20 สตางค์ต่อเนื่องมาถึงปลายเดือนตุลาคม 2563 ราคาเฉลี่ยมาอยู่ที่ 7-7.30-7.50 บาท/กก. ถือว่าปาล์มน้ำมันได้ราคาดีในรอบ 8 ปี เนื่องจากช่วงปลายปีของทุกปีตั้งแต่เดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ปาล์มน้ำมันเกิดภาวะขาดคอหรือปริมาณผลผลิตน้อยลงอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างพื้นที่ปลูก 20 ไร่ จากปกติจะให้ผลผลิตประมาณ 3-4 ตัน/รอบ แต่ขณะนี้ลดลงมาเหลือ 1-2 ตัน/รอบ

“ราคาเคยขยับขึ้นมาที่ 7-10 บาท/กก.เมื่อปี 2555-2556 แต่ถัดจากนั้นราคาก็ขยับลงมาอยู่ที่ 2-3 บาท/กก. และพอปลายปี 2559 ต้นปี 2560 ปาล์มน้ำมันเกิดขาดแคลน มีการนำเข้าจากต่างประเทศ 50,000 ตัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มขยับลงต่อ และราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 2-3 บาท/กก.มาตลอด อย่างไรก็ตาม ปาล์มน้ำมันมาตอบโจทย์ในปี 2563 เมื่อกระทรวงพลังงานมีนโยบายปรับโครงสร้างน้ำมันปาล์ม เพื่อนำไปเป็นพลังงานไบโอดีเซล โดยน้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันปาล์มเป็นบี 7 เป็นต้น

นายทศพล กล่าวอีกว่า หากน้ำมันปาล์มดิบเกิดภาวะขาดแคลน สามารถปรับทอนจากน้ำมันปาล์มผสมน้ำมันดีเซล จะไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งน้ำมันปาล์มในต่างประเทศ เปอร์เซ็นต์ต่ำประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ปาล์มน้ำมันจะเข้าสู่ฤดูกาลพีก จากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดพร้อมกัน

แหล่งข่าวจากเจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันได้ขยับขึ้นมาจากรอบหลายปี โดยราคาเฉลี่ยเดือนที่ผ่านมาขยับขึ้นมาประมาณ 7 บาท และต้นสัปดาห์นี้ในบางพื้นที่และบางลานรับซื้อปาล์มน้ำมันขยับขึ้นมาเป็น 7.20-7.50 บาท/กก. จากปัจจัยปาล์มน้ำมันเกิดภาวะขาดคอหรือปริมาณผลผลิตน้อยประมาณเดือนตุลาคม ต่อเนื่องมาถึงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนและประสบภัยแล้งที่ผ่านมา

โดยจะเก็บผลผลิตได้โดยรอบแรกประมาณ 100 ตัน รอบ 2 มาอยู่ที่ 80 ตัน รอบ 3 เก็บได้ประมาณ 40 ตัน และประมาณการว่าในรอบที่ 4 จะเหลือประมาณ 25 ตันจากปกติเดิมสามารถเก็บได้รอบละ 100 ตัน โดยแต่ละรอบระยะเวลาจะเก็บเกี่ยวประมาณเวลา 15-18 วัน โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันอายุมากประเภท 15 ปีขึ้นไป ผลผลิตแทบจะไม่มี แต่อายุประมาณ 7-8 ปี ยังจะให้ผลผลิต

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันราคาขยับขึ้น เพราะได้นำปาล์มน้ำมันมาผลิตพลังงานไบโอดีเซล น้ำมันดีเซลผสมน้ำมันปาล์ม เป็นดีเซล บี 7 เป็นต้น

สำหรับปาล์มน้ำมันเป็นเรื่องของความเสี่ยง จะขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ปาล์มน้ำมันเป็นพืชพลังงาน นอกจากนำไปทำอาหารและผลิตภัณฑ์ พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันจึงจะเสถียรโดยรัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้อยู่ที่ 4 บาท/กก. ที่ผ่านมารัฐบาลบางเวลาชดเชยส่วนต่างอยู่ที่ 00.20-00.30 บาท/กก.” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ประการสำคัญรัฐบาลจะต้องป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ เพราะยามภาวะปาล์มน้ำมันราคาขยับขึ้นจะมีการลักลอบการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และราคาน้ำมันปาล์มในต่างประเทศราคาค่อนข้างต่ำประมาณ 22-25 บาท/ลิตร แต่เปอร์เซ็นต์จะต่ำกว่าอยู่ที่ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์

ส่วนสถานการณ์ปาล์มน้ำมันในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมายังไม่มีการปลูกเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ชาวสวนที่โค่นยางไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เช่น ปลูกทุเรียน และกาแฟ ตามสภาพพื้นที่ความเหมาะสม สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้คุณภาพต้องมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ เช่น พื้นที่ลุ่มอ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รอยต่อ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา

เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า จากภาวะภัยแล้งระยะยาว ส่งผลให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่รอยต่อ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา โดยเฉพาะคาบสมุทรสทิงพระ อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ จากภัยแล้งส่งผลให้น้ำทะเลสาบสงขลาเค็ม ปริมาณเกินค่าแก่การเพาะปลูก

เช่น การทำนาข้าวไม่สามารถทำได้ใน 3 ฤดูกาล ทำได้เพียง 1 ฤดูกาล ทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช และโดยเฉพาะในส่วนของปาล์มน้ำมันส่งผลให้ปาล์มน้ำมันขาดคอมีปริมาณผลผลิตน้อยมาก