มหาสารคามปลูก “แอปเปิลฟูจิ” อีก 3 ปีผลผลิต 5 แสนต้นสู่ตลาด

อีสานปลูกแอปเปิลได้ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่วันนี้ “อนุวัติ อินปลัด” ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดถั่งเช่า บ้านโนนสำราญ (เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช) อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม บอกว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดถั่งเช่าก็มีโครงการพัฒนาสายพันธุ์แอปเปิล “พันธุ์ฟูจิ” ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

เนื่องจากสถิติประเทศไทยนำเข้าแอปเปิลแต่ละปีอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และพันธุ์ที่นำเข้ามากที่สุดคือ พันธุ์ฟูจิ โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีผลไม้หลากหลายชนิด รสชาติโดดเด่น สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากมาพัฒนาการปลูกแอปเปิลพันธุ์ฟูจิ

โดยทางกลุ่มได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการพัฒนาสายพันธุ์ให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการนำต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว นำยอดพันธุ์ที่สามารถปลูกในประเทศไทยได้มาพัฒนาต่อยอด ตั้งเป้าให้ผลผลิตภายใน 3 ปี ถึง 3 ปีครึ่ง ตั้งเป้าในปี 2565 จะสามารถผลิตต้นแอปเปิลให้ออกสู่ตลาดจำนวน 500,000 ต้น เป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ได้สนับสนุนให้สมาชิกปลูกคนละ 10 ต้น ราคาจำหน่ายอยู่ที่ต้นละ 1,500 บาท

สำหรับวิธีการปลูกลงดินควรจะให้ต้นอ่อนมีขนาดความสูง 20 เซนติเมตรก่อน ถึงอย่างนั้นก็เป็นพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ลำต้นดี แข็งแรง ปลอดเชื้อ มีการเจริญเติบโตได้ดี มีคุณภาพ สามารถผลิตได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และตลาดแอปเปิลในปัจจุบันยังเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีการปลูกที่แพร่หลาย ทางกลุ่มจึงตั้งเป้าให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัดมหาสารคาม คาดว่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนได้อย่างดี

ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร พืชเศรษฐกิจของมหาสารคามมีมูลค่าประมาณปีละกว่า 8 พันล้านบาท มาจากผลผลิตมันสำปะหลังประมาณ 4 แสนตัน มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท อ้อยโรงงานผลผลิตกว่า 1.7 ล้านตัน มูลค่า 1.2 พันล้านบาท และจากข้าวผลผลิตกว่า 6.9 แสนตัน มูลค่ากว่า 6,900 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้า จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตสินค้าเกษตร พัฒนาผลผลิตให้พืชเศรษฐกิจเมืองมหาสารคามมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น


“ปราโมทย์ วัฒนะ” เกษตรจังหวัดมหาสารคาม บอกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินงานการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและสร้างกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ผลักดันให้เกิดการร่วมกลุ่มเข้าสู่การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรยุคใหม่ ให้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชน หวังให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเกษตร เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (smart farming) เพื่อความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร และเกิดพลังเครือข่ายสร้างเครือข่ายในระดับต่าง ๆ สอดคล้องกับโมเดล “Thailand 4.0”