สนข.โชว์ผลการศึกษารถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่ เผยรัฐบาลเตรียมทุ่มกว่า 6 หมื่นล้านหนุนแจ้งเกิด คาดเริ่มก่อสร้างปี′61 พร้อมเปิดหวูดใช้งานภายในปี′64 พลิกโฉมระบบรางของประเทศไทยให้เป็นระบบที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น และยกระดับการค้า และการลงทุน ขับเคลื่อนให้ภาคเหนือกลายเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนในอนาคต
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)กล่าวว่า ขณะนี้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 60 ได้เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 (ครั้งสุดท้าย) เพื่อสรุปผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะนำผลสรุปทั้งหมดเสนอต่อกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ
จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนว่าจ้างผู้รับเหมาและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างและเข้าสู่กระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2561 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และพร้อมที่จะเปิดใช้งานภายในปี 2564 ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 60,000 ล้านบาท
“รัฐบาลต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมระบบรางของประเทศไทยให้เป็นระบบที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งคน สินค้าและโลจิสติกส์ อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยขับเคลื่อนให้ภาคเหนือเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนในอนาคต โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางทั้งด้านอุตสาหกรรมและการคมนาคม”
สำหรับผลสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสม มีระยะทางรวม 189 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเด่นชัย-ลำปาง ระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นการสร้างทางรถไฟคู่ไปกับแนวเขตทางเดิม พร้อมปรับรัศมีโค้งของทางรถไฟเดิม เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น โดยสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 120 กม./ชม. และช่วงลำปาง-เชียงใหม่ ระยะทาง 85 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างทางคู่ขนานในแนวเขตทางเดิมบางส่วนและตัดแนวทางรถไฟใหม่บางส่วน เพื่อให้เป็นแนวเส้นตรงมากที่สุด โดยสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ ชม. ตลอดเส้นทาง ส่วนโครงสร้างทางรถไฟกำหนดให้สามารถรองรับน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน (U20)
ส่วนการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ พบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.06% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 291 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนเท่ากับ 1.01% ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของธนาคารโลก และสภาพัฒน์ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 61,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,464 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์กล่าวถึงมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าโครงการให้ความสำคัญกับการแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่ชุมชนและเส้นทางคมนาคมโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภาคเหนือโดยได้ออกแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
นอกจากนี้ยังมีการแจ้งให้ประชาชนรับทราบและเตรียมพร้อมเกี่ยวกับแผนการก่อสร้างเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรที่อาจเกิดขึ้น ส่วนมาตรการด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกเวนคืนมากที่สุด