เชียงใหม่สูญ 6 หมื่นล้าน ครึ่งปีธุรกิจร้านค้าเร่ขายกิจการเพียบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจย่านธุรกิจการค้าสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงวันนี้กินระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปี 6 เดือน

โดยพบว่า 2 พื้นที่หลักย่าน ไนท์บาซาร์-นิมมานเหมินท์ ร้านค้าส่วนใหญ่ขึ้นป้ายประกาศ “ขาย-ให้เช่า” เป็นจำนวนมาก บรรยากาศเงียบเหงาวังเวง ไร้นักท่องเที่ยวการค้าขายนิ่งสนิท

สูญรายได้ 6 หมื่นล้าน

นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจการค้าที่มีความเกี่ยวโยงกับภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด ภาพที่เห็นชัดคือ ย่านไนท์บาซาร์ และย่านนิมมานเหมินท์

ซึ่งเป็นพื้นที่การค้าการท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา การเปิดกิจการต่อไปย่อมขาดทุน

โดยพบว่าร้านค้าเริ่มทยอยปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2563 และช่วงครึ่งปีนี้ (2564) เริ่มเห็นการปิดกิจการแบบถาวรและติดป้ายประกาศขาย-ให้เช่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงเฉพาะร้านค้าเท่านั้นที่ปิดกิจการแต่ยังมีโรงแรมหลายแห่งย่านไนท์บาซาร์ที่ปิดดำเนินการแล้ว กล่าวได้ว่าสภาพการค้าในขณะนี้นิ่งสนิท

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่พึ่งพิงรายได้จากภาคบริการท่องเที่ยวถึง 65% ในปี 2562 (ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19)มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 10 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย 70% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30%

โดยในสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนถึง 30% มีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.2 แสนล้านบาทต่อปี (เฉลี่ย 10,000 ล้านบาทต่อเดือน) ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก 2564 (มกราคม-มิถุนายน) คาดว่าภาคบริการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่สูญเสียรายได้มากกว่า 60,000 ล้านบาท

ชูซีลรูต “แซนด์บอกซ์กอล์ฟ”

นายพัลลภกล่าวต่อว่า แผนงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คือ การเร่งเตรียมความพร้อมของเมืองในทุกมิติ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 (ไฮซีซั่น)

ตามแผนเชียงใหม่แซนด์บอกซ์ (Chiang Mai Sandbox) เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใน 4 พื้นที่หลัก คือ อำเภอเมือง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม และอำเภอดอยเต่า ในรูปแบบ seal route

โดยจะเน้นหนักมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยตลอดเส้นทางท่องเที่ยว

เบื้องต้นคาดว่าแซนด์บอกซ์กอล์ฟมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มก่อน เพราะนักท่องเที่ยวเกาหลีสนใจจะเดินทางมาโดยจะ seal route ตั้งแต่มาถึงสนามบิน-เข้าที่พัก-ร้านอาหาร-สถานที่ท่องเที่ยว-สปา ฯลฯ

ซึ่งทุกที่ที่ไปจะเป็นเส้นทางเฉพาะเท่านั้น และต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์แซนด์บอกซ์ของจังหวัดเชียงใหม่เตรียมนำเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณาเร็ว ๆ นี้

กรีนบัสอ่วมผู้โดยสารวูบ 90%

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ (กรีนบัส)กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

ส่งผลให้การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งกรีนบัสได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักมากและได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้วราว 120 คน ปัจจุบันเหลือพนักงานที่ยังทำงานอยู่ราว 480 คน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 ทำให้ทางบริษัทต้องเร่งปรับตัวและลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย่างเร่งด่วน โดยลดค่าจ้าง-เงินเดือนพนักงานทุกระดับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เหลือเพียงราว 10% เท่านั้น

ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อช่วยกันพยุงสถานะของบริษัทให้สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์วิกฤตนี้ ซึ่งจากเดิมมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานราว 12-13 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะนี้ลดลงมาเหลือเพียง 4.8 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากบริษัทมีภาระในการผ่อนรถและหนี้สินอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายให้กับสถาบันการเงินทุกเดือน

ขณะที่รายได้หรือรายรับของบริษัทขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการไม่ถึง 10% หรือหายไปกว่า 90% ทำให้ต้องลดจำนวนเที่ยววิ่งรถเกือบทั้งหมด

เหลือเพียงเส้นทางที่ยังพอมีการเดินทางอยู่บ้างในแต่ละวัน ได้แก่ เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เชียงใหม่-น่าน และเชียงใหม่-พะเยา ส่วนเส้นทางข้ามภูมิภาคมีเพียงเส้นทางเชียงใหม่-ภูเก็ตที่ยังคงวิ่งอยู่ 2 เที่ยวต่อสัปดาห์

เศรษฐกิจเหนือหดตัวต่อเนื่อง

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2564 หดตัวจากเดือนก่อน การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อเนื่อง

ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลง โดยเฉพาะภาคบริการด้านการท่องเที่ยวหดตัวจากเดือนก่อน จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

ทำให้มีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศปรับลดลง สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ และจำนวนเที่ยวบินลดลงมาก เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์ที่เดินทางมาภาคเหนือปรับลดลงจากเดือนก่อน

ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องเช่นกัน ประชาชนลดการเดินทางและกิจกรรมนอกบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แม้จะมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐมาช่วยพยุงไว้

แต่ก็ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน หมวดบริการ และหมวดยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปรับลดลงจากเดือนก่อน