เบื้องหลังผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เปิดใจลาออก เหตุถูกเทวัคซีน ชุดตรวจ ATK

เผยเหตุผู้ว่าฯปู สมุทรสาคร เตรียมยื่น “ลาออก” หลังถูกรัฐบาลเท ทั้งวัคซีน ATK ขณะที่ยอดติดโควิดพุ่งเกือบหมื่นคน

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 แหล่งข่าวจากจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากรณีที่นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โพสต์ในเฟซบุ๊ก Sakravee Srisangdharma ซึ่งเป็นนามปากกาที่ใช้ในงานเขียน และระบุจะยื่นหนังสือ “ลาออก” จากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในวันนี้ (16 ส.ค. 64) นั้น โดยระบุเหตุผลเรื่องสุขภาพนั้น ทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดนายวีระศักดิ์คิดว่า เหตุผลลึก ๆ น่าจะหนักใจเรื่องตัวเลขคนติดโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ไม่ใช่ 1,800 คน แต่ตรวจด้วยตัวเอง และยังนอนอยู่ในโรงพยาบาลสนามของโรงงาน (FAI) ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 มีโรงงานติดโควิด 243 แห่ง มีพนักงานเข้ารับการกักตัวสะสม 6,048 คน ขณะที่ขอวัคซีนไป 3 แสนโดสเดือนกรกฎาคมได้มา 94,129 โดส เดือนสิงหาคมได้วัคซีนเข็มที่ 1 มาจำนวน 24,000 โดส รวมถึงขอชุดตรวจด้วยตัวเอง (Antigen test kits -ATK ) ไปยังหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มา ต้องรับบริจาคจากเอกชนได้มา 20,000 ชุด

“ผู้ว่าฯคงเห็นตัวเลขคนติดเชื้อจำนวนมาก คนตายทุกวัน หมอ บุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 ไปเกือบ 300 คน แนวโน้มคนติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นสูง แต่รัฐบาลกลางไม่มีใครสนใจ ทุกอย่างต้องดิ้นรนเอง ผู้ว่าฯไม่เคยบ่นเรื่องสุขภาพ สู้มาตลอด แต่คิดว่า แต่ถ้าปล่อยไปอย่างนี้คงลำบาก ท่านคงหนักใจหลาย ๆ เรื่องจึงคิดว่า หากมีคนอื่นที่มีความสามารถกว่าท่านมาทำงานอาจจะทำได้ดีกว่านี้ จึงอยากยื่นใบลาออก”

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
จังหวัดสมุทรสาคร มีภาคอุตสาหกรรมกว่า 6,000 โรงงาน ที่สร้างรายได้หลายแสนล้านบาทต่อปี เสียภาษีเข้ารัฐจำนวนมาก แต่วันนี้วิกฤตสงครามเชื้อโรคคนติดเชื้อจำนวนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนแม่ทัพ แต่รัฐบาลปล่อยให้แม่ทัพไปสู้มือเปล่า ไม่มีอาวุธอะไรให้เลย คงลำบาก

“ผมยังไม่ได้คุยกับท่าน แต่ที่ผ่านมาท่านสู้เต็มที่ ภาคเอกชนในจังหวัดพร้อมสู้ไปกับผู้ว่าฯ ลงทุนช่วยกันเองทุกอย่าง แต่ก็เข้าใจเรื่องสุขภาพของท่านนะ”

ก่อนหน้านี้ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โพสต์-ข้อความในเฟซบุ๊ก Sakravee Srisangdharma ซึ่งเป็นนามปากกาที่ใช้ในงานเขียน ระบุว่า

ยามดีใช้ ยามไข้รักษา

มีคนถามผมมาเยอะว่า ไม่ย้ายกับเขาเหรอ
ไม่เห็นมีชื่อในคำสั่ง หรือว่าผมเกษียณปีนี้

อยากย้ายเช่นกันครับ
เหตุผลของผมคือ สุขภาพผมไม่แข็งแรง ออกพื้นที่ได้ไม่มาก ไปมาไม่สะดวก หลายคนเป็นห่วง
ออกจากศิริราชแล้ว ร่างกายไม่เหมือนเดิมเลย โควิดทิ้งร่องรอยไว้เยอะมาก
เหนื่อย ไอ จาม มีน้ำมูก หอบง่าย
ล่าสุดมีอาการเกร็งด้านขวา ค่อนข้างมาก
คุณหมอบอกว่าผมเครียดหนัก พักผ่อนน้อย ต้องถนอมชีวิตมากกว่านี้
ขณะที่งานในสมุทรสาครไม่เครียดคงไม่ได้
กระทรวงบอกว่าผมทำงานมากเกินไป จะย้ายให้ไปอยู่จังหวัดอื่นที่งานโควิดเบาขึ้น
ผมเป็นห่วงชาวบ้าน ก่อนถึงฤดูโยกย้าย
ขอผมเป็นพนักพิงให้ชาวบ้านอุ่นใจก่อนว่า เรายังไม่หนีไปไหน พร้อมเผชิญเรื่องร้าย ๆ ไปด้วยกัน

ผมเกษียณปีหน้าครับ
บอกคนใหญ่ในกระทรวง ถึงเหตุผลการย้าย มาจากสุขภาพร่างกายล้วน ๆ
คำตอบที่ได้ตอนคำสั่งล่าสุด คือ ถึงผมอยากไปสุพรรณบุรี แต่นักการเมืองเขาไม่ยอมรับ (ซึ่งผมไม่รู้ว่าหมายถึงใคร) ผมไปไม่ได้แน่
ส่วนอ่างทอง เป็นจังหวัดเล็กเกินไป
ย้ายจากสมุทรสาคร ไปจังหวัดเล็กกว่าคงไม่เหมาะ
อือม์…อยู่ศรีสะเกษ 22 อำเภอ สมุทรสาคร 3 อำเภอ
ผมเข้าใจอะไรผิดเรื่องเล็กใหญ่แน่เลย

ไปจังหวัดอื่นก็ลำบาก อยู่สมุทรสาครต่อก็คงไม่ดี คนอยู่ที่นี่ควรจะแข็งแรงกว่าผม
ทำงานได้คล่องแคล่วกว่าผม
ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพเหมือนผม
ผมคิดสะระตะในใจว่า
ผู้ว่าฯสุพรรณฯ เป็นกัลยาณมิตรที่ดีของผม
ส่วนผู้ว่าฯอ่างทอง เป็นอดีตเพื่อนร่วมงานที่ดีของผมเช่นกัน
ผมคงไม่มีเหตุผลใดจะไปไล่ที่เขา

ผมเคยฝันว่า จะสามารถอยู่รับราชการได้จนถึงเกษียณอายุ
เพราะคือจุดหมายปลายทาง ที่ข้าราชการทุกคนปรารถนา
แต่วันนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นได้แค่ในฝัน
สาเหตุหลักมาจากการทุ่มเทให้กับงานมากไป
นึกถึงคำของผู้ใหญ่ที่บอกว่า จะหาจังหวัดอื่นที่งานโควิดเบาขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หาให้
คำสั่งที่เห็นจึงไม่มีชื่อผมด้วย
หลงคิดมานานว่า การจัดคนลงตำแหน่ง เป็นเรื่องของกระทรวงเป็นหลัก
หรือว่าผมไม่มีสีของสิงห์ใด ๆ นอกจากสีกากีของเครื่องแบบ
สีที่ผมพยายามใช้ เดินตามรอยพระบาทในหลวง ร.9 มาตลอดชีวิตการทำงาน

นึกถึงคำของคุณหมอที่บอกหลังเห็นคำสั่งว่า
ผมควรใช้ชีวิตก่อนเกษียณที่สงบกว่านี้ ลาออกเถอะ บ้านเมืองย่อมมีคนมาทำงานได้ อย่าไปห่วงจนเกินตัว
นึกถึงคำของลูกสาวที่ปลอบพ่อว่า พ่อต้องดูสุขภาพและความรู้สึกพ่อเป็นหลัก
พ่ออยู่ในราชการอีกแค่ปีเดียว แต่อยู่ในชีวิตหลังเกษียณอีกหลายปี
พ่อทำงานหนักมาตลอดชีวิต
ปีสุดท้ายของพ่อ น่าจะเลือกให้เหมาะกับสุขภาพพ่อเป็นสำคัญ

มาถึงตรงนี้
คนที่สนิทกัน คงรู้แล้วว่าผมเลือกจะทำยังไง
จู่ ๆ ผมก็นึกถึงคำโบราณที่ว่า
“ยามดีใช้ ยามไข้ (ไม่) รักษา”