ลำพูน ดันเขตเศรษฐกิจภาคเหนือ กรุยทางตั้ง นิคมจามเทวี รับนักลงทุน ตปท.

ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (ภาพโดย Frauke Feind จาก Pixabay)

ภาคเอกชนลำพูนกระทุ้งรัฐหนุน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) หวังดึงลงทุนครั้งใหญ่ พร้อมผุดนิคมอุตสาหกรรมจามเทวี ให้เป็นนิคมแห่งที่ 4 หวังผนึกทุนการเมือง-ทุนท้องถิ่น หาผู้พัฒนานิคมร่วมกัน ด้านกลุ่มทุนญี่ปุ่น “มูราตะ” กว้านซื้อที่ดินกว่า 200 ไร่ ในโครงการนิคมเวิลด์(ลำพูน) เดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง ปักหมุดลำพูนเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาค

นายสุนัย จันทร์สว่าง รองประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน ฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดลำพูน (กกร.) ได้เร่งผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ 4 จังหวัด เชียงราย-เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง (Northern Economic Corridor หรือ NEC) อย่างต่อเนื่อง โดย กกร.จังหวัดลำพูนได้เสนอโครงการ NEC ไปยังรัฐบาลให้เป็นนโยบายการพัฒนาระดับประเทศเช่นเดียวกับ EEC ของภาคตะวันออก ขณะที่จังหวัดลำพูนเองถือเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ที่มีนิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนถึง 3 แห่ง ได้แก่

นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ลำพูน, นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ (ลำพูน) มีการจ้างงานรวมมากกว่า 50,000 คน และในอนาคตจะมีการลงทุนสร้างนิคมแห่งใหม่เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ “นิคมอุตสาหกรรมจามเทวี” ที่ภาคเอกชนจังหวัดลำพูนพยายามเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจามเทวี เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างตำบลศรีบัวบาน กับตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน ประมาณ 3,000 ไร่ แต่โครงการนี้ยังมีโซนที่ดินบางส่วนติดปัญหาเรื่องการวางผังเมืองอยู่” นายสุนัยกล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างประเทศในจังหวัดลำพูนปรากฏ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก ได้ขยายกิจการเพิ่มการลงทุน โดยได้ซื้อที่ดินแห่งใหม่อีกราว 209 ไร่ ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ (ลำพูน) และในอนาคตกลุ่มบริษัทมูราตะก็มีแผนขยายการลงทุนสร้างโรงงานอีกราว 20 แห่ง ในโครงการนิคมเวิลด์ (ลำพูน) ด้วยคาดว่า เม็ดเงินที่กลุ่มมูราตะจะลงทุนภายในนิคมเวิลด์จะอยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มซีพี ออลล์ ได้มาตั้งศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงโลตัส และอีกหลายกลุ่มที่มาตั้งศูนย์กระจายสินค้าเพื่อเป็นฐานเชื่อมต่อสินค้าไปยังจังหวัดในภาคเหนือ

นายสุนัยกล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ NEC จะมีความเชื่อมโยงกับโครงการ One Belt One Road ของจีน ที่ในอนาคตอันใกล้จะมีการเปิดโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโอกาสทางการค้าของจังหวัดในภาคเหนือที่จะขยายตลาดไปยังจีนได้สะดวกขึ้น โดยพื้นที่อำเภอเชียงของ เป็นด่านการค้าข้ามแดน หรือ cross border e-Commerce ในการส่งออกสินค้าของภาคเหนือสู่ประเทศจีนในอนาคตต่อไป

ขณะที่ นพ.วัชระ สนธิชัย ประธานที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลหริภุญชัย เมโมเรียล จำกัด กล่าวว่า ภาคเอกชนจังหวัดลำพูนได้เร่งผลักดันโครงการ NEC อย่างเต็มที่ เพื่อดึงการลงทุนใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามา โดยที่อนาคตจะมีการลงทุนสร้างสนามบินแห่งที่ 2 บ้านธิ จังหวัดลำพูน และสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจามเทวี พื้นที่ประมาณ 3,600 ไร่นั้นจะเป็นที่ดินของกลุ่มทุนการเมืองระดับชาติและทุนท้องถิ่น หากนักลงทุนให้ความสนใจที่จะลงทุน อาจเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อร่วมลงทุน (joint venture) เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน ขณะเดียวกันจะต้องเร่งผลักดันแก้ไขผังเมือง เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนเป็นสีเขียว

“ภาคเอกชนลำพูนตั้งเป้าเป็นนิคมอุตสาหกรรมสะอาด เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์” นพ.วัชระกล่าว