ไทยตกขบวน “รถไฟจีน-ลาว” ชวดโควตาขนส่งสินค้าแสนล้าน

“รถไฟจีน-ลาว”
REUTERS/Phoonsab Thevongsa

ไทยตกขบวนรถไฟลาว-จีน “เวียงจันทน์-คุนหมิง” เสียโอกาสการค้า-ลงทุนหลายแสนล้านบาท ผู้ส่งออกปูดสินค้าไทยยังไม่มี “โควตาขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” ขึ้นรถไฟ เงื่อนไขขนส่งจีน-ลาว ก็ยังไม่ได้เปิดการหารือ ขณะที่ระบบโลจิสติกส์ขนคน ขนสินค้าทาง สปป.ลาวพร้อมกว่า ในขณะที่หนองคายเพิ่งตื่น ร.ฟ.ท.เพิ่งจะเปิดประมูลลานขนส่งสินค้าเข้า-ออก หวังลดความแออัด

3 ธันวาคม 2564 ท่านสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว ได้ทำพิธีเปิดการใช้ทางรถไฟสายลาว-จีนอย่างเป็นทางการเป็นวันแรก โดยทางรถไฟสายนี้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโดย บริษัท รถไฟลาว-จีน (สัดส่วนการถือหุ้นลาว 30% จีน 70%) มีระยะทาง 420 กม. เชื่อม 5 แขวงของ สปป.ลาว ไปถึงชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต็น ต่อเข้ากับทางรถไฟจีนไปจนถึงเมืองคุนหมิง สามารถขนทั้งคนและสินค้า

เบื้องต้นจะเปิดให้บริการวันละ 8 เที่ยว แต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีนได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นับเป็น 1 ในโครงการยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง (BRI) ของจีน ที่ร่นระยะการเดินทางระหว่างเวียงจันทน์ถึงคุนหมิงลงเหลือ 1 วัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานงานสัมมนา “โอกาสของผู้ประกอบการไทย-ลาวกับการเปิดการเดินรถไฟจีน-ลาว” จัดโดยหอการค้าจังหวัดหนองคาย โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านบวกต่อประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่า “ใครจะเร็วจะช้ากว่ากัน” ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องการขนส่ง-โลจิสติกส์ ที่จะสามารถลดต้นทุน ลดระยะเวลาได้อย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าการเกษตร

ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเร่งรัดการปรับตัวเพื่อรับโอกาสนี้ด้วยการเร่งขยายรถไฟรางคู่ ถัดมาเป็นรถไฟความเร็วสูงให้เชื่อมโยงรถไฟจีน-สปป.ลาว และเร่งสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการค้าชายแดนไทย-ลาวที่มีมูลค่ารวม 189,822 ล้านบาท การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ประเทศถือภูมิศาสตร์คือศูนย์กลางอย่างแน่นอน “ใครจะไปไหนก็ต้องผ่านประเทศไทย” แต่ประเทศไทยไม่มีทวิภาคีเกี่ยวกับการเดินรถกับประเทศเพื่อนบ้าน รถบรรทุกวิ่งเข้าประเทศระหว่างกันได้เพียงแค่ 2 กิโลครึ่งเท่านั้น ดังนั้นการจะเป็น “ศูนย์กลางโลจิสติกส์” ได้ ต้องแก้เงื่อนไขนี้

ส่วน ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีฝ่ายบริหารสังคมและวิจัย และหัวหน้าศูนย์บริการ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยจะใช้โอกาสในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์จากโครงการดังกล่าวไปยังจีนได้มากกว่ารายใหญ่ “ถือว่าแพลตฟอร์มออนไลน์จะเป็นการเชื่อมโยงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของ SMEs ไทยสู่ตลาดจีน”

ขณะที่ ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร กรรมการที่ปรึกษา สภาธุรกิจไทย-สปป.ลาว กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ของจีน รถไฟที่มาภูมิภาคอาเซียนจะมี 2 เส้น คือ เส้นม่อหาน-เวียงจันทร์ (ด่านโม่หานตรงข้ามกับด่านบ่อเต็น) กับเส้นต่อมาจากคุนหมิง-เมียนมา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถือเป็นจุดเชื่อมต่ออินเดีย-ปากีสถาน ดังนั้นระบบรางจะเป็นจุดเปลี่ยนของอนาคตที่จะเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นโอกาสของไทย แต่จะปรับอย่างไร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร “ปัจจุบันการลงทุนทั้งไทย-จีน อยู่ที่ สปป.ลาว แม้จะพูดว่าเราไม่ตกขบวน แต่ถ้าเราไม่รีบตกแน่ ๆ”

ไม่ทันแล้ว-หนองคายเพิ่งตื่น

ด้านนางมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขบวนรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ระยะทาง 1,035 กม. วิ่งจากเมืองเวียงจันทน์ไปเมืองคุนหมิง ในขณะที่โครงการรถไฟของ ร.ฟ.ท.ที่จะไปเชื่อมต่อยังล่าช้ามาก โดย ร.ฟ.ท.แจ้งว่า รถไฟรางคู่ที่จะเชื่อมต่อกว่าจะแล้วเสร็จต้องเป็นปี 2569 ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะแล้วเสร็จปี 2574

ที่ผ่านมา หอการค้าจังหวัดหนองคายได้ผลักดันเรื่องนี้มานานนับ 10 ปีแล้ว เพราะเห็นความก้าวหน้าโครงการรถไฟจีน-ลาวที่กำลังดำเนินการ ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสเรื่องการค้า-การลงทุนไปมาก

“ตอนนี้ฝั่ง สปป.ลาวมีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะสถานีปลายทางของรถไฟขบวนนี้แบ่งเป็น 2 สถานี จะสิ้นสุดการขนส่งผู้โดยสารที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ใต้ (บ้านไฮ) ส่วนสินค้าต้องวิ่งมาอีก 10 กม. เพื่อมาลงที่สถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เท่าที่ทราบลาวอยู่ระหว่างก่อสร้างเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ลานจอดพักสินค้า เป็นโลจิสติกส์ปาร์ก (Vientiane Logistics Park) คลังสินค้าขนาดใหญ่ มีโซนรองรับสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร สินค้าฮาลาล คลังสินค้าห้องเย็น

ซึ่งในช่วงเริ่มต้นคงมีรถหัวลาก และรถบรรทุกเข้าไปรับสินค้าที่สถานีเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด แล้ววิ่งตรงมาข้ามสะพานมิตรภาพไทยแห่งที่ 1 คงไม่มีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นรถไฟตรงมาที่สถานีท่านาแล้งอีกรอบ และสถานีเวียงจันทน์มาถึงสถานีท่านาแล้งระยะทาง 7.5 กม. ส่วนที่สถานีท่านาแล้ง ทาง สปป.ลาวยังเห็นมีการปรับปรุงสถานีรองรับ และจากสถานีท่านาแล้งมาถึงสะพานมิตรภาพไทย ระยะทาง 3.5 กม. เพื่อวิ่งต่อมาสถานีรถไฟนาทาของไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการปรับปรุงเพื่อรองรับสินค้าแต่อย่างใด” นางมนนิภากล่าว

ล่าสุดหอการค้าจังหวัดหนองคายได้ไปหารือกับนายด่านหนองคาย ทำให้ทราบว่า ได้เตรียมการรับมือกับปริมาณสินค้าทั้งขาเข้า-ขาออกที่จะเพิ่มขึ้น โดยประสานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอใช้พื้นที่ 80 ไร่ บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย อยู่ห่างจากด่านหนองคาย 1 กม. เพื่อให้รถขนสินค้าขาเข้าจากฝั่งลาวมารอตรวจสอบตามขั้นตอนพิธีการศุลกากร เนื่องจากปัจจุบันบริเวณด่านหนองคายใกล้สะพานมิตรภาพแออัดและการจราจรติดขัดยาวไปบนท้องถนนมากอยู่แล้ว

โดยที่ดินทั้ง 80 ไร่ดังกล่าว ทาง ร.ฟ.ท.แจ้งว่าจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหาร โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 แปลง แปลงละ 20 ไร่ ส่วนสินค้าขาออกจะไปใช้ที่ดิน 90 ไร่ บริเวณบ้านหนองสองห้อง ซึ่งอยู่ห่างจากด่านหนองคายประมาณ 12 กม. เพื่อให้รถขนสินค้ามาจอดรอ จะได้ไม่เพิ่มปัญหาการจราจรที่ติดขัดอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก

จี้รัฐบาลถกเงื่อนไขขนส่งจีน

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า การขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงเป็นจุดที่มีศักยภาพ แต่คงไม่ใช่เส้นทางหลัก เป็นเส้นทางทางเลือกที่ทำให้การขนส่งสะดวก-รวดเร็วขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 การเปิดเดินรถไฟวันแรกเดิมผู้ประกอบการขนส่งผลไม้เตรียมขนส่งทุเรียนจากภาคใต้ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ระบบความเย็น cold chain ของตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกบนรถไฟจีนยังไม่พร้อม จึงส่งของแห้งตู้ธรรมดาจำนวน 35 ตู้ คาดว่าทางจีนจะเตรียมพร้อมแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันฤดูกาลผลไม้ปี 2565

ข้อดีก็คือการขนส่งทางรถไฟไปคุนหมิงใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง ขนส่งต่อไปกว่างสี-กว่างโจวอีก 14 ชั่วโมงก็สามารถกระจายสินค้าไปภูมิภาคตะวันออกของจีนได้ภายใน 1-2 วัน รวดเร็วกว่าทางรถยนต์ที่ใช้เวลา 4-7 วัน แต่เส้นทางรถไฟจากหนองคายไปเวียงจันทน์ยังต้องใช้รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 อยู่ “ปัญหาต่าง ๆ ต้องรอแก้ไขหลังเปิดใช้ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สำนักงานในเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ก (Vientiane Logistics Park : VLP) เป็นผู้ประกอบการส่งออกอยู่แล้ว พร้อมจะขนส่งผลไม้ให้ในต้นปี 2565”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยจะต้องเร่งเจรจากับ สปป.ลาว และจีน ใน 4 ประเด็น คือ 1) ปัญหาการขนส่งบนสะพานมิตรภาพ 1 ไม่ให้เป็นคอขวด โดยที่รถยนต์-รถไฟต้องใช้สลับกัน ต้องพัฒนาระบบรางของไทยเชื่อมต่อกับลาว เพราะขนาดรางไม่เท่ากัน โดยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเป็นขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร 2) พิธีการศุลกากรการขนส่งผลไม้สด ขอให้ตรวจสอบตู้เพียงครั้งเดียวแล้วล็อกซีลส่งไปถึงปลายทาง โดยนำเจ้าหน้าที่ด่านโมฮานของจีนมาตั้งสาขาย่อยที่สถานีท่านาแล้ง เวียงจันทน์

3) เร่งทำ MOU ระหว่างไทย-จีน-สปป.ลาว ให้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 รองรับการขนส่งสินค้าระบบราง และ 4) ระบบภาษีและสิทธิพิเศษของไทย ขณะนี้การบริหารจัดการระบบต่าง ๆ การออกเอกสารออนไลน์ล่วงหน้าของศุลกากร ค่าใช้จ่ายไฟฟ้าทางลาว-จีน ค่าระวางขนส่ง การเปลี่ยนคนขับรถบรรทุก ยังต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน

ไทยตกขบวนไม่ได้โควตาขนส่ง

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า เรื่องสำคัญเร่งด่วน 2-3 เรื่องในระยะสั้น ควรเร่งเจรจากับจีนให้ชัดเจน ได้แก่ 1) การจัดสรรโควตาตู้คอนเทนเนอร์ให้กับประเทศไทย เช่นเดียวกับลาวที่ได้รับการจัดสรรโควตาแล้ว ประมาณ 50,000 ตู้ต่อปี และกัมพูชาได้รับการจัดสรรโควตาไปแล้ว ประมาณ 30,000 ตู้ต่อปี จากเที่ยวการขนส่งวันละ 900 ตู้ ถ้าไทยได้โควตาเพียง 10% หรือวันละ 90 ตู้ ก็จะเป็นทางเลือกจากด่านทางบก ที่ต้องเผชิญปัญหาจากปริมาณการขนส่งผลไม้ปี 2563 เฉลี่ย 600-700 ตู้/วัน และปี 2565 คาดว่าน่าจะเพิ่ม 1,000 ตู้/วัน

2) มาตรการต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติในการบริหารจัดการขนถ่ายสินค้า การเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้า เนื่องจากรถไฟลาว-จีนสายนี้ออกแบบเพื่อใช้ขนถ่ายสินค้าแร่จากลาวไปจีน หรือสินค้าที่เป็นของแห้ง ไม่ได้ออกแบบขนส่งผลไม้ที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมอุณหภูมิ และตู้ไทยไม่ได้ใช้ระบบไฟฟ้าแบบเดียวกับของจีน ผู้ประกอบการและบริษัทขนส่งยังไม่มีความชัดเจน หากต้องใช้ตู้ของจีน ต้องเปลี่ยนใหม่ ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก ตู้ใหม่ ๆ ราคาประมาณ 700,000-800,000บาท


สอดคล้องกับ นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า การขนส่งทางบกมีปัญหาการตรวจโควิด-19 ที่ด่าน ทำให้รถติด ตู้คอนเทนเนอร์ต้องติดค้างอยู่ที่ด่าน ทำให้ผลผลิตเสียหายและเสียค่าใช้จ่ายโดยค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นจากราคา 60,000-80,000 บาท เป็น 140,000-150,000 บาท เพราะตู้ตกค้างหมุนเวียนมาไม่ทัน “การนำผลไม้ขึ้นรถไฟลาว-จีนต้องมีความชัดเจน เรื่องการจัดการเดินรถ ค่าระวางสินค้า และระเบียบพิธีการทางศุลกากรรถไฟ”