พัทลุง-จันท์-นครปฐมแห่ปลูก “พลู” ตลาดส่งออก “ไต้หวัน-อินเดีย” พุ่ง

“หมาก-พลู” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มักนิยมบริโภคคู่กัน หลังการนำเสนอข่าวการปลูก “หมาก” เพื่อส่งออกของจังหวัดพัทลุง และจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกและแหล่งรับซื้อผลผลิตรายใหญ่จากทั่วประเทศ และมีนักธุรกิจจีน “บริษัท ม่านกู่หว่างฟู๊ด จำกัด” ซึ่งปัจจุบันตั้งโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายทุเรียนแช่แข็งใน อ.เทพา จ.สงขลา และรับซื้อผลผลิตหมากทางภาคใต้ของไทยส่งไปประเทศจีนอยู่แล้ว ได้เตรียมตั้งโรงงานแปรรูปและรับซื้อหมากในจังหวัดพัทลุง โดยมีข้อมูลการส่งออกหมากไทยไปทั่วโลกของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2562 ส่งออกมูลค่า 2,029.17 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 2,286.41 ล้านบาท ปี 2564 (ม.ค.-ต.ค. 64) ส่งออกมูลค่า 4,714.18 ล้านบาท

ล่าสุดมีปรากฏการณ์ขับเคลื่อนในวงการหมากภาคใต้อย่างเห็นได้ชัด โดย ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดซื้อขายหมากมีการเคลื่อนไหวกันอย่างขนานใหญ่ ทั้งด้านเรื่องการลงทุนปลูกเพิ่มขึ้น และเรื่องราคาในตลาดขยับขึ้นไปสูง

ที่สำคัญเมื่อช่วงปลายปี 2564 ทางรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มาหารือถึงรายละเอียดเรื่องหมากอย่างรอบด้าน เพื่อผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เนื่องจากมีตลาดส่งออกหลักที่ดี โดยทางกระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านต่าง ๆ ซึ่งตนได้นำเสนอไป 2 เรื่อง คือ 1.ขอให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสนับสนุนพัฒนาสายพันธุ์หมาก 2.ขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนเรื่องทุนเกษตรกรที่ปลูกหมาก เพื่อรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับหมาก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มเกษตรกรสวนหมากได้

พัทลุงแหล่งรวมพลูไทยสู่โลก

ขณะเดียวกัน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงสำรวจตลาด “ใบพลู” ที่มีการส่งออกคู่ไปกับหมากในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออก นายสมบูรณ์ บุญวิสูตร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลร่มเมือง อ.เมือง จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พลูและหมากถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่พัทลุง เพื่อส่งออกไปตลาดไต้หวันที่มีความต้องการสูงมาก โดยตลาดเทศบาลตำบลร่มเมืองถือเป็นตลาดกลางรวบรวมส่งออกพลูรายใหญ่ของประเทศไทยส่งออกไปยังไต้หวัน โดยมีล้งรายใหญ่จากไต้หวัน ประมาณ 3 ล้ง และล้งขนาดเล็กอีกประมาณ 10 ล้ง เข้ามารับซื้อเพื่อส่งออก ประมาณ 5 ตัน/วัน แต่บางล้งสามารถรับซื้อได้ประมาณ 1 ตัน/วัน รับซื้อประมาณ 4 วัน/สัปดาห์

ทั้งนี้ การส่งออกพลูต้องส่งสินค้าทางเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังไต้หวัน เพื่อความรวดเร็ว เมื่อไปถึงไต้หวัน ผู้นำเข้าจะกระจายพลูส่งออกไปสู่ตลาดประเทศอินเดีย จีน และประเทศซาอุดีอาระเบีย อีกทอดหนึ่ง

ปัจจุบันราคาใบพลูเคลื่อนไหวประมาณ 50 บาท/กก. ขณะที่ตลาดกรุงเทพฯ ราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 60-70 บาท/กก. แต่ก่อนหน้านั้นราคาเคยขยับสูงถึง 200-300 บาท/กก. แต่ได้ถดถอยลงมาอยู่ที่ 180 บาท/กก. และก่อนเทศกาลปีใหม่อยู่ที่ 80 บาท/กก. พอหลังเทศกาลปีใหม่มาอยู่ที่ 60-58 บาท และ 50 บาท/กก.

ทั้งนี้ ทุกปีความเคลื่อนไหวของราคาพลูจะขยับสูงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ระยะเวลา 4 เดือนปัจจัยหนุนความต้องการพลูปีนี้เพิ่มขึ้นเพราะพื้นที่ภาคกลางน้ำท่วม ภาคเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลต่อพลูเกิดภาวะขาดแคลน

“หากคำนวณคร่าว ๆ การปลูกพลูในพื้นที่ ต.ร่มเมือง และ ต.ท่าแค สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่กว่า 7 ล้านบาท/เดือน ถ้าคิดเป็นภาพรวมทั้งปีประมาณ 90 ล้านบาท/ปี หรือมากกว่านี้แล้วแต่การขึ้น-ลงของราคาพลูในแต่ละช่วง แต่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่พัทลุง รวมถึงคนทำงานในล้งต่าง ๆ โดยล้งใหญ่มีการจ้างงาน 30-50 คน ล้งเล็ก 10-20 คน จ้างคนคัดพลู แยกพลู จัดเรียงใส่บรรจุภัณฑ์ขนาด 27-30 กก. ได้ค่าแรงจำนวน 10 บาท/1 กก. เฉลี่ยแรงงานมีรายได้ประมาณ 500 บาท/วัน” นายสมบูรณ์กล่าว

ปัจจุบันเทศบาลตำบลร่มเมืองถือเป็นแหล่งปลูกพลูรายใหญ่ของ จ.พัทลุง และในภาคใต้ โดยสายพันธุ์พลูที่ปลูกเรียกกันว่า พลูหนัก มีรสชาติเข้มข้นพิเศษ เผ็ดร้อน ไต้หวันมีความต้องการมาก ปัจจุบันภาพรวมการปลูกพลูใน 3 อำเภอของจังหวัดพัทลุง คือ อ.เมือง และ อ.กงหรา จ.พัทลุง คาดว่ามีพื้นที่ปลูกประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งนี้ การปลูกพลูที่ผ่านมาปลูกผสมผสานกับไม้ผล บริเวณบ้าน แนวรั้ว แต่ขณะนี้ได้มีการปรับตัวขยายการปลูกลักษณะแปลงใหญ่เป็นสวนเชิงเดี่ยวเฉพาะพลูมากขึ้น 20-30 ราย ปลูกประมาณ 200 ต้น/ไร่ โดยโค่นต้นยางพาราทิ้ง และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการปลูกพลูสายพันธุ์พลูหนักได้ขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น จ.นครปฐม จันทบุรี ระยอง ฯลฯ โดยมีบางจังหวัดสั่งซื้อยอดพลูหนักเพื่อไปปลูกเป็น 10,000 ยอด ราคายอดพลูเพื่อนำไปปลูกบางปีราคา 10-20 บาทต่อยอด และเคยต่ำสุดประมาณ 5 บาท/ยอด

พลูจันทบุรีส่งไต้หวันดีมานด์พุ่ง

นางสาวจุรียพร วงษ์แก้ว เจ้าของ บริษัท ใบพลู เฮอร์เบิล จำกัด อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปลูกพลูและส่งออกตลาดไต้หวันมา 7-8 ปีแล้ว ใช้พันธุ์พัทลุงที่เป็นพันธุ์ไต้หวันผสมกับทางใต้ ราคายอดละ 15-20 บาท รสชาติไม่เผ็ด หวานกว่าพลูไทย ใบสีเขียว คัดขนาดแบ่ง เล็ก กลาง ใหญ่ ราคาเดียวกัน กิโลกรัมละ 80 บาท ช่วงที่ราคาดีจะเป็นปลาย ๆ ปีตรงกับช่วงหน้าหนาวของไต้หวันที่อากาศหนาวมีหิมะตกปลูกเองไม่ได้ ราคาสูง 80-100 บาท ที่ผ่านมาเคยสูงถึง 240-250 บาท และเคยมีราคาต่ำเหลือ 40 บาท ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ที่ไต้หวันปลูกเองได้ ซึ่งถ้าต่ำกว่านี้จะปลูกไม่ได้ ไม่คุ้มทุน ผลผลิตใบพลูจะมีการแพ็กกิ้งและส่งไปทางเครื่องบินไปลงที่ไทเปในช่วงที่ใบพลูมีราคาดี และส่งทางเรือในช่วงที่ราคาลดต่ำลงต้องใช้เวลา 13 วัน เนื่องจากราคาค่าขนส่งแตกต่างกันมาก

นอกจากตลาดส่งออกไปไต้หวัน ยังมีตลาดอินเดีย ปากีสถาน และยุโรป ที่ยังมีความต้องการใบพลูจำนวนมาก บริษัทจะติดต่อขอซื้อมา แต่ยังไม่สามารถผลิตได้ทัน จึงส่งเฉพาะไต้หวัน 2 แห่ง ซึ่งต้องการให้ส่งสัปดาห์ละ 4 รอบ รอบละ 500-1,000 กิโลกรัม ตอนนี้ทำได้เพียงสัปดาห์ละ 1-2 รอบ รอบละ 500-800 กิโลกรัม โดยมีใบพลูที่ปลูกเอง 8-9 ไร่ ที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และมีระบบเครือข่ายใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราดร่วมด้วย และมีเครือข่ายที่ จ.นครปฐม ทำแพ็กกิ้งส่งออกอีกแห่งหนึ่ง แต่ยังผลิตไม่เพียงพอความต้องการของไต้หวัน ที่ประมาณว่าต้องการพื้นที่ปลูกถึง 200 ไร่ ผลผลิตประมาณ 100 ตัน ตอนนี้มีพื้นที่ของเครือข่ายรวม ๆ ประมาณ 60 ไร่ ผลผลิตเพียง 30 ตัน ยังต้องการเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งการขยายเครือข่ายค่อนข้างยาก เพราะต้องเป็นเกษตรกรที่มีใจรัก สภาพพื้นที่อากาศเหมาะสม และระยะเวลาขนส่งหากในพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นเครือข่ายใช้เวลาเก็บ 2 -3 วัน เสร็จแล้วต้องขนส่งมาทำแพ็กกิ้งที่โรงงาน อ.แก่งหางแมวทันที

“ตลาดไต้หวันต้องการนำเข้าใบพลูจำนวนมาก เพราะความนิยมในกลุ่มคนไต้หวันทั่วไปทั้งกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่นิยมเคี้ยวหมากกันทั้งวัน โดยจะนำไปปรุงแต่งรสใส่ไส้ช็อกโกแลต ดีปลีในลูกหมากขายคำละ 20-30 บาท ทำเป็นกล่องกล่องละ 200-250 บาท หรือ 1,000 บาท ผู้บริโภคจะซื้อทานกันตลอดวันเหมือนดื่มกาแฟ” นางสาวจุรียพรกล่าว

รายงานข่าวจากกรมศุลกากร พบตัวเลขการส่งออกใบพลูของประเทศไทยเฉพาะช่วงปี 2550-2554 โดยปี 2550 ส่งออกไป 26 ประเทศ ปริมาณ 890,924 กก. มูลค่า 20,985,277 บาท ปี 2551 ส่งออกไป 14 ประเทศ ปริมาณ 590,391 กก. มูลค่า 20,157,901 บาท ปี 2552 ส่งออกไป 16 ประเทศ ปริมาณ 591,095 กก. มูลค่า 20,399,031 บาท ปี 2553 ส่งออกไป 14 ประเทศ ปริมาณ 480,509 กก. มูลค่า 16,674,449 บาท ปี 2554 ส่งออกไป 25 ประเทศ ปริมาณ 432,917 กก. มูลค่า 19,938,154 บาท ทั้งนี้ หลังจากปี 2554 ไม่พบตัวเลขการส่งออก ซึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่า หากตัวเลขการส่งออกน้อยจะถูกนำไปรวมกับสินค้าตัวอื่น

แหล่งข่าวในวงการหมากพลูเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ความต้องการพลูในตลาดต่างประเทศสูงมาก โดยเฉพาะไต้หวัน และอินเดีย แต่ตัวเลขการส่งออกเป็นทางการลดลง แสดงให้เห็นว่าการส่งออกพลูอาจจะมีช่องทางส่งออกที่ไม่ได้มีการสำแดงตัวเลขเป็นทางการผ่านระบบ