แห่เลี้ยงหมูรอบใหม่งัดระบบ “แซนด์บอกซ์” คุมโรค ASF

หมู

กรมปศุสัตว์กางแผนทำ “แซนด์บอกซ์” จำกัดพื้นที่โรคระบาดอหิวาต์แอฟริกันหมู ตั้งความหวังขอคืนสถานะปลอดโรคจาก OIE รีเซตระบบเลี้ยงหมู 5,600 ฟาร์ม เจรจา 4 ประเทศเปิดทางส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูป ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูตั้งข้อสังเกต 7 วันแล้วยังไม่พบการระบาดของโรค ASF อีก หวั่นรัฐจ่ายชดเชยให้ผู้เลี้ยงอ่วม ขณะที่ราคาเนื้อแดงยังพุ่งไม่หยุด จูงใจรายย่อย “เสี่ยง” เลี้ยงหมูรอบใหม่ ถึงตายไปครึ่งหนึ่งก็ยังคุ้ม

ผ่านมาได้ 7 วันหลังจากที่กรมปศุสัตว์ออกมา “ยอมรับ” เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีกว่าที่ว่า มีการตรวจพบโรคระบาดร้ายแรง “อหิวาต์แอฟริกันในหมู-ASF” เพียง 1 ตัวอย่างจากโรงเชือดที่ จ.นครปฐม ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการผู้เลี้ยงหมูที่เชื่อว่า โรค ASF ได้ระบาดไปทั่วประเทศก่อนหน้านี้

ทว่าจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีรายงานการตรวจพบโรค ASF ในหมูจากชุดตรวจสอบของกรมปศุสัตว์อีกเลย ในขณะที่รัฐบาลเองก็ได้เร่งอนุมัติงบประมาณ 574,111,263 ล้านบาทให้เป็น “ค่าชดใช้” หมูที่ถูกสั่งฆ่าในการ “ป้องกัน” โรค ASF ในช่วงที่ผ่านมา

ดัน พท.เลี้ยงหมูเฉพาะส่วน

นสพ.โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หลังจากกรมแจ้งต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ผ่านระบบออนไลน์ สถานะของประเทศไทยจะถูกเปลี่ยนไปเป็น “ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค ASF” ทันที ในส่วนกระบวนการขอคืนสถานะปกติจะทำได้หลังจากที่ประเทศไทยสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้แล้ว และต้องเฝ้าระวังหลังจากการป่วยตายของหมูที่เป็น ASF ตัวสุดท้ายไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาเฝ้าระวังไม่ถึง 1 ปี จากนั้นจะดำเนินการขอคืนสถานะได้

“แนวทางการขอคืนสถานะของไทยทำได้ 2 แบบคือ การขอคืนสถานะแบบปลอดโรคทั้งประเทศ หรือ country free zone หรือการขอคืนสถานะแบบ compartment free/regionalization free zone แต่จะใช้รูปแบบใดขึ้นอยู่กับสถานะการเกิดโรคของแต่ละประเทศ ในส่วนของไทยเมื่อเกิดการระบาดเฉพาะจุดก็จัดทำเป็น “ระบบแซนด์บอกซ์” แก้ปัญหาตามแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี และขอคืนสถานะแบบเฉพาะส่วนหรือ regionalization ได้ ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกคาดว่าจะไม่มาก เพราะไม่ใช่ OIE จะห้ามส่งออกหมูเลย แต่การจะมีมาตรการเรื่องการนำเข้าหรือส่งออกใด ๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ” นสพ.โสภัชย์กล่าว

ในระหว่างนี้ กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการ 2 ส่วนคือ การจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรที่ต้องฆ่าหมูที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ASF ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีจำนวน 159,000 ตัว แบ่งการจ่ายชดเชยเป็น 3 งวด ซึ่งเงินชดเชยงวดสุดท้ายคือ เงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อสัปดาห์ก่อนในวงเงิน 574 ล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรผู้ได้รับเงินชดเชยประมาณ 56 ฟาร์ม

แต่ขณะนี้ยังมีหมูที่อยู่ระหว่างการเลี้ยงและยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นโรค ASF หรือไม่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องตรวจสอบ ติดตามและขอจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ซึ่งหากจะชดเชยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือ 75% ของราคาหมู เช่น หมูขุน 1 ตัว ราคา 10,000 บาท ต้องจ่ายชดเชย 7,500 บาท “ก็จะใช้เงินงบประมาณสูงพอสมควร”

“อีกส่วนหนึ่งเรากำลังเร่งฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและการเตรียมเพิ่มจำนวนหมูกลับสู่ตลาด ล่าสุดทางกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินมาตรการสร้างมาตรฐานฟาร์ม โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการกลับมาเลี้ยงที่มีขนาด 500 ตัวขึ้นไปต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ส่วนผู้ที่มีจำนวนการเลี้ยงไม่เกิน 500 ตัว ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสุกร (GFM)

โดยได้จัดทำ “เช็กลิสต์” 8 ด้าน ประกอบด้วย การจัดพื้นที่เลี้ยงและโครงสร้างการจัดการโรงเรือนหรือเล้าและอุปกรณ์ การจัดการยานพาหนะ การจัดการบุคคล การจัดการด้านสุขภาพ การจัดการอาหาร น้ำและยาสัตว์ การจัดการข้อมูล และการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ซึ่งหากผ่านกระบวนการทั้งหมดเกษตรกรก็สามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้ โดยรัฐบาลได้จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 4% จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาปล่อยกู้ให้รายละ 100,000 บาทเบื้องต้นไปก่อน ซึ่งขณะนี้มีฟาร์มที่ได้มาตรฐาน 5,684 ฟาร์ม”

ส่วนทางด้านการส่งออกหมูนั้น ปีนี้ยังคาดว่าประเทศไทยจะส่งออกเนื้อหมูดิบและสินค้าเนื้อหมูปรุงสุก หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูได้ 23,000 ตัน มูลค่า 3,646 ล้านบาท โดยกรมปศุสัตว์จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศที่กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเฉพาะ เช่น สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, ฮ่องกง และอินเดีย เพื่อขอให้มีการส่งสินค้าหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปออกไปให้ได้ตามระเบียบของประเทศนั้น ๆ อาทิ สิงคโปร์ หมูต้องปลอดจากโรค ASF ในหมูอย่างน้อย 3 เดือน, ฮ่องกง หมูมีชีวิตต้องมาจาก พท.ปลอด ASF ในช่วง 12 เดือน ส่วนอินเดีย กำหนดอาจนำเข้าหมูสดจากประเทศที่มีแผนเฝ้าระวังและมีการกำหนดพื้นที่ปลอดโรค ASF ได้

Top 5 ผู้ส่งออกหมู

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมรายชื่อผู้ส่งออกหมูในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤศจิกายน 2564) ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีรายงาน-การสั่งทำลายหมู ตามแผนรับมือโรค ASF เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรค แต่ยังไม่มีประกาศการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย โดยผู้ส่งออกหมูมีชีวิตรายใหญ่ 5 อันดับแรกของประเทศ ได้แก่ หจก.โอเค รุ่งเรือง 999 , หจก.อ.โภคทรัพย์, หจก.วังน้ำเย็น อินเตอร์เทรด, บจก.สิงห์ไทยชิปปิ้ง และ หจก.รักษ์ชายแดน ส่วนผู้ส่งออกเนื้อหมูสดแช่เย็นหรือแช่แข็ง 5 อันดับแรก ได้แก่ บจก.ไอ-ซีวาย ชยา, บจก.อาหารเบทเทอร์, บจก.กาญจนาฟาร์ม, บจก.ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง และ บจก.วี.ซี.มีท โปรเซสซิ่ง (กรุงเทพ)

หวั่นรัฐเงินไม่พอชดเชยรอบใหม่

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงหมูเปิดเผยว่า จำนวนหมูที่อยู่ระหว่างการเลี้ยงและยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะติดโรคระบาดร้ายแรง ASF หรือไม่นั้น คาดการณ์ว่าปัจจุบันจะมีแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว และหมูขุนอีกประมาณ 12-13 ล้านตัว หากหมูจำนวนนี้เกิดโรคร้อยละ 100 คำนวณคร่าว ๆ แล้ว รัฐจะต้องจ่ายค่าชดใช้เฉพาะแม่หมูก็ตกประมาณ 2,400 ล้านบาท แต่หากจะนับรวมหมูขุนทั้งหมดเข้าไปด้วย จะต้องใช้เงินชดใช้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

ส่วนสถานการณ์การเฝ้าระวังและตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงหมูหลังจากพบโรค ASF ในโรงเฉือดที่นครปฐม ของ กรมปศุสัตว์ ด้วยการออกมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายและควบคุมฟาร์มหมูทั่วประเทศอย่างเข้มงวดนั้น ในทางปฏิบัติ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ไม่กล้าออกใบเคลื่อนย้ายให้ฟาร์มหมูขนย้ายหมูข้ามเขตจังหวัด เนื่องจากทราบดีว่า โรค ASF มีการกระจายเชื้อไปทั่วประเทศแล้ว ส่งผลกระทบให้สถานการณ์ขาดแคลนหมูและหมูในพื้นที่ปรับราคาสูงขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นด้วย

เสี่ยงเลี้ยงหมูรอบใหม่

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า ด้วยราคาหมูเนื้อแดงที่ปรับขึ้นไปสูงกว่า กก.ละ 240 บาท และมีแนวโน้มว่าราคาจะขยับเข้าไปใกล้ กก.ละ 300 บาทในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงนี้ ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อย-รายกลางและรายใหญ่บางรายที่ได้รับผลกระทบจากโรค ASF ยอม “เสี่ยง” ที่จะซื้อลูกหมูขุนกลับมาเลี้ยงใหม่ ส่งผลให้ราคาหมูขุนมีชีวิตปรับขึ้นจาก 1,000 กว่าบาทเป็น 3,300-3,600 บาทต่อน้ำหนัก 16 กก.

ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ก็มีความเคลื่อนไหว โดยเริ่มสร้างฟาร์มใหม่ในโลเกชั่นใหม่ ๆ เช่น ลำปาง, พิจิตร, เพชรบูรณ์ ที่ยังเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีรายงานการพบหมูตายเป็นจำนวนมากเพื่อลงเลี้ยงหมูรอบใหม่ยิ่งจะทำให้โรคแพร่ระบาดไปทั่วและยากต่อการควบคุม


ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โรคระบาด ASF “กระทบการส่งออกไม่มาก” เพราะสัดส่วนการส่งออกหมูต่อภาพรวมกลุ่มอาหารไม่มากนัก เช่น แต่ละปีไทยผลิตหมู 19 ล้านตัว ส่งออกเพียง 1 ล้านตัวถือว่า “มูลค่าน้อยมากเป็นหลัก 1,000 ล้านบาท” และภาพใหญ่แต่ละประเทศมีนโยบายเรื่องการนำเข้า-ส่งออกหมูไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศอาจจะไม่ห้ามนำเข้าก็ได้ ส่วนประเทศที่ออกมาประกาศห้ามนำเข้าหมูจะเป็นประเทศที่เลี้ยงหมู อาทิ ไต้หวัน