ประมงร้องศาลปกครอง เพิกถอนประกาศติด AIS

ประมง

ชาวประมงพาณิชย์ผนึกประมงพื้นบ้านกว่า 100 คนใน 6 จังหวัด ร้องศาลปกครองกลาง “เพิกถอน” ประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดเกณฑ์เรือประมงจะใช้ “น้ำมันเขียว” ได้ต้องติดตั้งระบบ AIS ชี้สิ้นเปลืองงบประมาณ ซ้ำซ้อนกับระบบติดตามเรือ VMS ของกรมประมง แถมเพิ่มความเสี่ยงแบไต๋ให้ประมงต่างชาติรู้ “แหล่งทรัพยากรของไทย” กระทบด้านความมั่นคง แถมเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไม่ได้

นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ชาวประมงพาณิชย์ และชาวประมงพื้นบ้านจาก 6 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมประมาณ 100 กว่าคน ได้ร่วมกันยื่นฟ้องอธิบดีกรมสรรพสามิต และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อศาลปกครองกลางให้ “เพิกถอน” ประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ

และเงื่อนไขการเสียภาษีในอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซลที่นำไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรฉบับใหม่ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2565 เนื่องจากมีข้อกำหนดบังคับให้เรือประมงพาณิชย์ที่ต้องการซื้อ “น้ำมันเขียว” ต้องติดตั้งอุปกรณ์สำหรับระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System : AIS) ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ออกประกาศ หรือประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน 2565

ซึ่งที่ผ่านมาชาวประมงหลายจังหวัดได้รวมตัวกันคัดค้านการติดตั้งอุปกรณ์ AIS เพราะตั้งแต่มีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) กรมประมงบังคับให้ติดตั้งระบบ Vessel Monitoring System (VMS) ซึ่งเป็นระบบติดตามเรืออยู่แล้ว ที่สำคัญการติดตั้งระบบ AIS ถือเป็นความเสี่ยงในแง่แหล่งทรัพยากร และด้านความมั่นคง เพราะ AIS เป็นระบบนำร่องสากลใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลได้ ใครมีแอปพลิเคชั่นสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ศาลนัดไต่สวนครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 คาดว่าจะทราบผลการตัดสินไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้

“การยื่นฟ้องครั้งนี้ดำเนินการในนามชาวประมงแต่ละบุคคลเอง ส่วนกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยไม่ได้ร่วมยื่นฟ้องด้วย เราคัดค้านให้ยกเลิกประกาศสรรพสามิตฉบับนี้ออกไปเลย เพราะประกาศไม่ชอบด้วยอำนาจของผู้ประกาศเอง โดยที่ผ่านมาทางกลุ่มชาวประมงได้โต้แย้งกับกรมสรรพสามิตว่า เรือประมงมีอุปกรณ์ VMS อยู่แล้ว เป็นระบบปิด เจ้าของเรือและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะทราบตำแหน่งของเรือได้”

“และให้กรมสรรพสามิตไปประสานกับกรมประมงขอใช้ข้อมูลร่วมกันได้ เป็นการประหยัดงบประมาณ และปลอดภัยด้วย แต่กรมสรรพสามิตบอกคนละหน่วยงานกัน ทั้งที่ตอนมีข่าวจับเรือดัดแปลงคล้ายเรือประมง เท่าที่ทราบทางสรรพสามิต และตำรวจใช้ข้อมูล VMS ของกรมประมง และข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับของคณะกรรมการตรวจสอบน้ำมันเขียวก็ตรวจสอบได้” นายมงคลกล่าวและว่า

สำหรับความเสี่ยงในแง่แหล่งทรัพยากร และด้านความมั่นคงนั้น ถ้าเรือประมงไทยติด AIS จะทำให้เรือประมงต่างชาติทราบว่าเรือไทยอยู่บริเวณใด แหล่งทรัพยากรอยู่ใกล้เขตแดนของประเทศเพื่อนบ้านตรงไหนบ้าง พอเวลาเรือไทยไม่อยู่ เรือประมงต่างชาติสามารถเข้ามาลักลอบทำการประมงได้โดยง่าย รวมถึงฝั่งอันดามันจะมีปัญหาเรื่องภัยจากโจรสลัด สามารถทราบว่าเรือประมงไทยอยู่ตำแหน่งใด อาจจะถูกลักลอบโจมตีได้ ต่างกับระบบ VMS ที่ใช้อยู่เป็นระบบปิด

นอกจากนี้ ประกาศฉบับใหม่ไปตัดสิทธิ์ของประมงพื้นบ้าน จากที่ผ่านมาเรือประมงพื้นบ้านสามารถใช้น้ำมันเขียวได้ตั้งแต่ประกาศออกมาปี 2544 ในการช่วยเหลือชาวประมง ไม่ได้แบ่งว่าจะเป็นประมงพื้นบ้าน หรือประมงพาณิชย์ แต่ประกาศฉบับนี้ที่ออกมาได้กำหนดเงื่อนไขว่าคนที่จะใช้น้ำมันเขียวได้เฉพาะเรือประมงที่มีใบอนุญาตประมงพาณิชย์เท่านั้น ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านหลายร้อยลำที่เคยได้รับสิทธิ์จะถูกตัดสิทธิ์ออกไป

นายมงคลกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาเคยเสนอทางออกกับทางกรมสรรพสามิตว่า ปัจจุบันเรือประมงพาณิชย์ของไทย มีประมาณ 9,000 กว่าลำ ติด VMS เฉพาะเรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป มีประมาณ 4,000 กว่าลำก็ให้กรมสรรพสามิตไปประสานกับกรมประมงขอใช้ข้อมูลร่วมกันได้ ส่วนเรือประมงขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ยังไม่ติด VMS ประมาณ 4,000 ลำ ก็ให้กรมสรรพสามิตนำงบประมาณส่วนนี้ไปซื้อติดให้ ประหยัดงบประมาณไปได้มาก

ที่ผ่านมาการติดตั้งระบบ VMS เรือประมงต้องจ่ายค่าเครื่องประมาณ 20,000-30,000 บาท จ่ายค่ารายเดือนอีกประมาณ 1,100-1,200 บาทต่อลำ ขณะที่การติดตั้ง AIS กรมสรรพสามิตติดตั้งให้ฟรี ไม่มีค่ารายเดือน แต่หากชาวประมงทำเครื่อง AIS เสียหายจากความประมาทของเจ้าของเรือ ต้องรับผิดชอบเอง ประเด็นนี้ต้องตีความกันว่า กรณีใดถือเป็นความประมาท กรณีใดเป็นอุบัติเหตุ เพราะอุปกรณ์ AIS ราคาสูงมาก ตนไม่ทราบราคาที่ชัดเจน แต่คำนวณจากการประมูลซื้อเครื่องลอตแรก 2,300 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 254 ล้านบาท ถ้าหารเฉลี่ยตกเครื่องละเกือบ 1 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม การติด AIS ไม่ได้ป้องกันการลักลอบขนน้ำมันได้ เนื่องจากการบังคับติด AIS เฉพาะในเรือประมง แต่ปัจจุบันเรือที่ลักลอบขนน้ำมันเถื่อนที่จับได้เป็นเรือดัดแปลงคล้ายเรือประมง ซึ่งไม่ใช่เรือประมงในกลุ่มที่ออกประกาศบังคับให้ติด AIS มันเป็นเรือที่อยู่นอกเหนือกฎหมายจะเข้าไปควบคุม ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและแก้ปัญหาการลักลอบใช้น้ำมันได้อยู่ดี ทั้งนี้ หากจะมีเรือประมงบางคนแตกแถวไปลักลอบค้าน้ำมัน ทางกลุ่มประมงยินดีให้การตรวจสอบ แต่ต้องไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้น แต่ขอเป็นระบบที่ปลอดภัยในการทำมาหากิน

“สรรพสามิต” ยัน AIS ปิดช่องโหว่น้ำมันเถื่อน

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีการไล่จับเรือที่ขายน้ำมันเถื่อนในทะเล และไปตรวจค้นสมาคมประมง ซึ่งพบหลักฐานการทุจริตจำนวนมาก สมาคมประมงมีการทุจริตเรื่องการออกรหัสเติมน้ำมัน ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันก็ขายน้ำมันให้กับผู้ไม่มีสิทธิ ฉะนั้น กรมสรรพสามิตในฐานะที่เป็นประธานในการกำกับดูแลน้ำมันเขียว

จึงได้ออกประกาศให้เรือประมงติดระบบสำแดงตัวตนอัตโนมัติ (AIS) เพื่อมาดูแลปัญหาโดยระบบดังกล่าวไม่ได้เป็นระบบเดียวกันกับของกรมประมง ซึ่งกรมประมงใช้ระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) เพื่อทำประมง แต่ระบบ AIS ที่สรรพสามิตใช้นั้น เป็นระบบยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้มีสิทธิที่จะเติมน้ำมันประมง หรือน้ำมันเขียว

“หลังจากที่เราออกแนวทางมาดูแล ผู้ที่เคยทุจริตก็จะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ จึงมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องเกิดขึ้น โดยเป็นกลุ่มคนประมงภาคตะวันออก เช่น ตราด จันทบุรี ซึ่งปัจจุบันสมาคมประมงก็มีการเลือกคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว แต่เบื้องหลัง สมาคมประมงมีสมาคมย่อย ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ 60 สมาคม”

“โดยมี 40 กว่าสมาคมอยู่กับคณะกรรมการชุดใหม่ ยินดีเข้าร่วมระเบียบที่กรมออกประกาศขึ้น แต่เหลือเพียง 10 สมาคมเล็ก ๆ ยังคัดค้านในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดิมที่เคยทำผิด แต่กรมยังยืนยันที่จะเดินหน้าในเรื่องการใช้ระบบ AIS เพราะเราเห็นช่องโหว่ หากไม่ดำเนินการเลยก็มีความเสี่ยงที่จะมีโทษ ฐานละเว้นเช่นกัน”

สำหรับการออกประกาศบังคับใช้ระบบ AIS กรมก็ได้มีการออกระเบียบไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้จะต้องปฏิบัติอย่างไร และสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมก็ได้เข้ามาหารือร่วมกับกรมเรื่องแนวทางในการดำเนินการแล้วและการติดตั้งระบบดังกล่าวก็ไม่มีต้นทุนให้กับเรือประมงด้วย โดยกรมสรรพสามิตดำเนินการติดตั้งให้ฟรี โดยใช้งบประมาณในการลงทุนติดตั้งให้กว่า 200 ล้านบาท แต่ก็ยังคุ้มค่า

เพราะในแต่ละปีกรมสรรพสามิตเว้นภาษีน้ำมันเขียวให้กับเรือประมงกว่า 4,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้กรมก็เห็นการทุจริตจากเรือที่ไม่มีสิทธิเติมน้ำมัน แต่ก็ไปลักลอบเติมกว่า 1,000 ลำ ทั้งนี้ คาดว่าการนำระบบดังกล่าวมาใช้จะประหยัดงบประมาณในการเว้นภาษีให้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท

“ปัญหานี้ก็มีมานานแล้ว ก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดที่จะนำฟลีตการ์ดมาใช้ แต่เรือประมงไม่เห็นด้วย เนื่องจากการใช้ฟลีตการ์ดมีต้นทุน เป็นลักษณะแบบเดบิตการ์ด ต้องเติมเงินเข้าไปก่อน โดยเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับเรือประมง เราจึงลดปัญหาในเรื่องนั้น และลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งกรมก็คาดว่าจะลดความคุ้มค่าให้กับน้ำมันเขียว โดยเรือที่ไม่มีสิทธิก็จะไม่สามารถเติมน้ำมันได้แล้ว”

“โดยเราไม่ได้ควบคุมเฉพาะเรือประมงอย่างเดียว ยังรวมถึงเรือบรรทุกน้ำมันด้วย โดยน้ำมันที่รับเข้ามา กับน้ำมันที่จ่ายออกให้เรือประมงจะต้องมียอดการจ่ายตรงกัน หากไม่ตรงกันเราก็จะไปปรับเรือขายน้ำมันได้ ซึ่งเป็นระบบที่เราเอาไว้ใช้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง”