สปสช. เพิ่มการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดด้วยวิธี EVT เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลัน
วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 สปสช.เพิ่มการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดด้วยวิธี EVT เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลันที่เข้าเกณฑ์การรักษา ไม่ว่าจะมีข้อห้ามในการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่ก็ตาม
หลังการศึกษาเรื่อง “การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลันผ่านสายสวนหลอดเลือดด้วยวิธี endovascular treatment ในประชากรไทย” ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า การนำวิธีการรักษาแบบสายสวนหลอดเลือดด้วยวิธี EVT เข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณเพิ่มสำหรับผู้ป่วย 2,000 รายต่อปี รวมทั้งสิ้น 887 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ภายใต้ศักยภาพระบบบริการของประเทศไทยที่สามารถทำได้
ส่วนความพร้อมของการให้บริการและทำหัตถการด้วย EVT ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ให้บริการ EVT ได้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 52 แห่ง แบ่งเป็นภาคกลาง 40 แห่ง ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออก 1 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
ขณะที่แพทย์ที่สามารถทำหัตถการดังกล่าวได้มีทั้งหมด 50 คน ประกอบด้วย รังสีแพทย์จำนวน 22 คน ประสาทศัลยแพทย์ 21 คน และอายุรแพทย์ สาขาประสาทวิทยา 7 คน (ข้อมูลเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) โดยอนาคตคาดว่าจะสามารถอบรมแพทย์หลักสูตรอนุสาขารังสีร่วมรักษาระบบประสาทได้จำนวน 8 ตำแหน่งต่อปี และหลักสูตรศัลยแพทย์หลอดเลือดสมองและไขสันหลัง 2-3 ตำแหน่งต่อปี
ทั้งนี้ ราคาเบิกจ่ายที่เหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับ Thrombectomy และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ร่วมด้วยอยู่ที่ 73,800 บาทต่ออุปกรณ์ 1 ชุด ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดที่บริษัทผู้ผลิตหรือจำหน่ายเสนอให้ภาครัฐ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้เรื่องดังกล่าวอยู่ในแผนการให้บริการ (Service plan) ของกระทรวง โดยกำหนดให้ทุกเขตสุขภาพต้องมี Thrombectomy อย่างน้อย 1 แห่ง
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันระยะเฉียบพลันเป็นหนึ่งในสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป็นตัวชี้วัดหลัก โดยได้กำหนดแนวทางในการรักษาผู้ป่วยแบบเร่งด่วน (Fast track) ไว้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ