ทุ่มหมื่นล้านปั้นบิ๊กซีลุย CLMV BJC เปิดเกมจับมือตปท.ลงทุนรอบทิศ

บีเจซีโกยรายได้ปี 2561 ทะลุเป้า 1.5 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มความหลากหลายสินค้า-นวัตกรรมใหม่รับเทรนด์ลูกค้า เล็งทุ่มงบฯหมื่นล้าน ขยายสาขาบิ๊กซี ปักธงกัมพูชา-ลาว พร้อมเดินหน้าลงทุนตลาดต่างประเทศรองรับการเติบโตต่อเนื่อง

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 5% หรือมีรายได้ประมาณ 156,142 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 7,000 บาท โดยแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก 70% ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 14% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 11% และกลุ่มเวชภัณฑ์ 5% เนื่องจากปีที่ผ่านมาบีเจซีได้พัฒนาทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน

โดยได้เปิดศูนย์กระจายสินค้ามินิบิ๊กซีแห่งใหม่ที่ธัญบุรี เพื่อรองรับการขยายตัวของสาขา รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขนส่งให้มีประสิทธิภาพขึ้น และยังได้เปิดเตาแก้วใหม่ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแก้วเพิ่มขึ้น 400 ตันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบีเจซีเป็นผู้ผลิตแก้วที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 4,000 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องหาลูกค้าและหาตลาดใหม่จากต่างประเทศ เพื่อเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แก้วด้วยการพัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ มาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้มีมาตรฐาน และการเข้าไปร่วมมือด้านกำลังการผลิตกับผู้ร่วมทุนในต่างประเทศ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันบีเจซีมีกิจการที่ร่วมทุนในประเทศมาเลเซียกับบริษัทโอเว่น อิลลินอยส์ ในประเทศเวียดนามกับบริษัทโอเว่น อิลลินอยส์ และบริษัทซาเบโก้

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในการทำธุรกิจดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกทั้ง 3 ราย ได้แก่ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และซีพี ออลล์/แม็คโคร ซึ่งทุกรายมีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย และมีเครือข่ายทั่วประเทศ ดังนั้น บริษัทจึงพัฒนาแบรนด์บิ๊กซีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้นด้วยการขยายสาขาบิ๊กซีให้ครอบคลุม ได้แก่ บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 8 สาขา มินิบิ๊กซี 168 สาขา ร้านขายยาเพรียว 5 สาขา รวมถึงบิ๊กซี ฟู้ดเพลซ เป็นร้านค้ารูปแบบใหม่ที่เน้นขายอาหารสด และอาหารพร้อมทาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้ากลุ่มคนเมือง

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2562 บริษัทยังคงเน้นพัฒนาสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น กลุ่มขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มกาโตะ กลุ่มผลไม้บรรจุภัณฑ์ และกลุ่มปาร์ตี้แดรี่ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย แคมเปญ/โปรโมชั่นลดราคา ส่งผลให้บริษัทต้องทำการตลาดสร้างการรับรู้ในแบรนด์สินค้า และเตรียมนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีกลุ่มสินค้าหลากหลาย และเป็นที่ต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมกับปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ หรือตราสินค้าให้ทันสมัยขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งอันดับที่ 2 ของตลาดขนมขบเคี้ยว

พร้อมกันนี้ บริษัทมีแผนใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสาขาบิ๊กซีทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และกลางปีนี้มีแผนจะเปิดห้างบิ๊กซีในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตที่กัมพูชาและลาว ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปีจะสามารถขยายห้างบิ๊กซีในประเทศซีแอลเอ็มวีได้ไม่ต่ำกว่า 10 สาขา พร้อมทำการตลาดผ่านกลยุทธ์หลัก ได้แก่ มีราคามาตรฐาน บริการลูกค้าด้วยใจ และเข้าใจลูกค้า โดยปัจจุบันบิ๊กซีทุกรูปแบบมีประมาณ 1,500 สาขา แบ่งเป็นในประเทศไทย 1,000 สาขา และต่างประเทศ 500 สาขา

ด้านตลาดต่างประเทศ บีเจซีได้สร้างฐานการผลิตอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในประเทศเวียดนามด้วยการบริหารจัดการเครือข่ายร้านเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต จำนวน 19 สาขา ซึ่งในอีก 1-2 ปีมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา ภายใต้งบฯลงทุนเฉลี่ยสาขาละประมาณ 200-300 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ต่อด้วยประเทศกัมพูชา ปัจจุบันได้เดินหน้าหาโอกาสทำธุรกิจการค้าและการลงทุนในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น โรงงานกระดาษทิสชูเซลล็อกซ์ และน้ำมันปาล์ม ยังต้องขยายธุรกิจทางการค้าและลงทุนในตลาดกัมพูชาต่อไป ส่วนประเทศลาวจะเน้นขยายธุรกิจค้าปลีก ปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อเอ็มพ้อยท์มาร์ทในเวียงจันทน์ และมีแผนพัฒนาสินค้าประเภทกาแฟอราบิก้า ซึ่งเป็นผลผลิตจากไร่กาแฟทางตอนใต้ของ สปป.ลาว เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดกาแฟอีกด้วย

รวมถึงประเทศจีนถือว่าเป็นประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจเติบโต ทั้งเรื่องการส่งออกของจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น บีเจซีจึงต้องเพิ่มสัดส่วนทางการค้ากับจีนโดยได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนที่เมืองกว่างโจว เพื่อทำการจัดซื้อ จัดหาสินค้าใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพและตรงกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค และยังเป็นลู่ทางสำหรับการลงทุนในอนาคต


นายอัศวินย้ำว่า เครือข่ายที่กว้างขวางของบีเจซีในภูมิภาคยังเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อแนะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดต่างประเทศผ่านการจับคู่ธุรกิจโดยตัวแทนของบริษัทในประเทศนั้น ๆ คาดว่าจะช่วยสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยเพื่อการขยายตัวเข้าสู่การเติบโตในภูมิภาคอาเซียนได้