“อริยะ พนมยงค์” กู้วิกฤต…พลิกรายได้ ช่อง 3

สัมภาษณ์

ป้าหมายใหญ่ เป้าหมายเดียวของ “อริยะ พนมยงค์” หัวเรือคนใหม่แห่งช่อง 3 คือการพลิกรายได้ให้กลับมาเติบโตเร็วที่สุด หลังจากก่อนหน้านี้ที่ต้องเผชิญวิกฤตหนักจากการขาดทุน 311 ล้านบาท ในรอบ 48 ปี

ตัวเลขการขาดทุนที่เกิดขึ้นประดังประเดเข้ามาจากหลาย ๆ ตัวแปรที่เพิ่มขึ้น ทั้งพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป เรตติ้งลดลง เม็ดเงินโฆษณาก็ถูกช่องใหม่และสื่อออนไลน์แย่งไปเรื่อย ๆ ซึ่งสวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการแบกภาระค่าใช้จ่ายจากทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่องที่บีอีซีถือใบอนุญาตอยู่

การเข้ามาของ “อริยะ พนมยงค์” อดีตกรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย และผู้จัดการประจำประเทศไทย กูเกิล (Google) ในฐานะกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จึงเปรียบเสมือนความหวังที่จะมาช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ และสู้กับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruption) ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการสื่อ

“อริยะ” ประกาศถึงกลยุทธ์หลักในการสร้างการเติบโตให้แก่บีอีซี ว่า แบ่งออกเป็น 2 แผนหลัก คือ แผนระยะสั้น และแผนระยะยาว

สำหรับแผนระยะสั้น มีเป้าหมายเพื่อฟื้นรายได้ให้กลับมา เริ่มด้วยการเจาะตลาดออนไลน์และหารายได้จากช่องทางนี้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการปรับแพ็กเกจการขายโฆษณาใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเจาะเข้าถึงลูกค้า (สินค้า) เพราะตัวเลขเรตติ้งทีวีตอนนี้ไม่ได้สะท้อนถึงคนดูทั้งหมดของช่อง 3 เนื่องจากยังไม่มีวิธีคำนวณที่ชัดเจน จากจำนวนคนที่หันไปดูคอนเทนต์ผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนดูช่อง 3 ไม่ได้มีอยู่แค่หน้าจอทีวีเท่านั้น แต่ยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่กระจายกันอยู่บนออนไลน์ด้วย โดยทิศทางจากนี้บริษัทจะให้น้ำหนักกับทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งไลน์ทีวี เฟซบุ๊ก ยูทูบ รวมถึงเว็บไซต์ของช่อง 3 และแอปพลิเคชั่นรับชมคอนเทนต์ของช่อง 3 บนออนไลน์ในชื่อ “เมลโล่” (Mello) ด้วย เพื่อดึงรายได้คืนให้ได้มากที่สุด

ส่วนแผนระยะยาวมีเป้าหมายการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่บริษัทมี ทั้ง ดารานักแสดง ละคร โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือการเดินหน้าขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน และมีแผนจะพัฒนาตัวเองเป็นโอทีที (over the top) หรือการจ่ายเงินเพื่อรับชมคอนเทนต์ชั้นนำของไทยด้วย

“อริยะ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคนไทยรับชมวิดีโอคอนเทนต์ (VDO content) ติดอันดับ 6 ของโลก ขณะที่แพลตฟอร์มโอทีทีจากต่างประเทศก็เข้ามาเจาะตลาดไทยมากขึ้น ทำให้ตลาดนี้คึกคัก แต่ในแง่พฤติกรรมผู้ชมไทยยังไม่คุ้นชินกับการจ่ายเงินเพื่อรับชมคอนเทนต์ ประกอบกับปัจจุบัน 90% ของผู้ใช้มือถือในไทยก็ยังใช้ระบบเติมเงิน ซึ่งเฉลี่ยแค่ 100 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน

ดังนั้น การจะทำให้คนยอมจ่ายเงินเพื่อดูคอนเทนต์ล่วงหน้าก็คงไม่ง่าย และถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับตลาดไทย แต่ตลาดจีนมีความพร้อมแล้ว เพียงแต่บริษัทก็ต้องปรับกระบวนการผลิตต่าง ๆ ใหม่ด้วย เพราะตลาดจีนมีเรื่องโควตาในการนำคอนเทนต์เข้าไปฉาย และระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด

แม่ทัพใหญ่ช่อง 3 ย้ำว่า เป้าหมายระยะยาวจะไม่มองแค่ตลาดไทย แต่มองถึงตลาดโอทีทีระดับโลกด้วย เพราะวันนี้คู่แข่งขันของเรา คือ แพลตฟอร์มระดับโลก และการเดินหน้าสู่ตลาดโอทีทีก็เป็นอีกโอกาสในการสร้างรายได้ในอนาคต

ขณะที่ประเด็นร้อนที่ว่าจะมีการคืนช่องทีวีดิจิทัลหรือไม่นั้น “อริยะ” ยังแบ่งรับแบ่งสู้ จะคืนหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับมาตรการเยียวยาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

อย่างไรก็ตาม แต่หากบริษัทจะเดินหน้าต่อก็ยังไหว เพราะ กสทช.จะช่วยจ่ายค่าโครงข่ายให้ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออีก 9 ปี 6 เดือน และไม่ต้องจ่ายค่างวดที่เหลืออีก 2 งวด เท่ากับว่าจะประหยัดเงินลงทุนได้อีกประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท

การเร่งปิดทุกจุดอ่อน เติมรายได้ให้เร็วที่สุด พร้อมแบกความคาดหวังครั้งสำคัญของผู้ถือหุ้นไว้ กลายเป็นภารกิจใหญ่สุดท้าทายของแม่ทัพคนใหม่ แม้จะยากแต่ก็ต้องทำให้ได้