5หมื่นโรงงานเร่งผลิตเพิ่ม รับมือคนแห่ตุนสินค้า บิ๊กคอนซูเมอร์ยันสต๊อกเพียบ

โรงงานผลิตอาหาร 53,000 แห่ง สยบข่าวลือ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตเต็ม 100% รับมือคนแห่ตุนสินค้า “ข้าวสาร-ปลากระป๋อง-บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ประสานเสียง สต๊อกเพียบ สมาคมอาหารสำเร็จรูปย้ำอย่าแตกตื่น ด้าน “สมคิด” เรียก 5 ค่ายธุรกิจยักษ์ “ไทยเบฟ-สหพัฒน์-ยูนิลีเวอร์-ซี.พี.-เซ็นทรัล” เร่งผลิตสินค้า

ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 30 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขยับเกินกว่า 177 ราย และมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนรัฐบาลต้องออกมาตรการให้ “ปิด” สถานบริการในกรุงเทพฯและปริมณฑล 14 วัน รวมถึงเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลและบุคลากรทั่วประเทศ ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาประชาชนตื่นตระหนกจนเกิดภาพการแห่ซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค

กรมการค้าภายในยันสินค้าไม่ขาดตลาด

ล่าสุด กรมการค้าภายใน โดยนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค 56 ราย เพื่อติดตามสถานการณ์จากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารแห้ง, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ข้าวสาร, ปลากระป๋อง, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง-น้ำยาฆ่าเชื้อ และกระดาษทิสชู เพิ่มขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์สินค้าหายจากชั้นวางของในห้างโมเดิร์นเทรด ผลการประชุมผู้ประกอบการสินค้ายืนยันและให้ความมั่นใจว่า “สินค้ายังมีเพียงพอ มีสต๊อกใช้ต่อเนื่องไปถึง 3 เดือน และยังเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่ใช้อยู่ 70% ให้เป็น 100% ได้อย่างแน่นอน”

“จากการลงพื้นที่ห้างแม็คโคร สาขานครอินทร์ พบว่ายังมีประชาชนเดินทางเข้าซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่ลดลงกว่าช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา โดยผู้บริหารห้างแม็คโครยืนยันว่า ได้จัดเตรียมสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ มีการเพิ่มสินค้าบนชั้นวางให้เร็วขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่ง อีกทั้งได้มีการเพิ่มช่องทางผ่านการขายผ่านออนไลน์และดีลิเวอรี่ด้วย”

5 หมื่น โรงงานพร้อมเพิ่มกำลังผลิต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ผู้ผลิตสินค้ายืนยันว่าสินค้าไม่ขาดตลาด ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตกใจ เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตอาหารส่งออกอันดับ 11 ของโลก มูลค่าการค้าอาหารในประเทศปีละ 2 ล้านล้านบาท ส่งออกปีละ 1 ล้านล้านบาท ทั้งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มรวม 53,642 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเบื้องต้น 43,725 โรงงาน, โรงงานแปรรูปอาหาร 9,102 โรงงาน และโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 815 โรงงาน

ปัจจุบันโรงงานเหล่านี้ใช้กำลังการผลิตอยู่ราว 70% เพิ่มกำลังการผลิตได้ 100% และจากการสำรวจสมาชิกพบว่า มีการผลิตและมีการสต๊อกเพียงพอแน่นอน โดยเฉพาะ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” และได้สอบถามไปยังสมาชิกที่เป็นโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้รับคำยืนยันว่ามีกำลังการผลิตรวม 10 ล้านซองหรือ 70% ของกำลังการผลิต และเพิ่มเป็น 15 ล้านซอง/วันได้หากความต้องการเพิ่มขึ้น มีการสต๊อกวัตถุดิบ-แป้งสาลีสำหรับใช้ในการผลิตบะหมี่นาน 3-9 เดือน

“ขอประชาชนอย่าห่วงเรื่องการขาดแคลนอาหาร ขณะนี้การผลิตแปรรูปและเก็บรักษาได้ดีกว่าเดิม ขอเพียงอย่าปิดถนน ห้ามรถบรรทุกส่งของทั้งวัตถุดิบเข้าโรงงาน และส่งสินค้าสำเร็จรูปไปจุดขาย อย่าห้ามบริการ food delivery อย่าให้โรงงานผลิตอาหารหยุดผลิต เท่านั้น ส่วนการปิดสถานบริการ-โรงเรียน-มหาวิทยาลัย 14 วัน (18-31 มีนาคม 2563) ไม่กระทบการขนส่งอาหาร หากคนเดินทางไปทำงานได้ รถขนส่งสินค้าก็ไปได้”

ปลากระป๋องไม่ขาด

นายไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” และ “ปลายิ้ม” ยืนยันว่า สินค้าของบริษัทมีเพียงพอกับความต้องการ และตอนนี้ได้เพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 800,000 กระป๋อง/วัน เพื่อสต๊อกและทยอยจัดส่งไปยังช่องทางจำหน่ายต่าง ๆ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี รวมทั้งยี่ปั๊วซาปั๊วและร้านค้าปลีกทั่วไป

“ภาพที่ปรากฏตามโซเชียลว่าปลากระป๋องขาดตลาด ไม่มีวางขายบนเชลฟ์ เนื่องจากคนแย่งซื้อและกักตุน น่าจะเกิดจากการเติมสินค้าบนเชลฟ์ไม่ทันมากกว่า ขอให้มั่นใจว่า สินค้าไม่ขาดตลาดแน่นอน”

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋อง แบรนด์ซูเปอร์ซี เชฟ (Super-C-Chef) กล่าวว่า หากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตปลากระป๋องกลุ่มซาร์ดีนและแมกเคอเรลได้จาก 150,000 หีบต่อเดือนเป็น 200,000 หีบต่อเดือน (หีบบรรจุ 100 กระป๋อง) เพื่อรองรับความต้องการได้และไม่มีการปรับราคาสินค้า ส่วนการกระจายสินค้าได้มีการประสานกับผู้จัดกระจายสินค้าของแต่ละห้าง มีตารางส่งมอบอยู่แล้ว “ไม่มีปัญหา”

เช่นเดียวกับนายยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ไวไว” กล่าวว่า บริษัทมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน และเร่งเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเท่าตัวเพื่อรองรับออร์เดอร์จากค้าปลีกที่สั่งของเข้ามาทุกวัน

ข้าวถุงไม่สะเทือน

นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตข้าวถุงแบรนด์ “มาบุญครอง” กล่าวว่า การผลิตข้าวถุงขณะนี้ “ยังเป็นปกติ” ประเทศไทยมีปริมาณข้าวเพียงพอต่อความต้องการบริโภคแน่นอน เพราะปริมาณผลผลิตข้าวแต่ละปีมากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ และส่วนใหญ่คนไทยบริโภคข้าวหอมมะลิปีละ 6 ล้านตัน ทั้งในครัวเรือนและร้านอาหาร

“ปีนี้นักท่องเที่ยวลดลง แม้ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง แต่ก็ไม่กระทบ มีเพียงตลาดข้าวขาวที่ความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะจีนปิดประเทศทำให้ไม่สามารถส่งออกข้าวไปขายแอฟริกาได้ แอฟริกาก็มีการสั่งซื้อข้าวนึ่งและข้าวขาวเข้ามาทำให้ราคาข้าวขาวปรับสูงขึ้น แต่ข้าวชนิดนี้ไม่ใช่ชนิดหลักที่คนไทยบริโภค เราบริโภคข้าวหอมมะลิ ส่วนราคาขายส่งข้าวถุงที่ขายให้ห้าง ฟิกซ์ราคาขายส่งไว้แล้ว 2 เดือนล่วงหน้าเฉลี่ยราคาถุงละ 130-200 บาทขนาด 5 กก. แต่การส่งมอบจะทยอยส่ง เพราะห้างโมเดิร์นเทรดลดการสต๊อกข้าวถุงเหลือแค่ 1-2 สัปดาห์ จากอดีตที่เคยสต๊อกนานถึง 1 เดือนจึงเติมของลงบนชั้นไม่ทันบ้าง แต่ราคาข้าวถุงเรายังไม่ได้ปรับขึ้น”

ทั้งนี้ตลาดข้าวถุงมีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่มีการแข่งขันสูง มีผู้ผลิตแบรนด์ต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะข้าวตราฉัตร หงษ์ทอง และมาบุญครอง เป็นผู้นำตลาดรวม 3 ราย มีส่วนแบ่งตลาด 40-50% รองลงมาได้แก่ ข้าวเบญจรงค์, พนมรุ้ง, ดอกบัว, ปิ่นเงิน, พันธุ์ดี และข้าวแสนดี เป็นต้น

ยักษ์ค้าปลีกยืนยันของไม่ขาด

ด้านนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร กล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้ว่า มีลูกค้าเพิ่มมากกว่าปกติในสาขากรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดไม่ได้เพิ่มมาก สินค้าที่มีความต้องการสูง ได้แก่ หน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ปลากระป๋อง, ไข่ไก่, น้ำมันพืช และกระดาษชำระ ได้สั่งให้เร่งเติมสินค้าให้รวดเร็วและเพียงพอ

“ประชาชนไม่ต้องกังวล บริษัทมีสต๊อกเตรียมไว้อย่างน้อย 15-30 วัน”

นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมรับมือการซื้อสินค้ากักตุน ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งกลุ่มอาหาร เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม รวมถึงกลุ่มอุปกรณ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาทำความสะอาด เจลล้างมือ ขณะที่นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ยืนยันว่า เตรียมความพร้อมด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไว้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่อง อาหารแช่แข็งและแช่เย็น ทั้งได้จัดเตรียมสต๊อกสินค้าและมีการสั่งสินค้าเพิ่มอย่างต่อเนื่องในกรณีที่มีความต้องการเข้ามามากขึ้น

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทย ยืนยันเช่นกันว่า ไม่มีปัญหาสินค้าขาดแคลน เนื่องจากสถานการณ์ในวันนี้ โรงงานกำลังการผลิตสินค้ายังอยู่ระดับ 70% สต๊อกสินค้ากว่า 15-30 วัน ข้าวสารถุง มีสต๊อกอยู่ถึง 3 เดือน ถนนหนทางก็พร้อม สามารถขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความตระหนกตกใจของผู้บริโภค จึงเกิดลักษณะ panic buying จึงมีการซื้อสินค้าจำนวนมากกว่าปกติ และทำให้สินค้าหมดไปจากชั้นวางสินค้ารวดเร็ว พนักงานเติมเต็มสินค้าไม่ทัน แต่การขาดพร่องไปเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ชั่วคราว วันรุ่งขึ้นก็มีสินค้ามาเติมเต็มชั้นวางจนเต็มเหมือนเดิมทุกวัน

ต่างกับสถานการณ์ช่วงน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งโรงงานถูกน้ำท่วม ผลิตสินค้าไม่ได้ ศูนย์กระจายสินค้าของห้างค้าปลีกทั้งหลายถูกน้ำท่วม ถนนหนทางเสียหายจากน้ำท่วม ขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าไม่ได้

ตจว.มีสต๊อก 30-60 วัน

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ หรือประธานกรรมการ ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าความตื่นกลัวเรื่องโควิด-19 ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาซื้อสินค้าจำเป็นต่าง ๆ เพื่อกักตุนบ้าง โดยส่วนตัวยืนยันว่า ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ทุกค่ายมีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ ตามปกติจะมีการสต๊อกสินค้าไว้เพื่อให้เพียงพอกับการจำหน่าย ซึ่งแต่ละประเภทจะสต๊อกไว้มากน้อยไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ย 30-60 วัน และซัพพลายเออร์ก็จะส่งสินค้ามาเสริมเป็นระยะ ๆ จึงไม่ต้องกังวลว่าสินค้าจะไม่มีหรือสินค้าจะขาด โรงงานแต่ละแห่งยังมีกำลังการผลิตเหลืออีกมาก

“ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในต่างจังหวัดหรือระดับอำเภอก็จะมีโกดังสต๊อกสินค้าไว้ทุกราย 30-60 วัน จึงไม่ต้องกังวลหรือเป็นห่วงว่าสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพจะขาดตลาด”

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจงว่าว่าเมื่อวันที่ 18 มีนาคมนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ), ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ ไทยเบฟเวอเรจ, สหพัฒน์, ยูนิลีเวอร์, ซี.พี., เครือเซ็นทรัล เพื่อประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 และการผลิตสินค้ารองรับความต้องการใช้ของผู้บริโภคที่เกิดการแห่กักตุนสินค้าอยู่ในขณะนี้

ทางด้านนายสมคิดกล่าวในการประชุมหารือผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ ไทยเบฟเวอเรจ สหพัฒน์ ยูนิลิเวอร์ ซีพี เครือเซ็นทรัล และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งตนได้สั่งการให้ประกอบการโรงงานสิ่งทอ ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า จำนวน 10 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนภายในสัปดาห์หน้า ลดความกังวลว่าหน้ากากจะมีไม่เพียงพอ โดยจะกำหนดพื้นที่แจกหลักไว้ที่ ร้านค้าสะดวกซื้อ สถานีน้ำมัน และสาขาของธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวยังต้องหารือช่องทางที่เหมาะสมก่อน คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่