ศุภลักษณ์ อัมพุช วอนรัฐกล้า “คลายกฎ” เคลื่อน ศก.เต็มสูบ

สัมภาษณ์พิเศษ

ระบบเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก และโอกาสที่สูญเสียไปจากการล็อกดาวน์ ได้สร้างอิมแพ็กต์มหาศาลต่อภาคธุรกิจ ทั้งโรงแรม ค้าปลีก ร้านอาหาร ฯลฯ จากการปิดให้บริการชั่วคราว ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งกระทบกับคนในแวลูเชนนี้หลายล้านคน ทั้งพนักงาน ที่โดนเลย์ออฟ ลดเงินเดือน ซัพพลายเออร์ ลูกจ้างในโรงงาน ฯลฯ

แม้ในวันนี้ภาครัฐจะผ่อนปรนการคลายล็อกภาคธุรกิจในเฟส 2 ให้หลายธุรกิจเปิดทำการได้อีกครั้ง รวมไปถึง “ห้างสรรพสินค้า” และ “ศูนย์การค้า” ที่กลับมาเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังถูกจำกัดเวลาเปิด-ปิด 10 โมง-2 ทุ่ม แม้ว่าตอนนี้จะมีการขยับเวลาเคอร์ฟิวจาก 23.00-04.00 น. เหลือเพียง 00.00-03.00 น. แล้วก็ตาม

แต่การกลับมาคราวนี้ต้องยอมรับว่า ธุรกิจยังไม่สามารถรีสตาร์ตได้อย่างเต็มที่ เพราะมาตรการต่าง ๆ ยังขาดความเข้าใจในวงจรธุรกิจ และวิถีชีวิตของผู้บริโภค

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “คุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำภาคธุรกิจที่ได้รับจดหมายขอความร่วมมือจากนายกรัฐมนตรี ที่ได้เสนอแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้น ความกังวลของภาคธุรกิจ ตลอดจนมุมมองในการแก้ไขที่ยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ภาคธุรกิจวอนให้รัฐคลายกฎ

คุณแอ๊วฉายภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้กำลังซื้อในประเทศไทยแทบจะไม่เหลือแล้ว หลายคนตกงาน หรือโดนลดเงินเดือน เพราะทุกธุรกิจได้รับผลกระทบกันหมด เป็นห่วงโซ่ธุรกิจ (value chain) เช่น เมื่อศูนย์การค้าปิด ผู้ประกอบการก็กระทบด้วย และกระทบต่อไปยังโรงงานที่ผลิตสินค้ามาขาย โลจิสติกส์ การขนส่ง กระทบต่อไปเป็นทอด ๆ แม้ว่าบางธุรกิจจะดีขึ้นจากยอดขายออนไลน์ แต่อย่างดีก็มีสัดส่วนแค่เพียง 10% ไม่สามารถทดแทนยอดของร้านค้าออฟไลน์ที่หายไปได้

“ในระยะสั้นคนตกงานกันเยอะมาก การอัดฉีดงบฯเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐ 4 แสนล้าน ก็ต้องรอดู แต่ถ้าตั้งการ์ดสูงมากจะเอาไม่อยู่ เช่น การเปิดห้าง 2 ทุ่ม จะขอเป็น 3 ทุ่มได้ไหม ให้ผู้ประกอบการมีเวลาค้าขายเพิ่มขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นผู้บริโภคเลิกงานกว่าจะมาถึงร้านอาหาร ห้างก็ใกล้ปิดแล้ว โอกาสทำยอดขายก็ลดลง ทำอะไรก็ได้ให้ธุรกิจมันหมุนได้ ไม่งั้นคนจะไม่มี cash flow แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายลูกน้อง ต้องผ่านความ fear ไปได้แล้ว ถ้าเรายังกลัวก็ทำมาตรการให้เข้มข้น แต่มีบาลานซ์ให้เขาค้าขายได้ด้วย”

อย่างศูนย์การค้าเปิดมาวันแรก ยอดขายหายไปแล้ว 60% เพราะคนมาน้อยลง และคนไทยก็ไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่มี

ต้องแก้จากภาพใหญ่

การแก้ปัญหาต้องมองภาพใหญ่ให้ออกว่า สายป่านธุรกิจเล็ก อย่างมากก็อยู่ได้ 2 เดือน หากไม่มีรายได้ ธุรกิจใหญ่ 3 เดือนก็เริ่มจะแย่แล้ว นั่นคือกำไรทั้งหมดที่มี แล้วเขาก็ไม่มีเงินไปลงทุนอะไรต่อ และอย่าพูดว่าอยู่ได้ เพราะในอนาคตถ้าไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ ประเทศก็อยู่กับที่ หรือถอยหลัง เพราะฉะนั้น อะไรที่จะทำให้ฟื้นตัวเร็วที่สุด ? ก็ต้องเป็น “ไทยช่วยไทย” เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ แต่จะช่วยอย่างไรก็ต้องกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในประเทศเกิดขึ้น เอา “ช็อปช่วยชาติ” กลับมา อันนี้ไม่ได้ช่วยห้าง อย่าเข้าใจผิด แต่เป็นการช่วยการค้าขายทั้งหมด ตั้งแต่ตลาดสด ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนี่ยนสโตร์ คอมมิวนิตี้มอลล์ ศูนย์อาหาร ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า มีผู้ประกอบการในห่วงโซ่นี้เป็นล้านคน

หลังจากนี้ก็ต้องคิดว่าพอเปิดประเทศแล้ว จะรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไร มาตรการต่าง ๆ ที่จะมาสกรีน ใบรับรองแพทย์ การติดตามตัว ฯลฯ เพราะถ้าไม่มีนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยจะ “สาหัส” มาก ซึ่งใม่ได้กระทบแค่ศูนย์การค้า แต่ทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“ที่เสนอ 10 มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ท่านนายกฯ เป็นการช่วยเหลือระยะยาวหลังจากที่โควิดจบแล้ว ก็อยากให้รัฐบาลทำได้จริง ๆ เพื่อดึงคนเข้ามาซื้อของ เอารายได้เข้าประเทศ การจะเอานักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาก็ต้องคิดว่า นักท่องเที่ยวเหล่านี้ชอบอะไร ซึ่งไม่ยากเลย อาหารดี ๆ โรงแรมดี ๆ ได้ซื้อของแบรนด์เนม แต่วันนี้สินค้าลักเซอรี่ของเราแพงกว่าคนอื่น 30% เขาก็ไม่ซื้อกัน”

โอกาสที่ไทยน่าจะหยิบฉวยมา

เรื่องการท่องเที่ยว จะเป็นหัวหอกหลักที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด เพราะมี value chain ที่ต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมาก ดังนั้นจึงต้อง repositioning ประเทศใหม่ ให้สามารถสู้กับคนอื่นได้ เพราะประเทศไทยวันนี้มีแต้มต่อทั้งความปลอดภัย หมอไทย และระบบสาธารณสุขเราเก่งมาก วันนี้มีคนที่รักษาโควิดอยู่ไม่ถึง 100 รายแล้ว

เป็นไปได้ไหมว่า เราจะลดอุปสรรคต่าง ๆ ลงไป เช่น มาตรการด้าน “ภาษี” ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีสินค้าแบรนด์เนม ภาษี VAT ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดไปหมุนเวียนก่อน และช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ประเทศไทยยังขายพวกลักเซอรี่แพงอยู่ เมื่อเทียบกับฮ่องกง สิงคโปร์ นักท่องเที่ยวชั้นดีเขาก็บินไปซื้อที่อื่น ไม่ได้ขอว่าให้ลดลงเหลือศูนย์ แต่จะช่วยลดสัก 50% เพื่อให้ธุรกิจสามารถทำราคาที่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านของเราได้หรือไม่ ไม่ต้องเท่ากับดิวตี้ฟรีก็ได้ ลองคิดในมุมกลับว่า ถ้าลดลงมาครึ่งหนึ่ง อาจไปเพิ่มยอดขายได้เท่าหนึ่งก็เป็นได้ ตลอดจนการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้า ลดสัก 15% ได้มั้ย ? ไฟแนนซ์ เงินกู้ซอฟต์โลน ให้องค์กรขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งคนงาน ไวต์คอลลาร์ บลูคอลลาร์ รากหญ้า ฯลฯ ฟื้นตัว

Comeback and Fight

ภาคเอกชนมีความพร้อมอยู่แล้วที่จะร่วมมือ ตอนนี้ทุกคนต้องผ่านสเตจของความกลัว ต้องสู้แล้ว “comeback and fight” แต่จะสู้ด้วยอะไร ต้องมียุทธศาสตร์ ไม่สามารถเอาเงินไปแจกตลอดได้ เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหน ก็ต้องกลับไปที่การสร้างความยั่งยืน

ซึ่งแนวทางที่เดอะมอลล์ได้เสนอไป 10 ยุทธศาสตร์ให้ภาครัฐก็คือ เรื่องของการทำให้ไทยเป็นเดสติเนชั่นการช็อปปิ้ง อาหาร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ระดับโลก เป็นศูนย์กลางการประชุมสัมมนาและจัดแสดงสินค้า ศิลปวัฒนธรรม การจัดเทศกาล เฟสติวัล ในอาเซียน ตลอดจนด้านการแพทย์ สุขภาพ ความงาม ในเอเชีย การทำให้อ่าวไทยเป็นเส้นทางเดินเรือสำราญที่สำคัญของภูมิภาค การยกระดับการส่งเสริมธุรกิจออนไลน์ ออฟไลน์ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้โจทย์ของ globalization digitalization และ tourism ที่จะเป็นกลยุทธ์หลักในการให้ความสำคัญ

เราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ คนอื่นอาจจะมองว่าเก็บเงินสดไว้ดีสุด แต่ถ้าเก็บไว้ก็ไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ เศรษฐกิจไม่เดินหน้า ไม่มีใครซื้อของ กลายเป็นเศรษฐกิจแบบ recession

“ตอนที่เจอวิกฤตปี”40 ช่วงนั้นเปิดดิ เอ็มโพเรียม พอดี โดนลดค่าเงินบาท แต่นักท่องเที่ยวเข้ามาเต็มไปหมด เราเอาวิกฤตมาเป็นโอกาส สินค้าเราถูกมาก ก็จัดงานต่าง ๆ กระตุ้น คราวนี้ก็ต้องมองให้เป็นโอกาสอีกเช่นกัน”


ภาคเอกชนพร้อมเต็มที่ และยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้รอดพ้นจากวิกฤต เพียงแต่วันนี้ยังต้องการความกล้าที่จะตัดสินใจ และใช้ความเข้าใจในวงจรธุรกิจใส่เข้าไปในมาตรการต่าง ๆ ด้วย