ทองแพงเอฟเฟ็กต์ช่างตกงาน อุตอัญมณีโคม่ายอดส่งออกวูบ

ทอง ราคาทอง
NICOLAS ASFOURI / AFP

ผู้ผลิตเครื่องประดับอ่วมสองเด้ง ตลาดส่งออกดิ่ง ต้นทุน “ทองคำ-เงิน” สูงเป็นประวัติการณ์ สมาคมทองคำชี้ครึ่งปีแรกราคาทองพุ่ง 20% คนแห่ขายทองทำกำไร ความต้องการทองรูปพรรณลดเอฟเฟ็กต์ รง.หยุดผลิต “ช่างทอง” ตกงานเกือบ 50% เครื่องประดับเงินโคม่าตลาดหลักสหรัฐ-ยุโรปเดี้ยง กระทบแรงงาน 1.6 ล้านคน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล กำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกำลังซื้อทั่วโลกหดหาย ประกอบกับที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติในรอบ 9 ปี กระทบต่อต้นทุนการผลิตเครื่องประดับสูงขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2563) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมูลค่า 9,580.20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 107.98% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากหัก “ทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป” ออกจะเหลือเพียง 1,984.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 34.81%

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 2563 ประมาณ 20% โดยราคาทองรูปพรรณขายออก (ช่วงเช้า 28 ก.ค.) อยู่ที่ราคา 29,800 บาท  ถือเป็นราคาที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้นเป็น 1,860-1,870 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่สูงสุดในรอบ 8 ปี จากที่เคยขึ้นไปที่ 1,927 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เมื่อปี 2555

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากสงครามการค้าตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และจังหวะต่อเนื่องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่เร่งจัดทำมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความกังวลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง โดยตั้งแต่ต้นปีกองทุนทองคำใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง SPDR ได้มีการเข้ามาซื้อทองคำแท่งไปแล้ว 315 ตัน คาดการณ์กันว่าหลังจากนี้แนวโน้มราคาทองคำจะยังทรงตัวสูงในระดับ 1,875 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

“ช่างทอง” ตกงาน

“เมื่อราคาทองสูงทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ และมีการเทขายทำกำไรออกมา โดยตลาดทองคำของไทยสัดส่วน 90% เป็นตลาดส่งออกซึ่งเป็นทองคำแท่งทั้งหมด ส่วนตลาดในประเทศแค่ 10% เท่านั้น เป็นทองรูปพรรณแนวโน้มลดลง ขณะที่ราคาทองคำผันผวนมาก ส่งผลกระทบผู้ประกอบการโรงงานและร้านทองต้องปรับตัวไม่มีการเก็บสต๊อกวัตถุดิบ เพราะราคาทองสูงเก็บไม่ไหวด้วย ขายได้เท่าไรก็สต๊อกเท่านั้น ขาย 100 บาทก็นำเข้า 100 บาท”

นายจิตติกล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกโรงงานหยุดการผลิตไปจำนวนมาก ต้องยอมรับว่ากระทบต่อการจ้างแรงงานช่างทำทอง โดยประเมินว่าครึ่งปีน่าจะมีโรงงานหยุดจ้างไปกว่า 50% จากจำนวนแรงงานช่างทำทองทั้งประเทศ 2 แสนคน แต่การจะขอให้รัฐมาช่วยเหลืออะไรก็คงยาก เพราะทุกอุตสาหกรรมต่างก็เดือดร้อน ครึ่งปีหลังก็ยังคงคาดการณ์ว่าไม่ต่างจากนี้

วอลุ่มซื้อทองรูปพรรณหด

ด้านนายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง เปิดเผยว่า ปริมาณการซื้อขายทองรูปพรรณปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในขาของการซื้อที่ถือว่าบางตาลงมาก โดยคาดว่าสาเหตุมาจากราคาทองรูปพรรณที่ปรับขึ้นค่อนข้างสูงมาก ล่าสุด ราคาทองรูปพรรณ (96.5%) ขายออกที่ 28,800 บาท/บาททองคำ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การซื้อทองรูปพรรณลดลง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่หดตัวลงมากกว่าในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี

นายธนรัชต์กล่าวว่า ในส่วนของร้านทองฮั่วเซ่งเฮงยังคงจ้างงานปกติ ทั้งช่างทองประจำและช่างทองจากภายนอกที่จ้างในรูปแบบชั่วคราว แต่เป็นไปได้ที่ภาพรวมในอุตสาหกรรมจะจ้างงานช่างทองลดลง เนื่องจากวอลุ่มทองรูปพรรณที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการทำลดลง ขณะที่ทองคำแท่งใช้แรงงานน้อยเพื่อควบคุมเครื่องจักรเท่านั้น

“ในส่วนของบริษัท ถ้ามีลูกค้าขายทองคำแท่งปริมาณที่ค่อนข้างมาก บริษัทก็จะส่งไปโรงหลอมทองคำที่ต่างประเทศไม่ได้ใช้โรงหลอมในประเทศ แต่ทองรูปพรรณที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ เช่น ลายไทย เป็นต้น ยังจำเป็นต้องใช้ช่างทองในประเทศอยู่” นายธนรัชต์กล่าว

ไม่มีออร์เดอร์ส่งออก

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องประดับเงินอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออก 100% ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป รัสเซีย เยอรมนี อินเดีย และจีน ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้ผู้บริโภคระวังในการจับจ่ายเครื่องประดับ ผู้นำเข้าจึงชะลอคำสั่งซื้อใหม่ ประกอบกับขณะนี้ราคาวัตถุดิบเม็ดเงินที่ใช้มีทิศทางราคาปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาทองคำ โดยขยับขึ้นไปที่ 19-20 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ จากเดิมอยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งทำให้ต้นทุนราคาของสินค้าสูงขึ้น ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเครื่องประดับเงินให้ยากลำบากมากขึ้น

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า จากการติดตามสมาชิกในสมาคม พบว่า ขณะนี้ไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เครื่องประดับเงินเข้ามาเลย ขณะที่คำสั่งซื้อเดิมส่วนใหญ่กำลังจะส่งมอบครบหมดแล้ว จะมีกรณีที่ติดปัญหาเรื่องล็อกดาวน์ประเทศทำให้ส่งสินค้าล่าช้า และผู้นำเข้าบางรายก็ขอให้ชะลอการส่งมอบออกไปด้วย ตอนนี้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีประสบปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน และต้องระวังเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ต้องทำประกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงิน และจากที่ต้นทุนวัตถุดิบ “เม็ดเงิน” สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่ต้องซื้อวัตถุดิบไปผลิตเครื่องประดับเงินส่งให้กับผู้ส่งออก ประสบปัญหาไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ที่ไม่สามารถขอคืนได้อีกก็ยิ่งกระทบหนัก

“ตลาดส่งออกซื้อขายลำบาก ต้นทุนเพิ่ม กระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก โดยโอกาสที่จะเดินธุรกิจได้ต่อเนื่องมีลดลง ขณะนี้สมาคมได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ช่วยเรื่องการผ่อนปรน VAT 7% ให้กับเครื่องเงินเช่นเดียวกับวัตถุดิบทองคำซึ่งไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม หากช่วยได้จะลดต้นทุนให้กับผู้ผลิต และขอให้ขยายมาตรการประกันสังคมมาตรา 33 ให้ผู้ประกอบการถึงต้นปี 2564 หากไม่ขยายเวลาผู้ประกอบการผู้ผลิต มีโอกาสจะต้องปิดและปลดแรงงาน เพราะสินค้านี้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการก็เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีแรงงานอยู่ประมาณ 1.6 ล้านคน”