ค้าปลีกรับมือคลื่นนักช็อป บุกออนไลน์-ยืดเวลา “แบล็กฟรายเดย์”

คอลัมน์ Market Move

ในขณะที่ไทยเพิ่งผ่านมหกรรมช็อปปิ้ง วันที่ 9 เดือน 9 ไปอย่างราบรื่น แต่ในสหรัฐอเมริกา บรรดาผู้ค้าปลีกกำลังปวดหัวกับการจัดมหกรรมช็อปปิ้งใหญ่ประจำปี “แบล็กฟรายเดย์” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน

เนื่องจากวัฒนธรรมการช็อปปิ้งแบบออฟไลน์ที่ยังมาแรง สะท้อนผ่านภาพคลื่นนักช็อปที่เข้าถล่มร้านค้าต่าง ๆในช่วงดังกล่าวของทุกปี ทำให้ผู้ค้าปลีกต้องหาวิธีรับมือไม่ให้มหกรรมช็อปกลายเป็นมหกรรมแพร่เชื้อโรคโควิด-19ไปแทน ขณะเดียวกันยังต้องไม่เสียโอกาสขายด้วย

เริ่มจาก “โฮม ดีโปต์” ผู้ค้าปลีกสินค้าตกแต่งบ้านเป็นรายแรกที่ขยับตัว ประกาศแผนสำหรับแบล็กฟรายเดย์ปีนี้ ทั้งการขยายระยะเวลาจัดโปรโมชั่นลดราคาให้นานขึ้น และจูงใจผู้บริโภคให้ไปช็อปบนแอปพลิเคชั่นแทน หวังลดความแออัดของนักช็อปที่จะมาที่ร้าน

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานถึงแผนแบล็กฟรายเดย์ของ “โฮม ดีโปต์” ว่า มีการปรับตัวหลายด้านเพื่อป้องกันไม่ให้นักช็อปจำนวนมากมารวมตัวกันด้วยการขยายระยะเวลาจัดโปรโมชั่นให้ยาวขึ้นเป็นเกือบ 2 เดือน เพื่อให้ลูกค้าทยอยมาช็อป และดึงดูดให้ช็อปออนไลน์แทนโดยได้จับมือกับแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ก “พินเทอเรสต์” โพสต์ไอเดียดีไอวายต่าง ๆ และโปรโมชั่นที่จะเปิดในช่วงนี้เป็นที่แรก รวมถึงลิงก์ไปยังแอปพลิเคชั่นของร้านเพื่อจูงใจนักช็อปให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังนำบริการยอดนิยมอย่างการส่งต้นคริสต์มาสสด ๆ ให้ถึงบ้าน มาโปรโมตร่วมกับการช็อปออนไลน์

กลยุทธ์ของโฮม ดีโปต์ ครั้งนี้เป็นที่จับตามอง เนื่องจากเชนร้านค้าปลีกอุปกรณ์ตกแต่งบ้านรายนี้เป็นหนึ่งในค้าปลีกไม่กี่รายที่มีผลประกอบการเติบโตในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาเนื่องจากสามารถปรับตัวสู่อีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันกับการรองรับดีมานด์ของชาวอเมริกันที่ใช้เวลาว่างช่วงล็อกดาวน์หันมาปรับปรุงบ้าน และทำโปรเจ็กต์ดีไอวายต่าง ๆ กันมากขึ้น

โดยช่วงไตรมาส 2 (สิ้นสุด 2 สิงหาคม) ยอดขายผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะที่สาขาซึ่งเปิดมาอย่างน้อย 1 ปีมียอดขายเพิ่มขึ้น 25% จากยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จซึ่งเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงเวลาเดียวกัน

จึงไม่แปลกใจที่โฮม ดีโปต์ จะพยายามรักษาโมเมนตัมนี้เอาไว้ เพื่อสร้างยอดขายให้กับสินค้าตกแต่งบ้าน-สวนช่วงเทศกาลปลายปี เช่น ตุ๊กตาหิมะจำลองต้นไม้เทียม และไฟประดับด้วย

เช่นเดียวกับผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆที่ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวและเริ่มขยับตัวหันมาใช้กลยุทธ์คล้าย ๆ กันนี้ ไม่ว่าจะเป็น “เบสต์บาย” และ “ทาร์เก็ต” ที่วางแผนเริ่มโปรโมชั่นแบล็กฟรายเดย์เร็วขึ้นกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ยักษ์ใหญ่วอลมาร์ต ที่กำลังพัฒนาเครื่องมือออนไลน์ตัวใหม่ สำหรับให้เด็ก ๆ ได้ทดลองสินค้าของเล่นแบบออนไลน์ ในขณะที่ “โคลส์” เตรียมรับยอดขายที่อาจลดลง

นอกจากนี้ ทั้งเบสต์บาย, ทาร์เก็ต, วอลมาร์ต และอื่น ๆ ยังพร้อมใจกันประกาศปิดบริการชั่วคราวในวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลช็อปปิ้งและมักมีลูกค้ามาต่อคิวจำนวนมาก หวังลดความแออัดที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างกลุ่มที่คาดว่าสภาพเศรษฐกิจจะทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงกับอีกกลุ่มที่มองว่า บรรยากาศตึงเครียดที่ต่อเนื่องมาตลอดทั้งปีจะทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น

หนึ่งในกลุ่มหลังนี้คือ “เจฟ เกนเน็ต” ซีอีโอของเมซีส์ กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าและกลุ่มสินค้าความงามอาจทำผลงานได้ดีในปีนี้ เพราะผู้บริโภคไม่สามารถซื้อของในกลุ่มบริการ อย่างบัตรชมการแสดง หรือคูปองบริการสปา มาให้แก่กันเป็นของขวัญได้ เม็ดเงินจึงอาจไหลมาที่ห้าง และสินค้าความงามแทน


คงต้องรอดูกันว่า เทศกาลช็อปปิ้งแบล็กฟรายเดย์ ปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร