‘อสมท’ วิกฤตหนัก ต้องกู้เงินบริหาร รีดพนักงานออก 600 คน

‘อสมท’ เล็งลดพนักงาน 600 ตำแหน่ง ชี้บริษัทกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตด้านการเงินอย่างหนัก สหภาพคัดค้าน เตรียมตบเท้าพบผู้บริหาร

อสมท เร่งรัดให้พนักงานที่ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ลงชื่อเข้าร่วมโครงการเออร์รี่รีไทร์ ที่ อสมท  ตั้งเป้าลดพนักงานให้เหลือ 700 คน จากทั้งหมดที่มี 1,600 คน พร้อมจ่ายมากกว่ากฎหมายแรงงาน โดยจ่ายค่าตอบแทนสูงสุดถึง 35.33 เดือน

มีรายงานว่า ขณะนี้ ( 22 ตุลาคม) บุคลากรในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ทยอยลงชื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว 300 คน เป็นกลุ่มพนักงานที่อายุงานใกล้เกษียณ และกลุ่มงานวิศวกร ในพื้นที่สำนักงานส่วนภูมิภาค แต่อสมท. ต้องการถึงเป้าหมาย 600 คน อย่างเร่งด่วนที่สุด

สำหรับการดำเนินการจ่ายเงินให้กับการเออร์รี่รีไทร์ ดังกล่าว เป็นไปตามคำแนะนำของบอร์ดจากกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการชดเชยของโครงการ ทั้งนี้ บอร์ด อสมท ได้อนุมัติวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ส่งสารถึงพนักงาน อสมท ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ระบุว่า “เวลานี้บริษัทกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตด้านการเงินอย่างหนัก จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงจาก 1,300 คน เหลือ 700 คน พร้อมทั้งเรียกร้องให้พนักงานประหยัดค่าใช้จ่าย โดยยืนยันว่าจะยังไม่มีการลดเงินเดือนแต่อย่างใด”

สารถึงพนักงานระบุว่า ในอดีต อสมท เคยเป็นสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเห็นศักยภาพนั้น จึงแปลงสภาพจาก อ.ส.ม.ท. เป็น บมจ.อสมท ตั้งแต่ พ.ศ.2547 โดยเป็นสถานีโทรทัศน์ 1 ใน 6 ช่องที่แข็งแรงและผูกขาดอุตสาหกรรม โดยไม่มีช่องทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีมาแข่งขันได้เลย จนกระทั่ง กสทช.ได้จัดสรรช่องทีวีดิจิทัลตามกฎหมาย

ใน พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ อสมท มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกิจการของ อสมท ดำรงอยู่ได้ด้วยเงินจากการโฆษณา ซึ่งการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลทำให้เม็ดเงินดังกล่าวถูกตัดแบ่งออกไปสู่ช่องทีวีรายใหม่จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ที่จากเดิมประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ 6 ช่อง กลายเป็น 28 ช่องในทันที ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณายังคงอยู่เท่าเดิม

แม้ กสทช.ได้เคยเปิดให้คืนใบอนุญาตฯ ซึ่ง อสมท ได้คืน MCOT Family ช่อง 14 ไปเมื่อ พ.ศ.2562 เพื่อลดสกาวะการขาดทุนอย่างถาวร อันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้บริหารในยุคนั้น

อีกทั้งภาวะที่ 2 การเกิด Digital Disruption คือ จำนวนผู้ชมโทรทัศน์และผู้ฟังวิทยุลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ถูกโยกไปสู่สื่อดิจิทัลอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบแก่อุตสาหกรรมโทรทัศน์อย่างควบคุมไม่ได้

สำหรับธุรกิจวิทยุกระจายเสียงของ อสมท โดยเฉพาะวิทยุคลื่น FM จำนวน 6 สถานีในกรุงเทพฯ และอีก 53 สถานีในส่วนภูมิภาค ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากภาวะ Digital Disruption ในลักษณะเดียวกัน อสมท ได้เห็นสภาวะดังกล่าว จึงมีแนวคิดการเดินไปสู่ธุรกิจดิจิทัล โดยการเริ่มปรับโครงสร้งบริษัทโดยยกธุรกิจดิจิทัลขึ้นเป็นสายงานใหม่

แต่ต้องยอมรับว่า รายได้หลักของ อสมท เกิดจากโฆษณาทางโทรทัศน์และทางวิทยุ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างการตลาดและการขายของบริการโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อดิจิทัลต่าง ๆ ภายใน อสมท ในรูปแบบ Bundling หรือ Solution ตามความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ ภาวะที่ 3 ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไร้สโควิด-19 ที่ส่ผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นกาวะที่ควบคุมไม่ได้และยังไม่มีจุดสิ้นสุด ส่งผลทวีคูณให้แก่ทั้ง 2 ภาวะข้างต้น

กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ประเมินธุรกิจลักษณะเดียวกับ อสมท ว่าจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจในอนาคตของ อสมท คือ 700 คน ในขณะที่ปัจจุบัน อสมท มีพนักงานมากถึง 1,300 กว่าคน ไม่รวมถึงลูกจ้าง โดยแนะนำให้ อสมท พิจารณาจัดโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) เพื่อปรับลดพนักงานให้เหมาะสม

โดยฝ่ายบริหารแนะนำให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าร่วมโครงการ ควรมีเป้าหมายในการบริหารจัดการงินที่ได้รับจากโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันสถานะทางการเงินของ อสมท อยู่ในชั้นวิกฤต โดยต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ MSP โดยฝ่ายบริหารจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ภายหลังจากการดำเนินโครงการ MSP ในทันที

อสมท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความร่วมมือพนักงานทุกท่านปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ โดยฝ่ายบริหารจะยังไม่มีการปรับลดเงินเดือนที่ท่านได้รับอยู่แต่อย่างใด จึงขอให้ทุกท่านปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ

ท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าคณะกรรมการและฝ่ายบริหารของ อสมท จะมุ่งมั่น พลิกฟื้น อสมท ให้ได้ในอนาคต แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ควบคุมไม่ได้ และขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการ MSP เพราะท่านคือผู้เสียสละที่จะทำให้ อสมท สามารถปรับตัวและอยู่รอดต่อไปได้และขอขอบคุณพนักงานที่ยังอยู่กับ อสมท เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

“อสมท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องขอความร่วมมือพนักงานทุกท่านปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ โดยฝ่ายบริหารจะยังไม่มีการปรับลดเงินเดือนที่ท่านได้รับอยู่แต่อย่างใด จึงขอให้ทุกท่านปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ”

โครงการเกษียณก่อนอายุราชการ อสมท  เปิดให้ผู้เข้าร่วมโครงการอายุ 45 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 59 ปีบริบูรณ์โดยแนวทางจ่ายชดเชย อสมท จะกู้เงินจากธนาคารมาจ่ายชดเชยให้กับพนักงาน ซึ่งจะแบ่งจ่ายเงินพิเศษ ดังนี้

  1. หากอายุงานมากกว่า 22 ปี จ่ายเต็ม 22 เดือน
  2. หากอายุงานน้อยกว่า 22 ปี จ่ายตามอายุงาน อาทิ อายุงาน 20 ปี จ่าย 20 เดือน
  3. อายุงานเหลือน้อยกว่า 22 เดือน จ่ายตามอายุงานที่เหลืออยู่ เช่น เหลืออายุงาน 15 เดือน จ่าย 15 เดือน รวมกับเงินเดือนตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 400 วัน รวม 13.33 เดือน เป็นทั้งหมด 35.33 เดือน

ในวันเดียวกันนี้ (21 ตุลาคม) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท ได้ทำหนังสือคัดค้าน คำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาทางผู้บริหารไม่เคยมีการสื่อสารกับพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับแผนการหารายได้ มีแต่เรื่องการลดรายจ่ายเท่านั้น

รวมทั้งผู้บริหารไม่เคยแสดงภาวะผู้นำ เพราะไม่เคยเสียสละหรือปรับลดเงินเดือนของตัวเองลงเลย และหากผู้บริหารยังไม่ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทาง สหภาพก็จะล่ารายชื่อและจะขอเข้าพบ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ต่อไป