‘อสมท’ ฝ่าวิกฤตขาดทุน เร่งฟื้นฟูธุรกิจโจทย์ยากผู้นำใหม่

อสมท
ภาพ : map.longdo.com

ด้วยองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีพนักงานประจำมากถึง 1,354 คน พนักงานสัญญาจ้างอีก 247 คน และโครงสร้างธุรกิจมีรายได้หลักจากธุรกิจโทรทัศน์ ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิสรัปต์ที่กระหน่ำเข้าใส่อุตสาหกรรมสื่อต่อเนื่อง ทำให้ อสมท เผชิญความท้าทายครั้งสำคัญในการขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านองค์กรให้อยู่รอด

โจทย์ใหญ่ธุรกิจทีวี

ในจังหวะที่กำลังจะพ้นตำแหน่งแม่ทัพองค์กร (28 ส.ค.) “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เติบโตขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนรวดเร็ว ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตทำให้เม็ดเงินโฆษณาที่เคยสูงกว่า 100,000 ล้านบาทโตลดลง ส่งผลให้รายได้ธุรกิจทีวีซึ่งเป็นรายได้หลักของ อสมท ลดน้อยถอยลงตั้งแต่ปี 2557 นับจากเริ่มมีการประมูลทีวีดิจิทัล อีกทั้ง อสมท ต้องควักเงินลงทุนผลิตคอนเทนต์ต่อเนื่องแต่ละปีใช้เงินไม่ต่ำกว่า 500-600 ล้านบาท

ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันสูงขึ้นจากผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจทีวีเพิ่มเป็น 24 ราย ตามด้วยมรสุมจากเทคโนโลยีดิสรัปต์เกิดสื่อใหม่ ๆ ทำให้ อสมท ปรับตัวไม่ทัน โดยสิ่งที่เร่งดำเนินการในขณะนั้น คือ หารายได้ใหม่ทดแทน เช่น การให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล แต่ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะทีวีหลายช่องไปไม่ไหวต้องคืนใบอนุญาต

4 ปีกับภารกิจห้ามเลือด

“เขมทัตต์” กล่าวต่อว่า ช่วงเริ่มเข้ามารับตำแหน่ง ภารกิจหลักคือการหยุดเลือดไหล หยุดขาดทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลา โดยประเมินว่าเวลาเพียง 4 ปีคงไม่ทัน สิ่งที่ทำได้คือการห้ามเลือด ปิดช่องโหว่ ลดรายจ่าย เพื่อลดการขาดทุนและประคองธุรกิจ

สิ่งแรกที่แก้คือวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ทุกองคาพยพของ อสมท เดินไปในทิศทาง และเป้าหมายเดียวกัน ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่รับตำแหน่งจึงปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพิ่มความคล่องตัวให้ทุกหน่วยธุรกิจ

ถัดมาในปี 2561 พัฒนาและจัดระบบเทคโนโลยี สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของธุรกิจในเครือให้ชัดเจนขึ้น เช่น ธุรกิจทีวี ที่เดิมมีหลายแพลตฟอร์ม ทั้ง 9MCOT ไนน์เอ็นเตอร์เทน รวมเป็นแพลตฟอร์มเดียวภายใต้ชื่อ “MCOT APP” และใช้ระบบคลาวด์เข้ามาช่วยในการเก็บคอนเทนต์ เป็นต้น

ปี 2562 เน้นสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ เนื่องจาก อสมท ตระหนักดีว่า รายได้จากธุรกิจร่วมดำเนินกิจการ (สัมปทาน) ที่เคยให้แบ่งรายได้จาก ทรูวิชั่นส์ และให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) เช่าสัญญาณออกอากาศระบบแอนะล็อกสิ้นสุดลงไตรมาสแรกปี 2563 จึงพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ เช่น
“WHAM” แพลตฟอร์มเกี่ยวกับเพลง งานศิลปะ งานสร้างสรรค์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

ล่าสุดร่วมกับ “ไลน์ทีวี” จัดคอนเสิร์ตบนออนไลน์ทุกเดือน หรือก่อนหน้านี้ จัดแฟนมีตติ้งออนไลน์ภายใต้ชื่อ “2020 KANG DENIEL 1ST ANNIVERSARY ONTACT FAN MEETING “DAN1TYST” ของ “คัง แดเนียล” ศิลปินเกาหลี เป็นต้น

ปมร้อนค่าคลื่น 2600 MHz

“เขมทัตต์” ยอมรับว่า ด้วยขนาดองค์กรที่ใหญ่ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนช้า ดังนั้นเป้าหมายการปรับโครงสร้างองค์กร โครงสร้างธุรกิจเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ ต.ค. 2562 ด้วยการตั้ง 2 หน่วยงานใหม่ คือ สำนักธุรกิจดิจิทัล และสำนักดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีหน้าที่หลักคือหาลูกค้า หาพันธมิตรใหม่ และการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้คอนเทนต์ที่มีอยู่ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ๆ

ส่วนการพัฒนาโครงการที่ดิน 50 ไร่ อยู่ระหว่างการร่างข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง(TOR) จะแล้วเสร็จ ก.ย. จึงเริ่มหานักลงทุน คาดว่าจะเริ่มได้ต้นปี 2564

ยังไม่นับปมการแบ่งเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่น 2500-2690 MHz ระหว่าง อสมท กับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งมติบอร์ด กสทช. (10 มิ.ย.) เห็นชอบให้จ่ายเงินให้ อสมท เป็นเงิน 3,235.83 ล้านบาท จากสิทธิการถือครองคลื่น 6 ปี 5 เดือน ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นร้อนช่วงโค้งสุดท้ายในตำแหน่ง ผอ.อสมท หากต้องแบ่งจ่ายให้บริษัทเพลย์เวิร์ค ด้วยครึ่งหนึ่ง เป็นเหตุให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท ทำหนังสือร้องเรียนนั้น

อย่างไรก็ตาม “เขมทัตต์” ยืนยันว่าจะไม่มีการแบ่งผลประโยชน์ให้เอกชน ส่วนรายละเอียดที่ชัดเจนยังไม่สามารถชี้แจงได้ เนื่องจาก อสมท อยู่ระหว่างการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดี กับ กสทช. ต่อศาลปกครอง

ขาดทุนต่อเนื่องเร่งฟื้นฟู

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูผลประกอบการ อสมท ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2562) พบว่า เผชิญกับปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง (มีตารางประกอบ) โดยปี 2559 มีรายได้ 2,891 ล้านบาท ขาดทุน 757 ล้านบาท มากสุดคือ ปี 2560 มีรายได้ 2,736 ล้านบาท ขาดทุนสูงถึง 2,543 ล้านบาท จากเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมโฆษณาลดลงมาก กระทบรายได้ของธุรกิจทีวี ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการลงทุนคอนเทนต์ การขยายโครงข่ายและจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

ในครึ่งปีแรก 2563 อสทม มีรายได้ 684 ล้านบาท แต่ขาดทุนมากถึง 1,062 ล้านบาท จากวิกฤต COVID-19


ไม่ใช่เท่านั้น อสมท เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะน่าเป็นห่วงจำเป็นต้องเร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการ ชัดเจนว่าภารกิจแม่ทัพคนใหม่ อสมท ที่จะมารับไม้ต่อเต็มไปด้วยโจทย์ยาก ซึ่งมติบอร์ด(11 ส.ค.) ตั้งนายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะกรรมการบริษัท รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ชั่วคราว มีผลวันที่ 29 ส.ค. 2563