สมาคมผู้ค้าปลีกฯ มีมติเลื่อนเวลาปิดห้างเป็น 3 ทุ่ม มีผล 4 ม.ค. เป็นต้นไป

ห้างสรรพสินค้า
PHOTO : PIXABAY (ภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

สมาคมผู้ค้าปลีกและสมาคมศูนย์การค้าไทย มีข้อสรุปทุกศูนย์การค้า ปิดทำการเวลา 3 ทุ่มของทุกวัน มีผล 4 ม.ค. 64 เป็นต้นไป 

วันที่ 2 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมผู้ค้าปลีกและสมาคมศูนย์การค้าไทย มีข้อสรุปให้ทุกศูนย์การค้า เลื่อนเวลาปิดทำการเป็น 21.00 น. หรือ 3 ทุ่ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 เป็นต้นไป รวมถึงให้ทุกศูนย์การค้า รวมถึงร้านค้าในศูนย์การค้าและร้านค้าภาคี เครือข่ายยกระดับมาตรการการคัดกรองและเข้มงวดความปลอดภัยสุขอนามัย

ทั้งนี้เพื่อให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเคร่งครัด ในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่ตามมาตรการที่เข้มข้นตามลำดับ รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของประชาชนและการให้บริการที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่1 มกราคม 2564 สมาคมภัตตาคารไทย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ถึงผลกระทบของธุรกิจร้านอาหาร หาก กทม. มีคำสั่งไม่ให้นั่งรับประทานที่ร้านอาหาร

จดหมายฉบับดังกล่าว ระบุว่า จากประกาศของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่1 มกราคม 2564 ว่าอาจมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร โดยจะต้องซื้อกลับเท่านั้นทางสมาคมขอเรียนชี้แจงให้เข้าใจเพื่อยกเลิกมาตราการและคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากร้านอาหารเป็นธุรกิจSMEและMICRO SME ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจ4แสนล้านบาทต่อปี จากประกาศดังกล่าวจะทำให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารไทยหายไปไม่ต่ำกว่า1แสนล้านและจะทำให้มีผลกระทบเป็นห่วงลูกโซ่ ดังนี้

1.อัตราการจ้างงานซึ่งจะทำให้พนักงานตกงานทันทีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากการกลับมาเปิดธุรกิจร้านอาหารได้มีการว่าจ้างแรงงานกลับเข้าระบบได้เป็นจำนวนมากแต่จากประกาศวันที่1มกราคม 2564 จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานอีกครั้ง

2.ผลกระทบกับสินค้าภาคการเกษตรกร ซึ่งร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรกรจำนวนมหาศาลซึ่งจะต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งจากคำสั่งวันที่1 มกราคม 2564 จะมีผลทำให้รายได้ของภาคเกษตรกรลดลงเช่นกัน

3.จะมีผลกระทบเรื่องการจัดเก็บภาษี,vatและเงินประกันสังคมของภาครัฐบาลที่หายไปอีกครั้ง

ซึ่งธุรกิจร้านอาหารทั้งในส่วนภัตตาคารและร้านอาหารขนาดเล็กรวมไปถึงร้านอาหารตามริมข้างทางได้ปฎิบัติตามมาตราการป้องกันCOVID-19 จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขด้วยความเคร่งครัดมาโดยตลอดรวมไปถึงร้านอาหารขนาดใหญ่และขนาดกลางได้เข้าร่วมอบรมและเรียนรู้จนได้สัญลักษณ์SHAเกิน80%และผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดยังตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานที่ปฎิบัติงานในร้านด้วยการเพิ่มมาตราการเสริมเข้าไปมากขึ้นกว่าคำสั่งของสาธารณสุขด้วยเช่น

1.จัดให้มีการเช็คอินก่อนเข้ารับบริการที่ร้านด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ

2.ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งพนักงานและลูกค้าก่อนเข้าร้าน

3.ทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้งเมื่อมีลูกค้าใช้เสร็จ

4.แจกแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งเมื่อมาใหม่

5.จัดให้พนักงานทั้งส่วนหน้า,ส่วนหลัง และในครัวมีการใส่ถุงมือยางและผ้าปิดปากตลอดเวลาที่มีการปฎิบัติงาน

6.มีการถูพื้นด้วยน้ำยากำจัดเชื้อโรค ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง

7.จัดตารางทำความสะอาดห้องน้ำและถูพื้นด้วยน้ำยากำจัดเชื้อโรค ทุกๆ 2 ชั่วโมง

8.ร้านที่มีประตู ให้เช็ดมือจับด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่มีการสัมผัส

9.แจกช้อนกลางส่วนตัวให้ลูกค้าเพื่อลดการสัมผัสภาชนะร่วมกัน

10.ร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ ทางร้านจะทำความสะอาดทุกๆ4ชั่วโมง

ซึ่งจากการปฎิบัติตามมาตราการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดมีผลสะท้อนให้เห็นว่า การระบาดCOVID-19 รอบสองในครั้งนี้ไม่ได้มีมูลเหตุหรือต้นตอมาจากร้านอาหารเลย แต่แท้จริงการระบาดรอบสองมาจากกลุ่มธุรกิจที่ผิดกฎหมายทั้งหมดเพราะไม่การปฎิบัติตามมาตราการ


ทางสมาคมภัตตาคารไทยจึงใคร่ขอความกรุณานายกรัฐมนตรีและคณะ ศบค. ใด้ช่วยพิจารณาไม่ออกมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหาร​ ดังที่แถลงข่าวไว้ในวันที่1 มกราคม 2564 โดยให้ร้านอาหารสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติดังเดิม