ค้านแก้กฎหมายเหล้า-เบียร์ หวั่นทุบธุรกิจสูญ 2 แสนล้าน

ผู้ประกอบการเหล้าเบียร์ รุมค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ของกรมควบคุมโรค ห้ามโฆษณาทุกช่องทาง ทุกรูปแบบ ห้ามสินค้าแบรนด์เดียวกันทำการตลาดแฝง เพิ่มบทลงโทษถึงติดคุก ชี้กระทบตลาดน้ำเมา 2 แสนล้าน TABBA ชี้ซ้ำรอยบุหรี่ “เอ็มไอ” หวั่นเม็ดเงินโฆษณาหายพันล้าน

ผู้ประกอบการเหล้าเบียร์ต้องออกแรงดิ้นกันอีกครั้ง หลังกรมควบคุมโรค ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้มาระยะหนึ่ง โดยร่าง พ.ร.บ.ที่จะมีการแก้ไข หลัก ๆ ในส่วนนิยามคำว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “สื่อสารการตลาด”

โดยเฉพาะมาตรา 32 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

นอกจากนี้ยังจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ (มาตรา 43) เช่น โทษจำคุกจาก 1 ปี เป็น 2 ปี หรือโทษปรับ จากสูงสุด 5 แสนบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท เพิ่มโทษปรับรายวัน (หากกระทำความผิด) เป็นวันละ 5 หมื่นบาท จากเดิมที่วันละ 1 หมื่นบาท โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่ 25 มิ.ย.-9 ก.ค. เป็นเวลา 15 วัน

ทุบอุตสาหกรรมสูญ 2 แสนล้าน

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ “ไลเกอร์” “อัลเลมองท์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จะกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งระบบ โดยจะส่งผลต่อผู้ประกอบการโดยตรงและกระทบกับซัพพลายเชนทั้งระบบ และผู้ประกอบการที่มีสินค้าอื่นภายใต้แบรนด์เดียวกันอาจจะต้องมีการเปลี่ยนโลโก้เพื่อจำหน่ายต่อ

นั่นคือสิ่งที่สะท้อนจากการปรับแก้ไขร่างดังกล่าว หรือหากคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย น่าจะอยู่ราว 2 แสนล้านบาท (ประเมินจากตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนโควิดที่มีอยู่ราว 4 แสนล้านบาท) หรือหากปัจจุบันธุรกิจแอลกอฮอล์มีมูลค่าอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ตัวเลขจะเหลือไม่ถึง 1 แสนล้านบาท โดยมองว่าสิ่งที่รัฐควรจะทำนับจากนี้คือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้ประชาชนในการดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า

“ถามว่าเรากระทบแค่ไหนหากร่างแก้ไขของภาครัฐถูกนำมาใช้ มองว่าผู้ประกอบการจะตายทั้งระบบ ตั้งแต่โรงงาน (บรรจุภัณฑ์) พนักงาน แรงงาน ร้านอาหาร ค้าปลีก หรือแม้กระทั่งเกษตรกร ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะเหลือแต่แบรนด์ใหญ่ที่อยู่ได้ตามสภาพ โดยไม่สามารถทำอะไรได้ โครงการกิจกรรมเพื่อสังคมดี ๆ หรือเม็ดเงินอุดหนุนที่แบรนด์แอลกอฮอล์สนับสนุนสังคมอยู่ก็จะหายไปด้วย อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้จัดเก็บภาษีลดลงตามไปด้วย เนื่องจากมีแบรนด์ที่ตายไปจากมาตรการดังกล่าว”

นายอาชิระวัสส์กล่าวว่า นอกจากในอนาคตผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย ทั้งรายย่อย รายกลาง หรือรายใหญ่ อาจจะต้องเบนเข็มไปทำตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทดแทนการดำเนินธุรกิจในประเทศที่ถูกปิดกั้น

แบนโฆษณาซ้ำรอยบุหรี่

นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 ร่าง ที่อยู่ในกระบวนการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน ร่างแรก เป็นร่างของกรมควบคุมโรค ที่ต้องการเพิ่มเครือข่ายการรณรงค์ หรือเพิ่มสมาชิกที่เป็นข้าราชการ โดยไม่มีผู้ประกอบการในธุรกิจ, ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการออกกฎหมายบังคับเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องผ่านประชามติ, ห้ามแสดงข้อมูลสำคัญต่าง ๆ รวมถึงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มบทลงโทษ โทษจำคุกและปรับเป็นเท่าตัว

“ร่างดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับการห้ามในอุตสาหกรรมบุหรี่ คือ การห้ามทั้งกระบวนการโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งการโฆษณาสินค้าภายใต้แบรนด์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่ม หรือโซดา นอกจากนี้ ยังเพิ่มการโครงการเพื่อสังคม (CSR ) ไปจนถึงการห้ามติดป้ายโลโก้-ชื่อ บนเมนูร้านอาหาร นั่นแสดงถึงการห้ามโดยเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับการควบคุมยาสูบ หรือบุหรี่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งระบบ”

นายธนากรกล่าวว่า ส่วนอีกร่างหนึ่งเป็นร่างที่มาจากการรวบรวมรายชื่อภาคประชาชน กว่า 10,000 รายชื่อ จากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ จึงขอปรับปรุงแก้ไข (กฎหมาย) เรื่องการโฆษณา “มาตรา 32 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” เนื่องจากมองว่ายังเป็นกฎหมายที่ไม่ชัดเจน และแก้ไขบทลงโทษที่ไม่เหมาะสม

“จริง ๆ แล้วแทนที่กรมควบคุมโรคจะเพิ่มคำจำกัดความเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น มากขึ้น แต่ควรมีการบังคับใช้กฎหมายเดิมให้มีความเข้มงวด โดยใช้บทลงโทษที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างกฎหมายดังกล่าวมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้าที่ขัดต่อข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้ความสำคัญต่อการลดการดื่มแบบไม่เป็นอันตราย เนื่องจากการห้ามแสดงข้อมูลสำคัญต่าง ๆ รวมถึงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ จะทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการรับทราบส่วนผสม จนนำไปสู่การแพ้ส่วนผสมบางตัวที่ไม่รู้” นายธนากรกล่าว

อุตฯโฆษณาสูญพันล้าน

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ มีเดียเอเยนซี่ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เบื้องต้นหากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จริง ซึ่งเนื้อหาใจความหลักเป็นเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลกระทบในวงกว้างกับธุรกิจที่อยู่ในซัพพลายเชนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งระบบ ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก ศิลปินดารา ตลอดจนร้านอาหาร

ขณะเดียวกันยังจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณามูลค่ากว่า 85,000 ล้านบาท ให้แบรนด์มีเครื่องหมายการค้าเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถทำโฆษณาได้ ทั้งในเชิงคอร์เปอเรต สื่อสารแบรนด์ และซีเอสอาร์ (CSR) ซึ่งโดยปกติกลุ่มดังกล่าวจะมีเม็ดเงินหล่อเลี้ยงวงการโฆษณาติด 5 อันดับสูงสุด จากการประมาณการเบื้องต้นคาดว่าจะเสียหายนับพันล้านบาท

“โดยส่วนตัวมองว่ารัฐควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยอาจดูตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการควบคุมการดื่มอย่างมีคุณภาพ และลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีตัวเลขยืนยันอย่างชัดเจน หรืออาจเน้นความเข้มข้นเรื่องดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น ปลูกจิตสำนึกดื่มไม่ขับ เพิ่มบทลงโทษเมาแล้วขับ เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้กฎหมายที่ตรงจุด ไม่ใช่เหวี่ยงแหกฎหมาย ตั้งแต่ต้นทางเช่นนี้ ถือว่ายังแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนัก” นายภวัตแสดงความเห็น