เปิดปม วัคซีนโควิดขาด แอสตร้าเซนเนก้าแจง ไทยสั่งช้าต้นตอปัญหา

ปัญหาวัคซีนโควิด-19 ขาด เปิดจดหมาย อนุทิน ถึงแอสตร้าฯ ขอเร่งส่งวัคซีนโควิดให้ไทยเดือนละ 10 ล้านโดส ขณะที่ แอสตร้าเซนเนก้า แจกแจง ไทยสั่งช้ากว่าประเทสอื่น ต้นตอปัญหา

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 หลังจากที่ประชุม คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ ที่จะใช้ อำนาจตามกฎหมาย ภายใต้มาตรา 18 พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ไปต่างประเทศการชั่วคราว

มอบให้ฝ่ายเลขานุการ คือ สถาบันวัคซีนแหงชาติ และกรมควบคุมโรค ไปทบทวนเนื้อหาของร่างประกาศนี้ เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนฯ พิจารณาเห็นชอบต่อไป ขณะเดียวกัน ยังมอบให้สถาบันวัคซีน และกรมควบคุมโรคดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน เพื่อขอให้เพิ่มสัดส่วนการส่งมอบวัคซีนให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดเผยจดหมายของ นายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ส่งถึง นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

โดยจดหมายดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาระสำคัญว่า ”…การผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ ในประเทศไทยโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และมีการตกลงกันว่า แอสตร้าฯ จะส่งวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุข 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในประเทศไทย หรือราว 3 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่เดือนกันยายน 2563”

“บริษัท แอสตร้าฯ เชื่อว่าหากสามารถผลิตได้มากขึ้น ก็จะสามารถส่งวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุขได้เป็นเดือนละ 5-6 ล้านโดส ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อเดือนกันยายน 2563”

นอกจากนี้ จดหมายฉบับนี้ยังระบุว่า ประเทศไทยมีออร์เดอร์สั่งวัคซีน 2 ครั้ง คือ เดือน มกราคม 2564 และพฤษภาคม 2564 จำนวน 26 ล้านโดส และ 35 ล้านโดส ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 61 ล้านโดส

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ นั้นมีการดำเนินการก่อนประเทศไทย อาทิ เวียดนาม สั่งเดือนพฤศจิกายน 2563, ไต้หวัน ตุลาคม 2563 บรูไน พฤศจิกายน 2563 อินโดนีเซีย ธันวาคม 2563 มาเลเซีย ธันวาคม 2563 และฟิลิปปินส์ มกราคม 2564 เป็นต้น

นอกจากนี้ จดหมายฉบับดังกล่าวยังแนะนำให้ไทยเข้าร่วม โคแวกซ์ (COVAX & Covid-19 Vaccines Global Access Facility) ที่เป็นโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลกด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายอนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งจดหมายตอบกลับถึงบริษัท แอสตร้าฯ โดยระบุว่า ขอบคุณทางบริษัท แอสตร้าฯ ที่ตั้งใจผลิตวัคซีนภายใต้นโยบายไม่หวังผลกำไร รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนมาสู่ผู้ผลิตในประเทศไทย

แต่ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญกับภาวะวิกฤตการระบาดที่มากขึ้น ทำให้ความต้องการวัคซีนเพิ่มขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความต้องการให้จัดหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส และคาดหวังว่าจะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ มากกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่ระบุไว้ หรือให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส