วงการบันเทิงแดนมังกรระส่ำ จีนจัดระเบียบพฤติกรรมแฟนคลับ

MARKET MOVE

 

วงการบันเทิงของแดนมังกรโดยเฉพาะเซ็กเมนต์ไอดอลและรายการเรียลิตี้โชว์ กำลังกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่รัฐบาลจีนจะเข้าควบคุมและจัดระเบียบ หวังสกัดการขยายตัวที่รวดเร็วจนส่งผลกระทบกับสังคมและค่านิยมสไตล์คอมมิวนิสต์จนเกินงาม ต่อเนื่องจากการเข้าควบคุมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การเงิน โรงเรียนสอนพิเศษ และบริการส่งอาหารไปก่อนหน้า

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า สำนักบริหารสื่อทีวีและวิทยุแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสื่อของจีนได้ประกาศเป้าหมายปฏิรูปวงการบันเทิงในหลายด้าน พร้อมเริ่มกระบวนการตรวจสอบรายการบันเทิงที่แพร่ภาพผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง อ้ายฉีอี้ (iQIYI) และ เทนเซ็นต์ (Tencent)

โดยเฉพาะรายการเรียลิตี้โชว์สไตล์แข่งขันคัดตัวไอดอลและนักร้องที่มีโมเดลสร้างรายได้ ด้วยการให้ผู้ชม-แฟนคลับซื้อสินค้าของสปอนเซอร์หรือการจ่ายเงินแลกกับสิทธิโหวตสนับสนุนผู้เข้าแข่งขันให้ผ่านการคัดเลือก อาทิ “ยูท วิท ยู” (Youth with You), “ไอดอล โปรดิวเซอร์” (Idol Producer) ของอ้ายฉีอี้ และ “เดอะ คัมมิ่ง วัน” (The Coming One) กับ “ฉวง” (CHUANG) ของเทนเซ็นต์นั้นทางสำนักบริหารฯเน้นย้ำว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องถูกจัดระเบียบ

สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลจีนต้องออกโรงมาควบคุมธุรกิจบันเทิง เป็นเพราะรายการเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดกระแส “บูชาศิลปิน” ด้วยการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยไร้การควบคุม เนื่องจากโมเดลธุรกิจของรายการเหล่านี้จะกำหนดให้บรรดาแฟนคลับใช้จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าของสปอนเซอร์รายการ หรือสินค้าที่ศิลปินเป็นพรีเซ็นเตอร์อยู่ หากเป็นของกิน-เครื่องดื่มมักจะถูกนำไปทิ้งโดยไม่ได้ทาน ไปจนถึงการเช่าป้ายบิลบอร์ดใจกลางย่านไทม์สแควร์ในสหรัฐอเมริกาเพื่อโปรโมตศิลปิน ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น ในรายการ “ยูท วิท ยู ซีซั่น 3” มีการกำหนดให้แฟนคลับต้องซื้อเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของรายการเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ดแลกกับสิทธิการโหวต นำไปสู่การระดมทุนเพื่อเหมาซื้อเครื่องดื่มดังกล่าวในปริมาณมหาศาล ซึ่งต่อมาแฟนคลับหลายรายนำไปเททิ้งเพราะไม่สามารถดื่มได้หมด

จนเกิดเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์ของแดนมังกร เนื่องจากขัดกับแนวนโยบายของรัฐบาลจีนที่กำลังต่อต้านและแก้ปัญหาความฟุ่มเฟือย อย่างปัญหากินทิ้งกินขว้างและอาหารเหลือทิ้ง จนมีการออกมาตรการปรับเงินร้านอาหารและอินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารไปหลายราย

จนสุดท้ายแพลตฟอร์มอ้ายฉีอี้ต้องออกแถลงการณ์ขออภัย และถอดรายการดังกล่าวออกจากผังแม้ยังไม่จบซีซั่น ขณะเดียวกัน รายการเรียลิตี้โชว์สไตล์เดียวกันต่างได้รับคำขอจากหน่วยงานกำกับดูแลให้หยุดการคัดตัวผู้ร่วมแข่งขันและการถ่ายทำ

ส่วนรายการ “ฉวง 2021” กลุ่มแฟนคลับของผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่งระดมทุนได้มากถึง 3.68 ล้านหยวน (18.9 ล้านบาท) ภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง และหากรวมการใช้จ่ายของแฟนคลับผู้เข้าแข่งขันทั้ง 11 คน ที่เข้ารอบสุดท้ายจะเป็นมูลค่าถึง 100 ล้านหยวน (515.9 ล้านบาท)

นอกจากนี้ กระแสบูชาไอดอลยังเข้มข้น แม้จะไม่เกี่ยวกับการแข่งขัน เช่น แฟนคลับบางกลุ่มรวมตัวกันซื้อสินค้าที่ไอดอลเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อแสดงพลังและสร้างกระแสหวังให้ไอดอลคนนั้น ๆ ได้ดีลงานเพิ่ม โดยมีการกดดันให้แฟนคลับที่ไม่ร่วมลงขันถูกขับออกจากกลุ่ม รวมไปถึงการจ้างนักป่วนหรือแอนตี้แฟน (anti-fan) หรือใช้โปรแกรมอัตโนมัติเพื่อโพสข้อความบ่อนทำลายชื่อเสียงของไอดอลที่ไม่ชอบหรือเป็นคู่แข่งกัน

ทำให้ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนเข้าตรวจสอบและจัดการพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และล้ำเส้นของเหล่าแฟนคลับดาราและไอดอลโดยตรงอีกด้วย

ด้านสื่อของรัฐบาลจีนได้รับลูกมาตรการนี้ โดยลงบทความตำหนิธุรกิจบันเทิงของจีนว่า พยายามใช้ความชื่นชอบต่อศิลปินมาชักนำผู้บริโภคให้ใช้จ่ายเกินตัว รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือสร้างดราม่าบนโลกออนไลน์เพื่อหนุนศิลปินจากค่ายตนเอง หรือทำลายศิลปินจากค่ายคู่แข่ง

ทั้งนี้ ขนาดและความร้อนแรงของรายการสไตล์เรียลิตี้โชว์เหล่านี้ สามารถเห็นได้จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล “แอนท์ กรุ๊ป” ที่ฉายภาพว่า ช่วงเวลา 10 ปีระหว่างปี 2550-2560 ในจีนมีกลุ่มไอดอลน้อยใหญ่เปิดตัวรวมกันแล้วถึง 130 กลุ่ม แม้หลายกลุ่มจะยุบวงไปในเวลาไม่นาน แต่ก็สร้างความคึกคักและเม็ดเงินหมุนเวียนจากงานแสดง เพลง ภาพยนตร์ วิดีโอเกม สินค้าที่ระลึก ฯลฯ ให้วงการไอดอลแดนมังกรไปถึง 1 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 5.15 แสนล้านบาท

ต้องรอดูกันต่อไปว่า วงการบันเทิงและไอดอลของแดนมังกรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หากรัฐบาลจีนลงดาบเข้าควบคุมและปฏิวัติวงการบันเทิงตามที่ประกาศไว้ รวมถึงหากมีการควบคุมการใช้จ่ายของบรรดาแฟนคลับแล้ว เม็ดเงินระดับแสนล้านหยวนเหล่านี้จะกระเซ็นไปยังธุรกิจใดต่อไป