อสมท พลิกกลับมาทำกำไร 43 ล้าน หลังปิดปี’63 อ่วมโควิดติดลบ 2,020 ล้าน

อสมท ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/64 พลิกกลับมามีกำไร 43 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรกทำรายได้ 79 ล้านบาท หลังปิดปี’63 ติดลบ 2,020 ล้าน ชี้ฟื้นตัวจากแผนการหารายได้โฆษณาเพิ่ม-ธุรกิจขายของใหม่-ให้เช่าเวลาทีวี-คุมต้นทุนต่อเนื่อง

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 แม้ปัจจุบันสถานการณ์โควิดยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก และกระทบทุกห่วงโซ่อุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่สื่อทีวี ธุรกิจที่โดนดิสรัปชั่นต่อเนื่อง ทั้งจากสื่อดิจิทัลออนไลน์ ที่แย่งทั้งฐานผู้ชม ตลอดจนเม็ดเงินโฆษณา

อสมท รัฐวิสาหกิจผู้ดำเนินธุรกิจฟรีทีวีรายใหญ่ แม้จะเคยขาดทุนต่อเนื่องมาถึง 5 ปี จากการประมูลทีวีดิจิทัล ดันจำนวนคู่แข่งและการแข่งขันให้สูงขึ้น แต่ดูเหมือนปี 2564 จะกลายมาเป็นปีทองของ อสมท อีกครั้ง ด้วยการพลิกกลับมาทำกำไร 2 ไตรมาสติด ๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

  • ปี 2559 รายได้ 2,891 ล้านบาท ขาดทุน 757 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 2,736 ล้านบาท ขาดทุน 2,543 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 2,562 ล้านบาท ขาดทุน 378 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 2,968 ล้านบาท ขาดทุน 458 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 1,511 ล้านบาท ขาดทุน 2,020 ล้านบาท
  • ปี 2564 (ครึ่งปีแรก) รายได้ 751 ล้านบาท กำไร 79 ล้านบาท

ล่าสุด อสมท ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีผลดำเนินงานทำรายได้รวมกว่า 389 ล้านบาท เป็นกำไร 43 ล้านบาท และกำไรใน 6 เดือนแรกรวม 79 ล้านบาท ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ถึง 123% และ 107% ตามลำดับ

โดยระบุว่า การพลิกกลับมามีกำไรครั้งนี้ หลัก ๆ มาจากแผนการหารายได้เพิ่ม ทั้งจากการหารายได้จากโฆษณาเพิ่ม ผ่านรายการข่าวและรายการผลิตอื่น ๆ ซึ่งมีสัดส่วนโครงสร้างรายได้แบ่งเป็น

  1. ธุรกิจทีวี 33% เพิ่มขึ้น 55%
  2. ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นที่ระบบดิจิทัลและบริการให้สัญญาณดาวเทียม 29% เพิ่มขึ้น 8%
  3. ธุรกิจวิทยุ 27% เพิ่มขึ้น 5%
  4. ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ 5% เพิ่มขึ้น 43%
  5. รายได้อื่น ๆ 6%

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจให้ความสำคัญกับการเช่าเวลามากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำโซเชียลแพลตฟอร์ม ทั้งเฟซบุ๊ก และยูทูบ ไปจนถึงส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้า (shop mania) ที่เป็นธุรกิจใหม่

ตลอดจนการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ บริหารค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ เน้นการร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตมากขึ้น และการดำเนินโครงการ MSP ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ทำให้รายจ่ายลดลงได้ถึง 31%

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายได้รวม 6 เดือนแรกในปี 2564 น้อยกว่าปี 2563 ประมาณ 4% เนื่องจากในปีนี้ไม่ได้มีการบันทึกรายได้ส่วนสัมปทานที่ได้จากธุรกิจที่ร่วมดำเนินการที่หายไปตั้งแต่ปี 2563

นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากนี้ อสมท คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเติมจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ให้ดำเนินโครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ประเทศด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ในชื่อ “ช่อง T Sports 7 หมายเลข 7” ออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลของ บมจ. อสมท แบบความคมชัดปกติ (Standard Definition) ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านรายได้จากธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (Mux) ให้กับ อสมท โดยจะสะท้อนเป็นรายได้ในไตรมาสต่อไป”