“ณุศาศิริ” ยืนยันประมูลชุดตรวจ ATK โปร่งใส ไม่ใช่นอมินี

ชุดตรวจ ATK

รองประธานเจ้าหน้าที่ “ณุศาศิริ” ยืนยันประมูลชุดตรวจ ATK  โปร่งใส ไม่ใช่นอมินีแน่นอน

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) ตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจ ATK ของ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” และเป็นผู้เข้าประมูลจัดซื้อชุดตรวจ ATK ในโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันว่า ชุดตรวจซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. และนำเข้าโดยบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล นั้นมีคุณภาพสามารถใช้งานได้จริง โดยนอกจากผ่านมาตรฐาน CE ในยุโรป และ อย. ของไทย บริษัทยังได้สั่งเข้ามาใช้งานและจำหน่ายมาระยะหนึ่งแล้วไม่พบปัญหาใดๆ และการเข้าประมูลครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส บริษัทไม่ได้เป็นนอมินีของใคร

ย้ำประมูลโปร่งใส-ไม่ใช่นอมินีแน่นอน

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาดของณุศาศิริ อธิบายถึงที่มาของการเข้าร่วมประมูล และความสัมพันธ์กับบริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอลว่า บริษัทต้องการขยายไลน์อัพชุดตรวจโควิด-19 บนแพล็ตฟอร์มสุขภาพและการแพทย์ “MORHELLO” ของบริษัท ซึ่งมีชุดตรวจยี่ห้อ VIRASPEC ที่บริษัทนำเข้าเองซึ่งเป็นแบบตรวจด้วยน้ำลายอยู่แล้ว จึงต้องการชุดตรวจแบบสวอปจมูกมาจำหน่าย

ขณะเดียวกันยังต้องการชุดตรวจราคาถูกมาใช้ตรวจผู้เข้าพักและพนักงานในโครงการณุศา มาย โอโซน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงจำหน่ายต่อให้กับพันธมิตรในวงการท่องเที่ยว อีกด้วย

ต่อมาได้รับการแนะนำจากแพทย์ในเยอรมันเกี่ยวกับชุดตรวจของบริษัท Lepu จึงได้ให้ทีมงานในประเทศเยอรมัน ทำการเช็คชุดตรวจที่วางจำหน่ายอยู่ รวมถึงได้สั่งซื้อชุดตรวจจากบริษัทออสท์แลนด์ เข้ามาทดลองใช้งานจำนวนหนึ่งในราคาประมาณ 200 บาท ซึ่งไม่พบปัญหาในการใช้งาน แต่มองว่ายังสูงทั้งการวางจำหน่ายและใช้งาน

จึงเข้าร่วมประมูลในโครงการพิเศษของสปสช. หวังนำยอดสั่งซื้อ 8.5 ล้านชุดไปต่อรองราคากับโรงงานในจีน เพื่อให้ได้ราคาต่อชิ้นที่ต่ำลง โดยตกลงแบ่งผลประโยชน์ในสัดส่วนออสท์แลนด์ 20% บริษัท 80% รวมถึงรับหน้าที่เข้าประมูล ออกทุน และขนส่งชุดตรวจมายังประเทศไทย ด้วยการชาเตอร์เที่ยวบินของการบินไทยเพื่อทยอยนำสินค้าเข้ามาครั้งละ 3-4 ล้านชุด

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่องค์การเภสัชฯมีคำสั่งชะลอการสั่งซื้อ บริษัทได้แจ้งโรงงานในประเทศจีน และการบินไทยเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ให้ระงับแผนทั้งหมดไว้ชั่วคราวแล้ว โดยจะมีเพียงชุดตรวจล็อตแรกที่ผลิตแล้วจำนวน 5 แสนชุดถูกส่งเข้ามาในวันที่ 16-17 ส.ค. นี้เท่านั้น

“ยืนยันว่าบริษัทไม่ใช่นอมินีของใครแน่นอน เพราะบริษัทมหาชนไม่สามารถจ่ายเงินออกไปให้ตัวการได้ง่ายเหมือนการเป็นบุคคลธรรมดา นอกจากนี้เดิมทีตั้งใจว่า หากไม่ชนะการประมูลจะสั่งซื้อเองจำนวนประมาณ 1 ล้านชุดเพื่อให้ได้ต้นทุนชุดละ 100 บาท อยู่แล้ว ดังนั้นหากไม่ได้งานนี้ก็ไม่ซีเรียส” นางศิริญา กล่าว

ยันกรณี FDA ไม่เกี่ยวกับคุณภาพ

สำหรับกรณีประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ระงับใช้และเรียกคืนชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd ภายใต้การควบคุมการผลิตของ Lepu Medical (Europe) Cooperatief U.A. ณ ประเทศจีน นั้น

นางสาวรังสินี หวังมั่น product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด อธิบายว่า ตรวจสอบพบว่าสินค้าที่ปรากฏในท้องตลาดสหรัฐอเมริกาจำนวน 200,000 ชิ้นนั้น ถูกนำเข้าจากประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่ประเทศของบริษัทฯ ผู้ผลิต และไม่ได้ส่งจากบริษัทฯ ผู้ผลิตโดยตรง เพราะ Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd ไม่เคยมีการจำหน่าย SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test ในประเทศสหรัฐฯ และไม่เคยยื่นขอ FDA จากสหรัฐฯ แต่อย่างใด

การเรียกคืนนี้เป็น กรณีการนำเข้าโดยยังไม่ได้ขออนุญาต ไม่เกี่ยวข้องกับ ประสิทธิภาพของชุดตรวจ และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บจากการใช้ชุดตรวจของ Beijing Lepu แต่อย่างใดอีกด้วย

นอกจากนี้ ตัวแทนจากบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล ยังระบุว่า ชุดตรวจของบริษัท Lepu ผ่านการตรวจสอบโดยสถาบัน BIOMEX GmbH Heidelberg ณ ประเทศเยอรมัน

การใช้งานของบุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ในเดือนเมษายน 2564 มีผลการศึกษาและทดสอบตามลำดับดังนี้ ในเดือนเมษายน 2564 The diagnostic sensitivity was 91.30%, and the specificity was 100% (ความไวในการวินิจฉัยคือ 91.30% และความจําเพาะ 100%) และเดือนมิถุนายน 2564 The diagnostic sensitivity was 95.90%, and the specificity was 100% (ความไวในการวินิจฉัยคือ 95.90% และความจําเพาะ 100%)

นอกจากนี้ ชุดตรวจ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ที่ผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd ยังได้รับการรับรองจาก Conformite European (CE) ซึ่งเป็นกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยในสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการทดสอบที่ระบุไว้ จึงจะสามารถจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในสหภาพยุโรปและเขตเศรษฐกิจยุโรป อีกด้วย