ATK Lepu วุ่นไม่จบ เบื้องหลังยื้อเซ็นสัญญา ผวา พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง

ATK-Lepu-covid19

ยังเป็นเรื่องที่คนในแวดวงต้องเกาะติดสถานการณ์และความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สำหรับการจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 จำนวน 8.5 ล้านชุด มูลค่า 1,014 ล้านบาท ที่วันนี้ดูเหมือนว่าจะงวดเข้ามาทุกขณะ แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด เบื้องลึกเบื้องหลัง กลับพบว่ายังมีคำถามในหลาย ๆ ประเด็น และไม่รู้ว่า การจัดซื้อชุดตรวจโควิดครั้งประวัติศาสตร์นี้จะมีบทสรุปและลงเอยอย่างไร

ปมปัญหา “คุณภาพ-สเป็ก”

หลังจากที่องค์การเภสัชกรรมได้ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ตามโครงการจัดซื้อชุดตรวจโควิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 8.5 ล้านชุด

มูลค่า 1,014 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการหรือลงนามในสัญญาได้และทำให้การจัดซื้อชุดตรวจโควิดต้องล่าช้าออกไปกว่ากำหนดการเดิมนับเดือน

และเป็นที่น่าสังเกตว่า ชุดตรวจโควิด-19 ของ Lepu ผู้ชนะการประมูลยังเป็นข้อถกเถียงของคณะทำงาน คณะอนุกรรมการ สปสช.ที่เกี่ยวข้อง มาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพ และมีคำถามตามมาว่า สินค้าดังกล่าวตรงกับสเป็กที่ สปสช.ที่ตั้งไว้ในตอนแรกหรือไม่

เริ่มจากการประชุมของคณะทำงานกำกับติดตามการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษของ สปสช. เมื่อ 11 สิงหาคมมา แม้จะรับทราบผู้ชนะการประมูลชุดตรวจโควิด-19 ขององค์การเภสัชฯ และมีข้อสังเกตเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่ประชุมจึงมอบให้ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวบรวมข้อมูลเสนอคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการซื้อยาฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

ที่สำคัญ คือ คณะทำงานกำกับติดตามการจัดซื้อยาฯ ไม่สามารถมีมติเห็นชอบผลิตภัณฑ์และราคาที่องค์การเภสัชฯเสนอได้ เนื่องจากไม่ได้รับมอบอำนาจจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการซื้อยาฯ

ให้พิจารณาเห็นชอบผลิตภัณฑ์และราคาที่องค์การเภสัชฯเสนอ เพื่อจำหน่ายของยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์รายการใหม่ที่ไม่เคยจัดซื้อมาก่อน และต้องเสนอให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการซื้อยาฯ ให้พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ถัดมาเมื่อนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อสั่งการข้อหนึ่งว่า ชุดตรวจ ATK จะต้องได้รับรองจาก อย. มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

แม้ข้อสั่งการนี้ทำให้กระบวนการต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะ แต่หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีการปรับแก้ข้อสั่งการใหม่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม โดยตัดข้อความว่า “ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)” ออกไป

แต่มีข้อสั่งการว่า “ขอให้ สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด” แทนกระบวนการต่าง ๆ ที่สะดุดลงก็กลับเริ่มขึ้นอีกคำรบหนึ่ง สะท้อนจากภาพของการส่งหนังสือ เพื่อสอบถามและเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ระหว่างองค์การเภสัชฯ รพ.ราชวิถี และ สปสช.

หลังจากที่นายกฯปรับแก้ข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่นานนัก ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชฯ ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี และ สปสช.

หลังจากที่นายกฯปรับแก้ข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่นานนัก ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชฯ ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี

โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดการสั่งซื้อชุดตรวจโดยด่วน พร้อมอ้างถึงการปรับปรุงแก้ไขข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม

พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯเข้ม

ก่อนหน้านี้ (23 สิงหาคม) ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี ในฐานะตัวแทนการจัดซื้อฯให้ สปชส.ได้มีหนังสือไปยังเลขาธิการ สปสช. ความยาว 4 หน้า โดยย้ำถึงขั้นตอนกระบวนการการจัดการจัดซื้อจัดจ้าง โดยอ้างถึงการประชุมของคณะทำงานกำกับติดตามการจัดซื้อยาฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา และอ้างถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการซื้อยาฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ยังไม่พิจารณาเห็นชอบผลิตภัณฑ์ชุดตรวจและราคาที่องค์การเภสัชฯเสนอ

“จากการที่คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการซื้อยาฯยังไม่มีมติเห็นชอบผลิตภัณฑ์และราคาชุดตรวจและน้ำยาชุดตรวจ ที่องค์การเภสัชฯเสนอ รพ.ราชวิถี จึงยังไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อได้ ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากมติคณะรัฐมนตรีและตามประกาศกรมการแพทย์ เนื่องจากไม่อาจทราบได้ว่าชุดตรวจและน้ำยา ที่องค์การเภสัชได้จัดหา มีข้อเสนอรายละเอียด ตรงตามความต้องการของ สปสช.หรือไม่ และราคาที่องค์การเภสัชเสนอจะได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการซื้อยาฯหรือไม่ รวมถึงขั้นตอนการจัดหาขององค์การเภสัชกรรม ยังมิใช่กระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างของ รพ.ราชวิถี”

นี่อาจจะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาและข้อกฎหมาย ที่ทำให้ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ในเร็ววัน

ตีข่าวได้ฤกษ์เซ็นสัญญา

ล่าสุด (27 สิงหาคม) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกับนางศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหารรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด ตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจ ATK ของบริษัท ออสท์แลนด์ จำกัด แถลงข่าวการจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ว่า เมื่อวานนี้ (26 สิงหาคม) คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯ สปสช. ได้เห็นชอบราคาชุดตรวจ ATK ที่องค์การเสนอ พร้อมได้ให้ รพ.ราชวิถี ดำเนินการจัดซื้อจากองค์การเภสัชฯต่อไป กำหนดการลงนามในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 นี้

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา สปสช. ชี้แจงเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯ เมื่อวาน (26 สิงหาคม) หารือเรื่องนี้อย่างเคร่งเครียด จนต้องใช้วิธีการสรุปด้วยการยกมือโหวตเพื่อลงคะแนน แม้อนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯจะรับรองในเรื่องราคาและจำนวน แต่ไม่ได้มีการรับในเรื่องของผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด เนื่องจากยังมีข้อสงสัยจากกรณีที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บสินค้าจากตลาด

ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง หลังจากองค์การเภสัชฯ ร่วมกับณุศาศิริแถลงข่าวไม่นาน ชมรมแพทย์ชนบท โดยนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้พิจารณาเอกสารวิชาการเพื่อประกอบการตัดสินที่รอบคอบในการอนุมัติชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น โดยระบุถึงความไม่มั่นใจของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต่อคุณภาพของชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu ที่ผ่านการประมูลจากองค์การเภสัชฯ และกาลังจะมีการลงนามในสัญญาการจัดซื้อ

พร้อมกับอ้างถึงข้อความของนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กถึงงานวิจัย เรื่อง “Rapid comparation evaluation of SARS-CoV-2 rapid point-of-care antigen tests” ศึกษา โดย Anna Dennzler และคณะ ที่ส่วนหนึ่งระบุว่าชุดตรวจสอบนี้ มีความไวต่ำมาก การใช้ชุดตรวจนี้มีโอกาสเกิดผลลบลวง (false negative) สูง

ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบทยังย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ ATK ยี่ห้อ Lepu ที่ประมูลได้ในราคาต่ำสุดนี้ ไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในโรงพยาบาลและการใช้ตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงไม่ว่าจะตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือให้ตรวจตนเองก็ตาม เพราะมีความแม่นยำต่ำมีผลลบลวงมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ ดังที่ปรากฏในรายงานจากงานวิจัยจากเยอรมนี และปากีสถาน

พร้อมกันนี้ ประธานชมรมแพทย์ชนบทยังส่งหนังสือดังกล่าวไปถึงอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้อานวยการโรงพยาบาลราชวิถีด้วย

ขณะที่อีกฝากหนึ่ง แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงเรื่องนี้เพียงสั้น ๆ ว่า “กระทรวงสาธารณสุขจะลงนามจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดในวันนี้ (27 สิงหาคม) และจัดส่งให้ได้ใน 2 สัปดาห์ จะทำให้ประชาชน ผู้ประกอบการเข้าถึง ATK ในราคาที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้ในร้านอาหาร สถานประกอบการได้”

อย่างไรก็ตาม ต่อมา ณุศาศิริแจ้งผ่านสื่อมวลชนว่าจะเซ็นสัญญาลงนามซื้อชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu จำนวน 8.5 ล้านชุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 นี้

ส่งของเร่ขายออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างอีกด้านหนึ่ง ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณุศาศิริ และเวิลด์ เมดิคอล ได้ทยอยนำชุดตรวจโควิด-19 ออกมาขายผ่านออนไลน์ ที่ระบุว่า บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ร่วมกับบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล ผู้นำเข้า ATK Lepu ลอตประมูล 8.5 ล้านชิ้น มาขายให้ประชาชนชน ในราคาชุดละ 75 บาท ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ Line @Morhello จะขายราคานี้เฉพาะลอตประมูล 8.5 ล้านชุดลอตเดียว ส่วนลอตต่อไปจะขายในราคาปกติประมาณ 140 บาท

โดยการจัดหน่ายดังกล่าวอาจเข้าข่ายขัดต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ 12 กรกฎาคม 2564 ที่อาศัยความตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ (เรื่องสถานที่จัดจำหน่าย) การระบุเนื้อหาดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการโฆษณา แต่ตรวจสอบดูแล้วเนื้อหาไม่ได้แจ้งว่าได้รับอนุญาตให้โฆษณาแล้วหรือไม่ จึงเข้าข่ายการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งหมดนี้ คือ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับการประมูลชุดตรวจครั้งประวัติศาสตร์

แต่ท้ายที่สุดจะได้มีการลงนามในสัญญาหรือไม่ ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะกล้าจดปากกาลงนามในสัญญาหรือไม่

ต้องติดตาม…เรื่องนี้คงยังไม่จบลงง่าย ๆ