จังหวัดของคุณเป็นพื้นที่สีอะไร ? ทำอะไรได้บ้าง ? ตามประกาศใหม่ ศบค.

เช็กสีจังหวัด
ภาพจาก Reuters
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 17 มิถุนายน 2565

หลัง ศบค.ออกมติใหม่ จังหวัดของคุณเป็นพื้นที่สีอะไร ? และมีมาตรการบังคับใช้อย่างไรบ้าง ตรวจสอบได้ที่นี่ 

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับพื้นที่สถานการณ์และมาตรการป้องกันโรคแบบบูรณาการ โดยให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

พื้นที่เฝ้าระวัง 77 จังหวัด

มติดังกล่าว ได้ปรับให้ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ได้แก่ ชัยนาท ตราด นครพนม น่าน บุรีรัมย์ พิจิตร อ่างทอง มหาสารคาม ยโสธร ลำปาง สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี

พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ราชบุรี ลพบุรี เลย ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี

สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี กระบี่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา

พื้นที่อื่น ปรับเหลือ 0 จังหวัด

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) รวมทั้งพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) คงเหลือ 0 จังหวัด

มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ ดังนี้

  • ควรสวมหน้ากาก และให้สวมหน้ากากตลอดเวลา เมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิดหรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก
  • การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ ให้เปิดบริการได้ตามปกติ โดยต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  • สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง เปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเปิดให้บริการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิม
  • การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว อนุญาตผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ
  • การคัดกรองอุณหภูมิ ไม่จำเป็นต้องคัดกรองในอาคารสถานที่ (อาจให้มีการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด)
  • การเว้นระยะห่าง ให้มีความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
  • มาตรการรวมกลุ่ม ให้ตรวจคัดกรอง ATK กรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ขอให้แจ้งทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครทราบ เพื่อเฝ้าระวังการระบาด