สธ. คาดสถานการณ์โควิดดีขึ้น ชี้อนาคตเป็นเพียงโรคประจำถิ่น

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

สธ. เผยสัญญาณบวกโควิดดีขึ้น ประชาชนเข้าใจโรค-จำนวนเตียง กทม. เขียวเหลืองแดงพร้อมรองรับกว่าพันเตียง ตั้งเป้าดัน กทม.-ภูเก็ต ขึ้นแท่น 2 จังหวัดโมเดลโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคต

วันที่ 21 กันยายน 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ เคยคาดการณ์กันไว้ว่า หากผ่อนคลายมาตรการลง โดยไม่มีมาตรการอื่น ๆ มารองรับตัวเลขเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากช่วงที่ผ่านมา ที่จำนวนผู้ป่วยโควิดลดลงค่อนข้างช้า แต่ สธ. ก็ได้พยายามหามาตรการอื่นมาควบคุมเพิ่ม

ไม่ว่าจะเป็นการแจกชุดตรวจโควิด ATK ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงคนละ 2 ชุด เพื่อคัดกรองคนติดเชื้อออกจากคนปกติให้เร็วที่สุด และเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งขณะนี้พบว่าจำนวนเตียงกลับมามีเพียงพอแล้ว อีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid Free Setting) และการป้องกันตัวครอบจักรวาล (Universal Prevention) เนื่องจากแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังอาจมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่เชื้อได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การระบาดอีกระลอกในที่สุด

ปลัด สธ. ระบุอีกด้วยว่า ตามจริงแล้วนโยบายของรัฐบาล ไม่ต้องการให้มีการปิดประเทศ สธ. จึงต้องพยายามหามาตรการควบคุมโรค เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่การที่จะคงสภาพไม่ล็อกดาวน์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคน

อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไปการผ่อนคลายมาตรการ อาจใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่มาป็นตัวแปรน้อยลง และหันไปพิจารณาศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยเป็นหลักแทน โดยที่ผ่านมาทุกฝ่ายเข้าใจโรคมากขึ้น ประกอบกับมีระบบการจัดการดูแลรักษาได้ดี ทั้งระบบ Home Isolation, Community Isolation ตลอดจนการรักษาใน Hospitel และ รพ.

“ในจำนวนผู้ป่วยโควิดจะมี 20% ต้องเข้า รพ. ส่วนใน กทม. มีประชากรกว่า 10 ล้านคน แต่ติดเชื้อเพียง 1,000-2,000 คน ถือว่าไม่สูง ประกอบกับปัจจุบัน กทม. เหลือเตียงสีแดงหลายร้อยเตียง ส่วนเตียงสีเหลืองเหลือหลักพัน ขณะที่เตียงสีเขียวเรียกว่ายังมีอยู่จำนวนมาก”

ทั้งนี้ การติดเชื้อโควิดคงไม่สามารถลดลงได้จนถึง 0 ราย แต่เชื่อว่าการติดเชื้อจะเป็นในรูปแบบเอนเดอร์มิก (Endemic) หรือโรคประจำถิ่นมากขึ้น ซึ่งไม่มีความรุนแรง แต่ปัจจัยสำคัญต้องขึ้นอยู่กับการกระจายฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร เช่น กทม. ภาพรวมต้องปูพรมให้ถึง 90% ผู้สูงอายุต้องถึง 90% เช่นกัน ส่วนเข็มที่ 2 ต้องมากกว่า 40%

โดย กทม. จะเป็นพื้นที่แรก ๆ ในการเป็นโมเดลโรคประจำถิ่น คือ ไม่มีการป่วยหนัก และไม่มีการระบาดในวงกว้าง ก็จะนำไปสู่การดูแลประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง เช่นดียวกันกับ จ.ภูเก็ต ดังนั้น 2 พื้นที่นี้ ก็จะเคลื่อนเข้าสู่เอนเดอร์มิกได้เป็นพื้นที่แรก ๆ

ทั้งนี้ สธ. มีฝ่ายวิชาการติดตามและประเมินสถานการณ์โรคประจำถิ่น ที่ต้องมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรถึงจะเคลื่อนโรคโควิดให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นแทนโรคระบาดได้ เช่น ฉีดวัคซีนครอบคลุม การดูแลรักษาพยาบาลได้อย่างดี ป้องกันตัวเองได้ดี เป็นต้น โรคจะไม่รุนแรง และจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปเองในที่สุด

โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำแผนต่าง ๆ มาทำตัวชี้วัด เพื่อกำกับให้เกิดผลลัพธ์ตามคาดหมาย เพื่อให้โรคสงบได้เร็ว แต่ไทยเพิ่งรู้จักโควิดครั้งแรก อาจทำให้มีการระบาดได้บ้าง ส่วนปัจจัยการกลายพันธุ์ของเชื้อก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด