อย. ร่าง พ.ร.บ. กัญชา ประชาชนปลูกได้แต่ต้องจดแจ้ง ห้ามใช้นันทนาการ

กัญชา
Photo by Aphiwat chuangchoem

อย. จัดทำร่าง พ.ร.บ.กัญชา รับปลดล็อกจากสารเสพติดอย่างสิ้นเชิง เน้นคุมการใช้เพื่อนันทนาการ เว้นพื้นที่ได้รับอนุญาต-คนท้อง เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามใช้ ด้านประชาชน-นิติบุคคลปลูกได้ แต่ต้องจดแจ้ง กรณีนำเข้า-จำหน่ายต้องขออนุญาต

วันที่ 24 มกราคม 2565 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กัญชา กัญชง เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแผนปัจจุบัน หรือภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย และยังสามารถนำสารสำคัญที่มีประโยชน์ในกัญชา กัญชง ไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง สมุนไพรและอื่น ๆ ที่สำคัญสามารถปลูกใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เป็นเหมือนพืชสมุนไพรประจำบ้าน นำมารักษาสุขภาพตนเองและครอบครัว สร้างรายได้กับผู้ปลูก เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในครัวเรือนและของประเทศ

โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อให้มีการนำกัญชา กัญชง ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดนั้น

ล่าสุด อย. ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ขึ้น เพื่อควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดย ร่าง พ.ร.บ. นี้ มีสาระสำคัญ ได้แก่

1.ห้ามใช้แบบนันทนาการ เว้นแต่ในพื้นที่ที่กำหนดซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อน
2.ควบคุมไม่ให้มีการใช้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถสั่งจ่ายให้กับคนไข้ของตนได้ และหากจะผลิตสมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข โดยใช้กัญชา กัญชง เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถปลูกกัญชาได้ แต่ต้องมาดำเนินการจดแจ้งหรือขออนุญาตก่อน

โดยสามารถทำได้ง่าย สำหรับการจดแจ้ง จะใช้ในกรณีที่มีการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือการปลูกเพื่อปรุงยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งจดแจ้งได้ภายในจังหวัดนั้น ๆ

ส่วนกรณีที่ต้องขออนุญาตก่อน จะใช้ในกรณีที่ผู้ใดประสงค์จะผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โฆษณา ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมาย เสียก่อนจึงจะดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะเน้นควบคุมป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ประชาชนสามารถปลูก เพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาตนเองและครอบครัวได้อย่างทั่วถึง เสริมสร้างรายได้ให้ประชาชน นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ได้ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย