ปลดล็อกกัญชา พ้นรายชื่อยาเสพติดสิ้นเชิง สธ.เตรียมประกาศ

บอร์ดควบคุมยาเสพติด มีมติเห็นชอบปลดกัญชาพ้นยาเสพติดสิ้นเชิง ส่งไม้ต่อ ป.ป.ส. อนุมัติ 25 ม.ค.นี้ ก่อน สธ. ลงนามประกาศกระทรวง

วันที่ 20 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีความคืบหน้าปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชีสารเสพติดอย่างสิ้นเชิง เพื่อเป็นการลบภาพลักษณ์เชิงลบที่มีต่อพืชกัญชา และกำหนดทิศทางการใช้พืชกัญชาได้อย่างชัดเจน

โดยเมื่อ 17 มกราคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยมี นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. คือ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis

ยกเว้นที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ คือ ก.สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง เฉพาะที่ได้จากการอนุญาตปลูกในประเทศ ในทุกส่วนที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และ ข.สารสกัดจากเมล็ดกัญชา กัญชง ที่ได้จากการปลูกในประเทศเช่นกัน

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดให้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการฯ ซึ่งได้มอบหมายให้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมฯ โดยมีวาระเพื่อพิจารณาที่สำคัญ คือ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. ….

โดยมติในที่ประชุมเห็นชอบตรงกันในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไป คือ การยกร่าง เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(คณะกรรมการ ป.ป.ส.) เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันอังคารที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 13.00-14.00 น. นี้

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ความเห็นของแพทยสภาและราชวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้แพทยสภาได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ขอเรียนให้ที่ประชุมทราบดังนี้คือ

1. ข้อเท็จจริงของกัญชาคือ พืชกัญชามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ 2 ชนิดคือ tetrahydrocannabinoid (THC) และ cannabidiol (CBD) ตัวที่สำคัญคือ THC ชึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และถือเป็นสารเสพติด

2. การใช้กัญชาตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาคือการตัวพืชกัญชาเอง และสารสกัดกัญชา 3. ในปัจจุบันมีการใช้กัญชาทางการแพทย์มากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่ามีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการด้วย

4. การได้รับสารกัญชามีผลต่อสุขภาพทั้งระยะเฉียบพลัน และระยะยาว ในระยะเฉียบพลันจะทำให้ผลต่อจิตประสาท เกิดภาวะประสาทหลอน และการทำงานของสมองลดลง ซึ่งแพทย์ทั่วไปต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านี้อยู่เป็นประจำ และมีการศึกษาว่าการเสพกัญชาทำให้มีอุบัติเหตุมากขึ้น กัญชาทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวชเลวลง ส่วนระยะยาวเด็กและเยาวชนที่สมองกำลังพัฒนาจะทำให้เกิดผลเสียอย่างถาวรได้

5. ทั้งพืชกัญชาและสารสกัดกัญชา จึงมีทั้งประโยชน์และโทษ เปรียบเหมือนดาบสองคม การจะให้ประชาชนเข้าถึงกัญชา จึงต้องมีความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน และกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่เยาวชนและเด็ก ผู้ป่วยจิตเวช

6. แพทยสภา ไม่ขัดข้องและยังสนับสนุนให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ บนพื้นฐานของการมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ดังได้ร่วมกับราชวิทยาลัยต่างๆ และกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาทบทวนจนได้ภาวะความเจ็บป่วยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษาด้วยกัญชา 4 ภาวะ และยังสนับสนุนให้มีการศึกษาในภาวะอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่แพทยสภาไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

7. แพทยสภาและราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องขอยืนยันจุดยืนที่เคยได้แสดงไว้เมื่อปีพศ. 2562 8. ในกรณีของร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ แพทยสภาจึงมีความเห็นว่านอกจากสารสกัดจากกัญชาที่มีสาร THC > 0.2% แล้วส่วนขิงพืชกัญชา กัญชงที่สามารถสกัดได้ THC>0.2% ก็ควรถูกควบคุมด้วย

9. ดังนั้นหากรัฐหรือ อย.ยังไม่มีมาตรการที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า การที่ไม่รวมบางส่วนของพืชกัญชาและกัญชงนั้น สามารถควบคุมให้ไม่เกิดอันตรายกับประชาชน กลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่เยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี เด็กและผู้ป่วยจิตเวชได้ ก็สมควรจะคงส่วนของพืชกัญชา กัญชงนั้นไว้เหมือนกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2563 ไว้ก่อน

10. แพทยสภาขอเสนอให้ มีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้รัฐให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้องและรอบด้านแก่ประชาชน 11. ขอวิงวอนให้กรรมการได้โปรดพิจารณาและรับฟังเสียงต่างๆอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจด้วยครับ