ลุ้นเม็ดเงินโฆษณาปี’65 ฟื้น12% แนะจับตาโอมิครอน-กำลังซื้อตัวแปรอุตสาหกรรม

ภาพ Pixabay

MI ลุ้นปัจจัยบวกปลุกเม็ดเงินโฆษณาปี 2565 ฟื้นรอบ 2 ปี 12% หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประชาชนจับจ่ายเพิ่ม เผยสื่อทีวีครองแชมป์ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดแม้สัดส่วนต่ำกว่า 50% แนะจับตา KOLs (Influencers) สื่อดิจิทัลสุดแรง หลังแบรนด์หันใช้กระตุ้นยอดขาย แนะจับตาปัญหาโควิด-กำลังซื้อสงครามระหว่างประเทศ ตัวแปรสำคัญฉุดอุตสาหกรรม

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI เปิดเผยว่า ความวิตกกังวลกับสายพันธุ์ Omicron ที่ติดได้ง่ายกว่า และไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็น ส่งผลต่อการกลับมาใช้มาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาด ทำให้เกิดความกังวลว่า COVID-19 ไม่น่าจะจบลงได้เร็วอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้

ภวัต เรืองเดชวรชัย

โดยข้อมูลยืนยันจากหน่วยงานสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า สายพันธุ์ Omicron ที่ระบาดในหลายประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในระยะยาวน่าจะส่งผลดีต่อการระบาดของ COVID-19 ที่จะปรับสถานะเป็น endemic หรือโรคระบาดท้องถิ่นทั่วไป ซึ่งน่าจะทำให้การใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจกลับมาใกล้เคียงปกติมากขึ้น

จากผลการสำรวจโดย Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) หรือ HILL ASEAN ประจำประเทศไทยล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เกี่ยวกับ “ภาพรวมความสุขและความเชื่อมั่นของคนไทยต่อสถานการณ์ COVID-19 และเศรษฐกิจในปัจจุบัน” โดยกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 44% คาดว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ตนเองน่าจะมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากขึ้น และมีเพียง 6% ที่คาดว่าตัวเองจะมีความสุขน้อยลง

สอดคล้องกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ได้ประเมินเม็ดเงินสื่อโฆษณาปีนี้ว่าน่าจะเติบโตได้ 5% แต่ในส่วนของ MI คาดการณ์ว่าเม็ดเงินสื่อโฆษณาปีนี้น่าจะมีโอกาสเติบโตได้ถึง 12% คือ 84,000 ล้านบาท (เปรียบเทียบกับปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 75,000 ล้านบาท) จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และกว่า 30% ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว (เข็ม 3) และประชาชนอยากกลับมาชีวิตปกติหลังอัดอั้นมากว่า 2 ปี

โดยอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าและบริการที่น่าจะคึกคักเป็นพิเศษในปีนี้คือ 1.รถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) 2.รถจักรยานยนต์ 3.ธุรกิจและบริการที่สอดคล้องกับวิถีใหม่ e-Market Place, Delivery Service, Health & Hygienic Care 4.เครื่องดื่ม Non-alcohol โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Functional Drinks/ Healthy Drinks และ Innovative Drinks หรือเครื่องดื่มนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เครื่องดื่มกัญชา เป็นต้น

5.ธุรกิจที่เกี่ยวกับความงามและสุขภาพ Skin Care Products, Beauty Clinic 6.สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล 7.ทางเลือกการลงทุน การเก็งกำไรในรูปแบบใหม่ แพลตฟอร์มเทรดเหรียญคริปโต 8.กลุ่มสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกไปใช้ชีวิต เช่น ร้านอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย

ด้านภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในปีนี้ พบว่าสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ (Broadcast TV) จะมีสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาลดลงไปต่ำกว่า 50% เป็นปีแรก (หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท) แต่ยังคงความเป็นสื่อหลักอันดับหนึ่ง ขณะที่สื่อดิจิทัล (Online) และสื่อนอกบ้าน (OOH) จะมีสัดส่วนที่โตขึ้น คือ 32% และ 13% ตามลำดับ โดยเม็ดเงินรวมของ 2 สื่อหลักนี้สูงกว่า 38,000 ล้านบาท

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัล (Online) ที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี และในปี 2022 นี้ ทาง MI Group ยังคาดการณ์เติบโตต่อเนื่องอีก 16% หรืออยู่ที่ 27,000 บาท (รอข้อมูลคาดการณ์จาก DAAT อย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคมนี้) โดยมีตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลัก ๆ มาจาก KOLs (Influencers) ซึ่งในปีนี้ KOLs กลุ่มใหม่ที่มาแรงคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุนและเก็งกำไรในรูปแบบใหม่ หรือที่เริ่มเรียกกันอย่างแพร่หลายว่า FIN-fluencers (ซึ่งมาจาก Finance + Influencers)

ขณะที่สัญญาณการกลับมาคึกคักของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา น่าจะเริ่มเห็นตัวเลขชัดเจนในช่วง Summer โดยคาดการณ์เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันคือ มีนาคม-พฤษภาคม ปีนี้และปีที่แล้ว เม็ดเงินโฆษณาน่าจะสูงขึ้นกว่า +10% หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 ล้านบาท (จาก 19,766 ล้านบาท เป็น 21,759 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณบวกต่าง ๆ ดังกล่าว ที่ส่งผลต่อตัวเลขคาดการณ์ปี 2565 ยังคงมีอีกหลายปัจจัยความท้าทายและฉุดรั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ยังคงมีอยู่และดูจะสาหัสมากขึ้นจากวิกฤตโรคระบาด, การกลายพันธุ์ของ Omicron สายพันธุ์ใหม่ BA.2, ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น และอื่น ๆ อาจเป็นตัวชะลอและทำให้ตัวเลขปี 2565 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้