ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน มองอุตฯรถยนต์ผ่าน “ไฟฟ้า-ฟิวเซลล์”

ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน
ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ถือเป็นหมายเลขหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สำหรับค่ายรถยนต์อย่างโตโยต้า

วันนี้ ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเวทีสัมมนา “Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจไทย” ของหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” มาร่วมฉายภาพ และสะท้อนมุมมองความเปลี่ยนแปลง และการก้าวในสเต็ปต่อไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งการปรับโฉม โอกาส ทางรอดของอุตสาหกรรม การสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ในยุคที่ใครปรับตัวได้ ยืดหยุ่นกว่า รู้จักลูกค้ามากกว่า จะฟื้นกลับมาได้เร็วกว่าและอยู่ได้

รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านบนทางสองแพร่งของพลังงานทางเลือก ไปติดตามทุกจังหวะก้าวของโตโยต้าจากนี้ สิ่งที่โตโยต้ามอง คือ มุมมองใหม่ ในนามของอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมหนัก มีอะไรที่ไปแล้วไปเลย หรือมีอะไรกลับมาได้

อุตฯรถยนต์ไทยแจ่ม

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมยานยนต์มีบทบาทสำคัญ มีแชร์ใน GDP 12% และในจำนวนนี้ โตโยต้าขับเคลื่อนอยู่ถึง 4% เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นมีแค่ 3.2% ส่วนอาเซียนเป็น 3-4% ดังนั้น สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมยานยนต์มีบทบาทสำคัญ และมีมูลค่าส่งออก 16,000 ล้านเหรียญ ส่วนโตโยต้ามีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 5,200 ล้านเหรียญ ธุรกิจรถยนต์มีบุคลากรที่เกี่ยวกับการผลิตและขายอยู่ที่ประมาณ 850,000 คน หากรวมในภาคขนส่งเข้ามาจะมีมากถึง 5.6 ล้านคน

ซึ่งเทียบเท่าโครงสร้างประเทศญี่ปุ่น และถือว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีกลไกเทียบเท่าญี่ปุ่น ความสำคัญของประเทศไทย คือมีซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพมากกว่า 2,000 ราย จากเดิมคนอาจจะมองว่าเป็นประเทศเล็กที่ผลิตรถยนต์ตามคำสั่งซื้อ ย้อนกลับไปในปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ เนื่องจากโตโยต้ามีการผลิตแบบลีน (lean) หรือการผลิตแบบไม่มีสต๊อก ครั้งนั้นทำให้โรงงานของโตโยต้า ทั่วโลก เปิดได้แค่ 15 วัน และต้องปิด เนื่องจากมีปัญหาซัพพลายชิ้นส่วนไปทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสำคัญของธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ของโลกค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หลายคนมองว่าเป็นธุรกิจการผลิตอย่างเดียวหรือไม่นั้น สำหรับธุรกิจยานยนต์ถือเป็นธุรกิจ “ผลิตและบริการ” จะเห็นได้ว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (value chain) มีความเกี่ยวข้องกับคนมากถึง 5.6 ล้านคน ความต้องการรถใหม่อยู่ที่ 1 ล้านคันต่อปี มีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเช่าซื้อของไฟแนนซ์มีมูลค่าถึง 85% ของการขาย มีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจประกันมีมูลค่า 94,000 ล้านบาท, ธุรกิจมือสอง 520,000 ล้านบาท จากการที่รถยนต์ใหม่ 1 คัน หมุนเข้าไปในระบบของประเทศ ดังนั้นธุรกิจบริการของรถยนต์สามารถสร้างรายได้สูงกว่ารถใหม่ถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับรถใหม่ที่มีวงจรชีวิต 7 ปี และยังทำให้ผู้ประกอบการเลี้ยงตัวเองได้ แม้ไม่มีรถใหม่ขายก็อยู่ได้

เช่น งานบริการหลังการขาย งานซ่อมทั่วไปและงานซ่อมสีและตัวถัง ของโตโยต้ามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาท

ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน

โดมิโน่จากวิกฤตท่องเที่ยว

หากวิเคราะห์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบให้เกิดความเชื่อมโยงไปอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่น คือ การท่องเที่ยวและบริการ 2564-2565 ตัวอย่าง เช่น ภูเก็ต ที่นักท่องเที่ยวหายไป 10 เท่า ส่งผลยอดขายรถตู้ 50% และยังมีการนำรถมาคืน ไฟแนนซ์ต้องยืดหนี้ แท็กซี่ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถแท็กซี่ในปี 2563 จากเดือนละ 650 คัน เหลือแค่ 80-90 คัน หายไป 8-9 เท่า

จังหวัดที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวยอดขายยังไม่ฟื้นกลับมาภูเก็ตหายไป 50% แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 2 ปี ขณะจังหวัดอื่นอาจจะกลับมา เป็น 80% แล้ว ส่วนภูมิภาคที่มีภาคการเกษตรแข็งแรง ได้รับผลกระทบต่อการล็อกดาวน์น้อยมาก เช่น อีสานที่รับผลกระทบน้อยมาก โดยเฉพาะมีการใช้รถยนต์ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เกิดภาคขนส่งรายย่อย หรือ “คอกซิ่ง” มาใช้รับจ้างขนของส่งของถึงบ้าน ยอดขายรถยนต์ปิกอัพฟื้นตัวเร็วมาก แค่เดือนชนเดือนกลับมาโต จากสัดส่วนการขายของปิกอัพก่อนโควิดอยู่ที่ 43% วันนี้อยู่ที่ 47%

ส่วนอีโคคาร์ก็กลับมาคงตัวได้ แม้รถเก๋งจะตกลงไปค่อนข้างมาก ในช่วงล็อกดาวน์ ผู้คนไม่ต้องการใช้รถสาธารณะ ช่วงนั้นโตโยต้าทำโครงการรถให้เช่า หรือ “คิโตะ” ซึ่งรถประเภทนี้ได้รับการตอบรับดี ทั้งพนักงาน หมอ พยาบาล ที่งดการเดินทางด้วยรถสาธารณะหันมาใช้รถอีโคคาร์ของคิโตะพอสมควร ขณะนั้นธุรกิจรถตก 10-20% แต่ยังถือว่าไปได้ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพ แม้ว่าธุรกิจรถยนต์จะตกลงไป 10-20% แต่ก็เชื่อว่ายังอยู่ในภาวะที่ดีและไปได้

ปัญหาชิปฉุดทุกอุตสาหกรรม

โตโยต้าเชื่อว่าจะมีมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ทั้งยังมีความผันผวน

ขณะที่ซัพพลายชิป (IC chip) ขาด โดยเฉพาะรุ่นที่ขายดี มีการติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเข้าไป ทำให้ชิปขาด ซึ่งต้องมีการติดตามกันอย่างต่อเนื่องสำหรับตรงนี้ และทำให้ “เราต้องคิดในสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าเคยทำมาก่อน หรือไม่เคยทำ” เช่น อาจจะจำเป็นต้องผลิตรถยนต์ที่ไม่มีวิทยุ เนื่องจากต้องนำชิปไปผลิตอุปกรณ์ที่สำคัญก่อน

ดังนั้นเราอาจจะเจอประสบการณ์เหมือน 30 ปีก่อน คือ ซื้อรถแล้วไม่มีวิทยุ การบริหาร lean ปัจจุบัน โตโยต้าบริหารสต๊อกอยู่ที่ 0.1 เดือน หรือผลิตรถมาเพียง 3 วันก็จำหน่ายออกไปแล้ว เพื่อตอบโจทย์ โตโยต้าได้หาโซลูชั่นการนำเทคโนโลยีมาจัดการซัพพลาย ต้องแมตชิ่งเครดิต ระหว่างรถกับลูกค้า โดยใช้ระบบ telematics มาติดตามระบบการผลิตและขายรถ โดยร่วมมือกับสถาบันการเงิน เพื่อตรวจสอบสภาพเครดิตของลูกค้าก่อนซื้อรถ เป็นการเตรียมความพร้อมและทำให้ทุกอย่างหมุนได้เร็วขึ้น

การเปลี่ยนแปลงปรับสภาพธุรกิจมีความจำเป็น ต้นทุนสูงขึ้น รถยนต์ใหม่ขึ้นราคา รถยนต์ใช้แล้วก็ขึ้นราคา เนื่องจากซัพพลายมีจำกัด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินช่วยยืดระยะเวลาชำระหนี้ สำหรับโตโยต้านั้นมีมากกว่าหลายพันล้านบาท และในปี 2566 ต้นทุนไฟแนนซ์จะสูงขึ้น ดอกเบี้ยอาจจะมีปัญหา แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนตัว ทำให้การส่งออกดี อย่างวันนี้ เงินเยนอ่อน ถือเป็นโอกาสระยะสั้นที่จะสั่งชิ้นส่วนเข้ามาผลิตในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม

เชื่อ 5 ปีจากนี้อีวีแรงแน่

ตลาดรถยนต์จะมีการแตกตัวแบ่งเซ็กเมนต์มากขึ้น ทำให้อีโคโนมีออฟสเกลทำได้ยากขึ้น ต้องมีบริหารจัดการให้ดี เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีความต้องการเฉพาะเจาะจงมากขึ้น รถยนต์พลังงานทางเลือกจะเข้ามามากขึ้น และจะมีการสร้างโรงงาน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีการขยายเครือข่ายการจัดจำหน่าย ถือเป็นโอกาส โดยภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้จะได้เห็นผู้เล่นรถอีวีเข้ามาค่อนข้างเยอะ แต่จะมีผู้ประสบความสำเร็จไม่กี่รายเท่านั้น

ขณะที่วันนี้รถยนต์ EV ยังมีดีมานด์มาก แต่ซัพพลายจำกัด ดังนั้นจึงเชื่อว่ารถ xEV จะเป็นตัวขับเคลื่อนในช่วงสั้น 3-4 ปีจากนี้ ส่วนรถเชิงพาณิชย์ เป็นรถในกระแสหลักจะยังไม่มีการเปลี่ยนเทคโนโลยี ส่วนรถยนต์นั่งและเอสยูวี ลูกค้าจะเริ่มมองหาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงหรืออย่างน้อยต้องมีส่วนหนึ่งของไฟฟ้ามารองรับ เช่นเดียวกันธุรกิจแท็กซี่จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะแอปแท็กซี่เข้ามา รถเช่าขนาดเล็กมาชดเชยรถขนาดกลาง

ใช้เทคโนโลยีสร้าง Value Chain

ขณะที่เครือข่ายการขายจะเปลี่ยนไป โดยมีการนำ AI และ data เข้ามาช่วย เพื่อแย่งกันมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า โตโยต้าเปลี่ยนการสนับสนุนลูกค้ามาเป็น ระบบ Toyota T-Connect โตโยต้าดูแลลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าให้อยู่กับเราทุกวัน มีการสร้างระบบ customer 365 วัน ต้องดูแลประสบการณ์ลูกค้าผ่าน AI ให้ลูกค้ารู้ว่าเราดูเขาแล้วมีความสุข

ระบบการขายสินค้าจะเปลี่ยนเป็นระบบร่วมช่องทางการขายหรือพาร์ตเนอร์ชิปจากเดิมระบบมาร์จิ้นทำให้เกิดต้นทุนที่แข่งขันได้ยาก จะเปลี่ยนไปเป็นระบบเอเย่นต์แทนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนของดีลเลอร์ชิป อาจจะต้องลดขนาด เพื่อให้บริหารจัดการต้นทุนสต๊อก และราคาได้ ก่อนหน้านี้ทุกคนพยายามลงทุนหน้าร้านขยายสเกล ผมไม่แนะนำว่าไม่น่าจะทำแบบนั้นอีกแล้ว เพราะฮาร์ดแวร์ไม่ได้สร้างรายได้แบบนั้นแล้ว หากรายได้เพิ่มเติมผ่านระบบต่อเนื่อง (value chain)

โตโยต้าขายรถใหม่แล้ว แต่ต้องดูแลรถเก่า ต้องปรับวิสัยทัศน์การทำธุรกิจใหม่เป็น mobility company ปลดล็อกตัวเองก่อน คิดใหม่ จากเดิมทำ ฮาร์ดเเวร์ก่อน วันนี้เรามองว่าจะทำ “ซอฟต์แวร์” ก่อน รวมกับพาร์ตเนอร์สร้างโซลูชั่นกับลูกค้าได้อย่างไร ทำธุรกิจร่วมกัน วันนี้ลูกค้าเปลี่ยน mindset เป็น global citizen มากยิ่งขึ้น สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงจากโซเชียลมีเดีย เรียนรู้เร็ว วิธีคิดเปลี่ยนไป ดังนั้นทุกธุรกิจห้ามมองกลับหลังและควรมองไปข้างหน้า

มาแน่ทั้ง 2 เทคโนโลยี

สุดท้าย ความชัดเจนระหว่างรถยนต์อีวี หรือไฮโดรเจน ที่โตโยต้าจะเลือกไปนั้น ดร.สุรศักดิ์บอกว่า นี่คือหนังเรื่องยาว เช่นเดียวกับหนังเรื่องสงครามไฟฟ้าที่เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “เอดิสัน” และ “เวสติงเฮาส์” เรื่องการใช้ “กระแสตรง” หรือ “กระแสสลับ” เป็นสตอรี่เรื่องยาวที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรดีกว่ากัน เทคโนโลยีอยู่ระหว่างการพัฒนา

สุดท้ายไม่มีใครตอบได้จะจบตรงไหน แต่ไฟฟ้าหรือไฮโดรเจนสุดท้ายผมคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ใช่เกิดขึ้น ทุกคนต้องปรับตัว เสมือนวันนี้เราอยู่ในยุคแรกของการใช้กล้องดิจิทัล ที่ต้องปรับหลาย ๆ อย่างจนได้รับการยอมรับ แทนกล้องฟิล์ม แต่วันนี้กล้องฟิล์มก็ยังมีอยู่ เทคโนโลยีเองก็ปรับตัวแบบก้าวกระโดด อุปสรรคหลายอย่าง เช่น น้ำหนัก ความจุ ราคาวัสดุ

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว เพราะสิ่งที่เรามองข้ามไปวันนี้คือ ราคา และมูลค่าซากของรถอีวี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว สถานีชาร์จ บริษัทน้ำมัน ไฟแนนซ์ ธุรกิจที่เข้ามาอาจจะเป็นธุรกิจเช่าแบตเตอรี่

โดยเดือนนี้ (พ.ย.) โตโยต้าจะเปิดตัวรถ bZ4x ในเดือนนี้ และทำโครงการทดลองเพื่อเป็นโครงการสาธิตไฮโดรเจน ฟิวเซลล์เป็นโครงการสาธิตที่พัทยา โตโยต้าพยายามดูแลว่า ทำอย่างไร เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากคาร์บอน