ประกัน “รถอีวี” อลหม่าน เกณฑ์ใหม่เบี้ยถูก-ดึงคนขับร่วมจ่ายเคลมแบตเตอรี่

ประกันภัยรถอีวีอลหม่าน บริษัทประกัน-ค่ายรถเร่งฟื้นเชื่อมั่น หวั่นปมเคลม “แบตเตอรี่” กระทบผู้บริโภคชะลอซื้อ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” เปิดสายด่วนรับเรื่อง คปภ.จับมือสมาคมประกันฯ คลอดเกณฑ์เฉพาะกิจ 3 ทางเลือกรับประกันอีวี ธ.ค.นี้ กดเบี้ยถูกลง ดึงเจ้าของรถร่วมจ่ายเคลมแบตฯพัง เร่งศึกษาโมเดลต่างประเทศ ยกร่างกรมธรรม์แบบแยกชิ้นส่วน ปิดช่องโหว่ ค่ายรถเชื่อไม่กระทบยอดจอง “เอ็มจี” เร่งปูพื้นความรู้อีวีทั้งดีลเลอร์และลูกค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีรถยนต์อีวี ORA Good CAT ของลูกค้ารายหนึ่ง ที่เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย แต่ทำให้เกิดความเสียหายกับฝาครอบแบตเตอรี่ใต้ท้องรถ จนบริษัทประกันภัยเสนอคืนทุนประกันแบบอุบัติเหตุหนักที่เสียหายทั้งคันและโอนกรรมสิทธิ์เป็นซาก แต่ผู้เอาประกันไม่ยอมต่อสู้ จนเป็นกระแสความสนใจ เนื่องจากขณะนี้เทรนด์รถอีวีกำลังได้รับความสนใจประชาชน จนเกิดความกังวลของกลุ่มผู้สนใจรถอีวี กรณีเกิดอุบัติเสียหายกับแบตเตอรี่ ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวี

ในกรณีนี้ต่อมาทางค่ายรถยนต์เกรท วอลล์ มอเตอร์ แจ้งว่าจากการนำแบตเตอรี่ไปทดสอบด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง พบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ส่งผลกับตัวแบตเตอรี่ภายในใด ๆ ทั้งสิ้น จึงวิเคราะห์ให้เปลี่ยนเฉพาะฝาครอบแบตเตอรี่ที่ได้รับความเสียหายจากการกระแทกเท่านั้น ประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการจ่ายเบี้ยประกันรถอีวีแพงแต่ความคุ้มครองไม่ทั่วถึง รวมถึงผลกระทบต่อการขายรถอีวีซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงมีอีเวนต์ใหญ่มอเตอร์เอ็กซ์โป

เบี้ยประกันอีวีแพงกว่า 5-30%

นายวาสิต ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกันภัยถือว่ายังเป็นปลายน้ำของแวลูเชนรถอีวี เพราะคนซื้ออาจไม่ได้มองเป็นหลักว่าเบี้ยประกันถูกหรือแพงในการตัดสินใจซื้อรถ อาจจะมีบ้างถ้าเกิดมูลค่าของประกันสูงมาก เช่น รถซูเปอร์คาร์ เป็นต้น

แต่สำหรับรถอีวีสัญชาติเอเชียด้วยราคารถไม่สูงมาก มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือแม้กระทั่งการแข่งขันของบริษัทเช่าซื้อ ทำให้ค่างวดต่อเดือนของผู้ซื้อลดทอนลงมามาก เพียงแต่ราคาแบตถูกฟิกซ์ขั้นต่ำไว้ 5-6 แสนบาท เช่น หากมูลค่ารถ 1 ล้านบาท จะคิดเป็น 50-60% ของมูลค่ารถไปแล้ว หากเป็นรถอีวีสัญชาติยุโรป มูลค่ารถ 2.5-3 ล้านบาท ราคาแบตอาจจะอยู่ 7 แสนบาท ไปจนถึง 1 ล้านบาท หรือจะคิดเป็น 30% ของมูลค่ารถ

ตามมาตรฐานต้นทุนความเสียหายที่เกิดขึ้นของรถอีวีจะมีราคาแพงจากแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้า ซึ่งอ้างอิงอัตราเบี้ยประกันรถอีวีในต่างประเทศที่ใช้ถ้าเทียบรถสันดาปที่เคยรับประกัน โดยรถอีวีสัญชาติเอเชียต้องขยับค่าเบี้ยสูงกว่า 5-10% รถอีวีสัญชาติยุโรปต้องขยับค่าเบี้ยสูงกว่า 20-30% ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท

คลอดเกณฑ์ใหม่ ธ.ค.นี้

นายวาสิตกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสมาคมเป็นตัวกลางของสมาชิกบริษัทประกันวินาศภัยประมาณ 20 บริษัท ทำจดหมายเข้าไปขออนุมัติสำนักงาน คปภ. ในการออกเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถอีวีที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยทำให้ค่าเบี้ยประกันถูกลง โดยมีเงื่อนไขการคุ้มครองกรณีของแบตเตอรี่ได้รับความเสียหาย และต้องมีการเปลี่ยนแบบยกชุดเท่านั้น เป็น 3 ทางเลือกให้ลูกค้า

คือ 1.จำกัดจำนวนเงินความคุ้มครองของแบตเตอรี่รถยนต์อีวี โดยบริษัทจะให้ความคุ้มครองไม่ต่ำไปกว่า 50% ของมูลค่าแบตเตอรี่ 2.กำหนดความรับผิดส่วนแรก (deductible) โดยจะระบุไม่เกิน 15% ของมูลค่าแบตเตอรี่ และ 3.ลูกค้ามีส่วนร่วมจ่าย (copayment) โดยกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายร่วมไม่เกิน 15%

โดยให้ผู้เอาประกันภัยเลือกข้อใดข้อหนึ่ง และบริษัทจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย 10-25% ทั้งนี้ ลูกค้าอาจจะไม่เลือก 3 แนวทางดังกล่าวก็ได้ เพื่อรับความคุ้มครองเต็มทุนประกันเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับการทำสัญญาระหว่างลูกค้ากับบริษัทประกันแต่ละราย โดยช่วงนี้บริษัทประกันจะไม่มีการขึ้นเบี้ยเพิ่มเติม แม้ว่าอัตราความเสียหาย (loss ratio) ของรถอีวีจะสูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก

ตร.ประกันอีวี

เร่งฟื้นเชื่อมั่นทั้งซัพพลายเชน

นายวาสิตกล่าวอีกว่า ประเด็นปัญหารถอีวีที่เกิดขึ้นคงต้องกลับมาทบทวนองค์รวมในซัพพลายเชนของรถอีวี ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ศูนย์บริการ ผู้จัดจำหน่าย และบริษัทประกัน ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพราะยังเป็นเรื่องใหม่กับทุกส่วน

เช่น กรณีทีมช่างเทคนิค หรือคนที่อยู่ในศูนย์บริการ มีความรู้มีความมั่นใจเพียงพอในการซ่อมหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ ฉะนั้นหากช่างไม่มั่นใจในการซ่อม ก็จะให้เปลี่ยนแบตเตอรี่แบบยกก้อน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ผลิตต้องให้ความรู้ ฝึกทักษะ และทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในผู้จัดจำหน่ายหรือศูนย์บริการ

ยกร่างกรมธรรม์รถอีวีปีหน้า

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า แนวทางการออกเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถอีวีที่จะนำมาใช้ในปลายปีนี้ เป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยในปี 2566 คปภ.จะดำเนินการเก็บรวบรวมสถิติในการรับประกันภัยรถอีวี และศึกษารูปแบบประกันในต่างประเทศ เพื่อจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันรถอีวีเป็นการเฉพาะ (กรมธรรม์ประกันรถอีวี) เพื่อให้มีความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยใหม่ที่บริษัทประกันในประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ

ตอนนี้บริษัทประกันไม่ใช่ทุกบริษัทที่กล้าเสี่ยงขายประกันรถอีวี แม้ว่าความต้องการจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะราคารถไม่แพง ขณะที่รถสัญชาติจีนก็เริ่มเข้ามาบุกตลาดในไทยมากขึ้น

“ไทยยังไม่มีกรมธรรม์ประกันรถอีวีเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการปรับใช้โมเดลประกันรถยนต์ทั่วไปมารับประกันให้กับลูกค้า ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อประกันรถอีวี เพระรถทั่วไปชิ้นส่วนอะไหล่หลายพันชิ้น แต่รถอีวีมีชิ้นส่วนอะไหล่แค่กว่า 10 ชิ้น และราคาแบตเตอรี่แพงมาก โดยบางประเทศรัฐบาลจะซับซิไดซ์ค่าแบตเตอรี่ แต่ไทยถ้าไม่ซับซิไดซ์ก็อาจจะต้องกำหนดกรอบวงเงินค่าแบตเตอรี่ เพื่อให้บริษัทประกันอยู่ได้”

ปัจจุบันมีรถอีวีที่จดทะเบียนในตลาดรวมกัน 20,000 คัน ซึ่งปัญหาที่พบคือแบตเตอรี่ราคาแพง ทำให้บริษัทประกันจะกำหนดค่าเบี้ยประกันรถอีวีสูงกว่าเบี้ยประกันรถสันดาป โดยโจทย์ของ คปภ. คือแก้ไขปัญหาให้ค่าเบี้ยถูกลง

“ช่องโหว่-จุดอ่อน” ประกันรถอีวี

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงาน คปภ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันในประเทศไทยจะรับประกันภัยรถยนต์สันดาปทั้งคัน โดยหลักการประกันภัยจะกำหนดทุนประกันภัยที่ 80% ของมูลค่ารถ เพราะตัวรถมีค่าเสื่อมตามอายุการใช้งานและเพื่อให้ผู้เอาประกันเห็นว่าเมื่อเกิดความเสียหายแล้วต้องรับผิดชอบด้วย คือให้เกิดความระมัดระวังในการขับขี่และปิดช่องว่างในการเกิดการทุจริตเคลม

ขณะที่การคุ้มครองรถอีวีในปัจจุบัน เป็นการแปลงจากการรับประกันภัยรถยนต์สันดาปมาใช้กับรถอีวีชั่วคราว ซึ่งยังไม่ใช่พิกัดอัตราเบี้ยของรถอีวีโดยเฉพาะ ฉะนั้นพอเป็นการแปลงมาใช้ก็จะเกิดข้อบกพร่องตามที่เกิดเหตุ เช่น เกิดเหตุเล็กน้อย แต่เปลี่ยนใหม่ยกชุด ซึ่งมีมูลค่าสูง หมายความว่าค่าซ่อมมหาโหด เพราะพิกัดอัตราเบี้ยของรถยนต์สันดาปในปัจจุบันระบุว่า หากค่าซ่อมรถถึง 70% ของมูลค่ารถในขณะเกิดเหตุ หรือไม่อาจซ่อมได้ ให้คืนทุนประกันกับลูกค้าผู้เอาประกัน

ซึ่งค่าซ่อมของรถยนต์สันดาปคือพังยับทั้งคันแล้ว แต่ไม่เหมือนรถอีวี ฉะนั้นวันนี้เมื่อยังไม่มีความคุ้มครองตามพิกัดอัตราเบี้ยรถอีวีโดยเฉพาะ จะมีช่องว่างรอยโหว่ลักษณะนี้เกิดขึ้น

ศึกษาโมเดลต่างประเทศ

นายอาภากรกล่าวว่า หากสร้างพิกัดอัตราเบี้ยรถอีวีขึ้นมาได้ คาดว่าปัญหาพวกนี้จะไม่เกิดขึ้น โดยในต่างประเทศจะไม่ได้รับประกันรถอีวีทั้งคัน จะแบ่งเป็นส่วน ๆ เพราะความสึกหรอไม่เท่ากัน ความเสื่อมของตัวรถและแบตเตอรี่ไม่เท่ากัน โดยจะแย่งออกเป็นชิ้น ๆ เช่น แบตเตอรี่มีอายุ 8 ปี, ตัวรถมีอายุ 10 ปี

ฉะนั้นพิกัดเบี้ยที่ออกมาใหม่จะต้องดูว่ารถอีวีเป็นอย่างไร เพื่อออกแบบให้ตรงเป้าที่สุด

“การรับประกันแยกชิ้นส่วนก็มีจุดดี-จุดไม่ดีอยู่ เพราะเหมือนเปลี่ยนความคุ้นเคยใหม่ เช่น ถ้าตัวรถเสียหายพังยับ แต่แบตเตอรี่ยังอยู่จะทำอย่างไร และยิ่งตอนนี้เห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายจะนำรถเก่า 10 ปีมา แล้วนำเครื่องยนต์ออกมาแปลงเป็นรถอีวี แล้วจะให้ความคุ้มครองด้านประกันอย่างไร ฉะนั้นต้องศึกษาให้รอบคอบ เพื่อหาคำตอบในทุกจุด เราถึงต้องใช้เวลาในการศึกษาเป็นปี ๆ”

นายอาภากรกล่าวต่อว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลในต่างประเทศ ทั้งข้อมูลจากจีน อเมริกา และในยุโรป รวมไปถึงมีการหารือร่วมกับบริษัทประกันภัยต่อ ซึ่งในหลักการจากนั้นต้องนำข้อมูลมาออกแบบเรื่องความคุ้มครอง หากต้องแยกคุ้มครองแบตเตอรี่, ตัวรถ หรือตัวซอฟต์แวร์/อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

เพราะตอนนี้มีความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งมีแอปสั่งการเข้าจอดรถ หรือขับออกมารับคนขับ คือมีระบบความปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งคุณสมบัติไม่เหมือนกับรถสันดาปเลย ทั้งนี้ คงต้องเร่งยกร่างประกาศพิกัดอัตราเบี้ยประกันรถอีวีออกมาให้ได้ ซึ่งคาดว่าเร็วสุดน่าจะออกมาช่วงปลายปี 2566

วิริยะฯพอร์ตใหญ่รถอีวี

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) คู่ค้าเพียงรายเดียวในการรับประภัยรถอีวีรุ่น ORA Good CAT ในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้หารือกับเกรท วอลล์ มอเตอร์ ผู้ผลิตรถ ORA Good CAT ว่ามีแนวทางอย่างไรในการทำให้แบตเตอรี่แยกขายเฉพาะชิ้นได้ แทนที่จะขายทั้งลูกพร้อมเฟรมหุ้ม เพื่อให้ต่อไปหากเกิดเคสลักษณะนี้ขึ้นอีกสามารถเปลี่ยนเฉพาะเฟรมหุ้มได้

ซึ่งถ้าสามารถแยกขายเฉพาะชิ้นได้ อาจจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการซ่อมได้ถึง 20-30% ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนอีกสักระยะ ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทรับประกันรถยนต์อีวีรุ่น ORA Good CAT จำนวนเกินกว่า 2,000 คัน รวมพอร์ตรถยนต์อีวีทุกยี่ห้อเกินกว่า 3,000 คัน โดยรับงานจากทิสโก้ พันธมิตรไฟแนนซ์ โดยการคิดค่าเบี้ยประกันรถอีวีสูงกว่ารถสันดาปประมาณ 10% เบื้องต้นความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่ห่วงจากการรับประกันรถอีวี เพราะเคลมสินไหมที่เกิดขั้นรุนแรงมีอยู่แค่ 5-6 คันเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแบรนด์เอ็มจี รถอีวีส่วนใหญ่อยู่กับ โตเกียวมารีน ขณะที่แบรนด์เนต้า ทำประกันภัยกับนวกิจประกันภัย ซึ่งการใช้ประกันเป็นพอร์ตใหญ่ ๆ ข้อดีคือ ค่ายรถยนต์ได้ข้อเสนอที่ดี สามารถนำมาใช้เป็นโปรโมชั่นแถมประกันให้ลูกค้าปีแรกได้ แต่ปีต่อไปลูกค้าต้องต่อประกันภัยเอง ยังไม่มีรายงานว่าเบี้ยประกันจะขยับไปมากน้อยแค่ไหน

เปิดสายด่วนรับร้อง “แบตเตอรี่”

ด้านนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เคสที่เกิดขึ้นยังไม่น่าส่งผลกระทบต่อยอดจองรถอีวี “โอร่า” เนื่องจาก “กู๊ดแค็ต” ปิดรับจองไปแล้ว ซึ่งจะส่งมอบได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วน “กู๊ดแค็ต จีที” ที่เพิ่งเปิดรับจองก็ยังมียอดจองต่อเนื่องส่วนเคสที่เป็นข่าว ตอนนี้ออกจดหมายชี้แจงว่าเกิดจากสื่อสารกันคลาดเคลื่อน ตรวจสอบแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อแบตเตอรี่ ดังนั้นบริษัทประกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย พร้อมเป็นตัวกลางแก้ปัญหากับบริษัทประกันให้กับลูกค้าในทุกเคส

ส่วนอีกเคสที่คร่อมฟุตบาทหน้าโชว์รูมก็สามารถเคลมได้แบบเดียวกัน หลังจากนี้ลูกค้าที่เกิดปัญหาอุบัติเหตุและแบตเตอรี่ได้รับความเสียหาย ทางเกรท วอลล์ มอเตอร์ จะเข้าไปร่วมพูดคุยและเจรจาแก้ปัญหากับบริษัทประกันให้กับลูกค้าในทุกเคส พร้อมเปิดสายด่วนเพื่อรับปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่โดยเฉพาะ มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่หลังอุบัติเหตุ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการทํางานกับบริษัทประกัน และลดความกังวลของลูกค้า

ทํางานกับทางสํานักงานใหญ่ที่ประเทศจีน เพื่อเจรจาเกี่ยวกับราคาแบตเตอรี่และการถ่ายโอนความรู้ในการเปลี่ยนแบตเตอรี่เป็นบางโมดูล หรือการซ่อมแบตเตอรี่เพื่อลดภาระของลูกค้า เพื่อรองรับเคสที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และทํางานร่วมกับบริษัทประกันในการตรวจสอบความถูกต้องของใบประเมินราคาก่อนนําส่งลูกค้า และปรับปรุงการสื่อสารระหว่างบริษัทประกัน, ดีลเลอร์, สํานักงานใหญ่ และลูกค้าด้วย

เร่งสร้างความรู้ลูกค้า-ดีลเลอร์

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำตลาดยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า เอ็มจีมองข้อผิดพลาดกรณีที่เกิดขึ้นกับรถอีวี คงต้องกลับมาทบทวนว่า 1.ดีลเลอร์มีความรู้ความสามารถเรื่องรถอีวีเพียงพอหรือไม่ สำหรับเอ็มจีมีการเทรนให้ความรู้ดีลเลอร์และพนักงานทั้ง 160 โชว์รูมทั่วประเทศ รวมทั้งได้เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการตรวจสอบระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่อย่างเพียงพอ 2.ลูกค้าซึ่งค่ายรถยนต์จะต้องให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าระบบการทำงาน ที่สำคัญจะต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการใช้งานรถอีวีและสิ่งที่ควรระวังทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่

3.ทำความเข้าใจกับบริษัทประกัน และทำโควตราคากันอย่างชัดเจน อย่างรถอีวีที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านภาษีจากภาครัฐนั้น แม้ว่าเอ็มจีจะจำหน่ายในราคาที่หักส่วนลดภาษีแล้ว แต่การทำราคาทุนประกันนั้น ก็จะต้องทำให้ครอบคลุมราคาจำหน่ายต้นทุนเดิม และ 4.ค่ายรถยนต์จะต้องเข้าไปจัดการหากเกิดเคสที่ตัวแทนจำหน่ายไม่สามารถจัดการได้ ทั้งนี้ เอ็มจียังได้เปิดช่องทางสายด่วน 1267 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและกรณีลูกค้าเกิดปัญหาจากการใช้งานต่าง ๆ


“สิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้ใช้งานรถอีวีมั่นใจ คือค่ายรถต่าง ๆ ได้ออกแบบ และจัดวางแบตเตอรี่มา ในส่วนที่เรียกว่าปลอดภัยและแข็งแรงมากที่สุด โครงสร้างแบตเตอรี่จะมีกระดูกงูรองรับกันกระแทกอยู่แล้ว ถ้าไม่เกิดการชนหนักจนรถเสียหายจริง ๆ การทำให้แบตเตอรี่เสียหายได้นั้นเกิดขึ้นค่อนข้างยาก เพราะเรื่องนี้คือเรื่องของความปลอดภัย การออกแบบแบตเตอรี่จึงมีการปกป้องและป้องกันค่อนข้างสูงอยู่แล้ว”