ชงสูตรใหม่อีโคคาร์ไฮบริด ค่ายรถล็อบบี้กดภาษีลง50%

ค่ายรถวิ่งล็อบบี้อุตฯ-คลังเสียบแพ็กเกจใหม่ “อีโคคาร์-ไฮบริด” อ้อนขอลดภาษีลง 50% ย้ำอย่าปิดกั้นเทคโนโลยีควรดูที่เอาต์พุตการปล่อยไอเสียและประหยัดน้ำมัน ด้านคลังรับลูก “ไมลด์ ไฮบริด” ขอเวลาศึกษาข้อดี-เสีย 2 เดือนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมลั่นเตรียมเสนอรื้อภาษีอีกรอบป้องกลุ่มอีโคคาร์ลงทุนก่อนเสียประโยชน์ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายรายเข้ามาหารือพร้อมเสนอรายละเอียดการลงทุนแพ็กเกจอีโคคาร์ เฟส 2 แต่จะขอพ่วงแพ็กเกจไฮบริด, ปลั๊กอิน ไฮบริด และอีวีเข้าไปด้วย

ชงแพ็กเกจใหม่อีโคคาร์-ไฮบริด

ด้วยเห็นว่าเทคโนโลยีที่แต่ละค่ายมีอยู่ในปัจจุบัน สามารถผลิตรถยนต์ให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เข้าตามเงื่อนไขทั้งสองแพ็กเกจ ประหยัด ปลอดภัย และรักษ์โลกโดยมีการร้องขอว่า หากสามารถผลิตได้ตรงตามข้อกำหนดกระทรวงอุตสาหกรรม สมควรได้รับสิทธิประโยชน์รวม 2 แพ็กเกจไปพร้อมกันเลย คือ อีโคคาร์ เฟส 2 ใช้น้ำมันอี 85 เสียอัตราภาษี 10% พ่วงแพ็กเกจไฮบริด ซึ่งกระทรวงการคลังคิดอัตราภาษีสรรพสามิตลดลงอีก 50%

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ทางมาสด้าก็ได้ส่งตัวแทนเข้ามาพูดคุย แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจน มาสด้าพยายามให้น้ำหนักกับการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้รถที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล

วอนหยุดจำกัดเทคโนโลยี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามเรื่องนี้ไปทางบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้คำตอบจากนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ ว่าได้เข้าไปหารือถึงรายละเอียด การผลิตรถยนต์ในอนาคตควรจะมีการสนับสนุนเทคโนโลยีให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมองว่ารัฐบาลไม่ควรจำกัดเทคโนโลยีในแต่ละโครงการ แต่ควรเปิดโอกาสให้ค่ายรถยนต์สามารถใช้เทคโนโลยีอะไรก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีไฮบริดนั้นในปัจจุบันมีหลายแบบหลายขั้นหลากหลายซีรีส์ สิ่งที่รัฐบาลควรโฟกัสคือผลลัพธ์ของการใช้เทคโนโลยี โดยมองที่อัตราสิ้นเปลืองและการปล่อยค่าไอเสียมากกว่า

นายธีร์กล่าวเสริมอีกว่า มาสด้ายังได้เสนอให้รัฐพิจารณาส่งเสริมผู้ที่มีการลงทุนในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มมาสด้าเทเม็ดเงินลงทุนไปกว่า 21,000 ล้านบาท สำหรับโรงงานผลิตเกียร์ เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

ห่วงอีโคคาร์เสียประโยชน์

“เรามองย้อนกลับไปถึงโครงการอีโคคาร์ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการหลายรายลงทุนไปจำนวนมหาศาล มาสด้าเองก็ตัดสินใจลงทุนในอีโคคาร์ เฟส 2 เสียภาษีในอัตรา 12% ขณะที่แพ็กเกจใหม่ไฮบริดหรือปลั๊กอิน ไฮบริด มีการลงทุนและเงื่อนไขรายละเอียดต่าง ๆ ซับซ้อนน้อยกว่าอีโคคาร์ แต่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าโดยเฉพาะอัตราภาษีที่ลดลงถึง 50%”

นายธีร์ยืนยันว่า การหารือที่ผ่านมาเพื่อหามาตรการสนับสนุนภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยพยายามชี้แจ้งให้เห็นถึงโอกาสกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่เท่าเทียมกัน โดยมาวัดผลกันที่ประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การนำเอาพลังงานไฟฟ้ามาช่วยขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวฝ่ายบริหารค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 กล่าวเสริมมีแนวคิดแบบเดียวกับมาสด้า คือรัฐบาลไม่ควรตั้งข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี และควรปล่อยให้ค่ายรถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปตามลำดับขั้นตอน

“ผมยังสนับสนุนว่าไม่ควรกำหนดกรอบของเทคโนโลยี ใครอยากจะนำเทคโนโลยีแบบไหน สตรองไฮบริดหรือไมลด์ไฮบริดมาใช้ก็ไม่แปลก ดูที่ผลลัพธ์ที่ออกโดยเฉพาะค่าอีมิสชั่น”

สอดรับกับนายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์มีไม่เหมือนกัน บางค่ายสามารถทำฟูลไฮบริดได้ บางค่ายอาจจะยังเป็นแค่ไมลด์ไฮบริด ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเข้าไปชี้แจงให้เห็นถึงข้อเท็จจริง ประโยชน์และผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เองอยากให้พิจารณาและคำนึงถึงความเป็นธรรม

คลังสั่งศึกษาลดภาษีอีโคคาร์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ค่ายหนึ่งได้เข้าพบนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้ยื่นข้อเสนอขอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ประเภท mild hybrid (ไมลด์ไฮบริด) โดยลดอัตราภาษีลงให้ต่ำกว่าอัตราภาษีอีโคคาร์ในปัจจุบันที่เก็บอยู่ 12% ซึ่ง รมว.คลังได้สั่งให้ทางกรมสรรพสามิตรับเรื่องนี้ไปพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวถือว่าไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (new S-curve) โดยส่งเสริมการผลิตรถยนต์แบบ full hybrid (ฟูล ไฮบริด) เพื่อก้าวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในอนาคตมากกว่า ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการทางภาษีสนับสนุนไปในทางนั้นอยู่แล้ว ดังนั้น ทางกระทรวงการคลังจึงอาจจะไม่ได้เห็นชอบตามข้อเสนอที่เอกชนรายดังกล่าวเสนอเข้ามา อย่างไรก็ดี คงต้องรอผลศึกษาจากกรมสรรพสามิตที่ชัดเจนก่อน

ย้ำไมลด์ไฮบริดต่อยอดไม่ถึงอีวี 

“รถยนต์แบบไมลด์ไฮบริดจะใช้ไฟฟ้าแค่ตอนสตาร์ตกับสต็อป โดยยังคงพึ่งพาการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นหลัก แต่มาตรการที่รัฐสนับสนุนอยู่เราต้องการมุ่งไปสู่รถไฟฟ้า เริ่มจากส่งเสริมฟูลไฮบริดก่อน ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าภายใน 5 ปีจะต้องมีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย อย่างกรณีโตโยต้าก็บอกว่าจะมาตั้งโรงงานปีหน้าแล้ว ดังนั้น หากจะมีมาตรการไปสนับสนุนไมลด์ไฮบริดอีกก็อาจทำให้ผู้ประกอบการที่จะลงทุนแบตเตอรี่เปลี่ยนใจไม่ลงทุน”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันอีโคคาร์เองได้รับการสนับสนุนอัตราภาษีที่ต่ำกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น หากจะมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมโดยไปลดภาษีให้อีก อาจจะกระทบกับการผลิตรถยนต์ประเภทอื่น โดยเฉพาะผู้ผลิตไมลด์ไฮบริดที่ไม่ได้ทำบนพื้นฐานอีโคคาร์ จึงต้องคำนึงว่าประเทศชาติจะได้อะไรตอบแทน

“รมว.คลังรับข้อเสนอมา แต่ก็บอกว่าถ้าเอกชนทำได้ตามเงื่อนไขที่รัฐสนับสนุนอยู่ ก็พิจารณาให้ได้ แต่ถ้าขอมากกว่านั้น ถ้าไปลดภาษีให้มากเกินไป คนอาจหันมาลงทุนไมลด์ไฮบริดกันหมด นโยบายที่จะมุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่เกิด ดังนั้น ต้องดูว่าหากไปกระทบกับนโยบายที่ส่งเสริมอยู่แล้วคงไม่ให้ หรือถ้ารัฐบาลต้องการแค่อยากช่วยค่ายรถยนต์ก็เป็นอีกเรื่อง” แหล่งข่าวกล่าว

ขุนคลังรอผลศึกษา 1-2 เดือน

“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังกล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องรอกรมสรรพสามิตรายงานรายละเอียดมาก่อน ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานเข้ามา

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิตกล่าวว่า กรมได้รับนโยบายจาก รมว.คลังให้ศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวอยู่ โดยต้องดูว่าฝ่ายนโยบายจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ขณะที่การศึกษาของกรมสรรพสามิตก็จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า หากมีมาตรการส่งเสริมออกไปเพิ่มเติมแล้วประเทศชาติจะได้รับประโยชน์แค่ไหน ซึ่งต้องไม่กระทบกับนโยบายหลักของรัฐบาล ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1-2 เดือนน่าจะได้ข้อสรุปแล้วเสนอให้ รมว.คลังพิจารณา

สศอ.รับลูกเล็งให้ความเป็นธรรม

ด้าน ดร.ณัฐพล รังสิตพล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีมติ ครม. และสภาพัฒน์ให้ดูแลอีโคคาร์ เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะ ขณะที่ไฮบริดมีเงื่อนไขเพียงให้ผู้ประกอบการลงทุนต่อเนื่องแบตเตอรี่ในประเทศไทย ส่วนเงื่อนไขบีโอไออื่น ๆ ไม่ได้มีข้อกำหนดมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ

หรือจำนวนการผลิตต่างกับอีโคคาร์ที่มีกรอบการลงทุนไว้ชัดเจน ซึ่งต้องดูว่าจะสามารถช่วยเหลือหรือทำอะไรได้บ้าง อาจจะต้องไปแก้ประกาศกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่งในเรื่องของอัตราภาษี