มาสด้า บีที-50 ดีไซน์ต่างอย่างเหลือเชื่อ

เทสต์คาร์ : วุฒิณี ทับทอง

เพิ่งจะได้เห็นตัวเป็น ๆ ในงาน Mazda Thailand Sneak Prview 2020 สำหรับรถปิกอัพ บีที-50 ใหม่ ที่ค่ายมาสด้าตัดสินใจพัฒนาร่วมกับทางอีซูซุ

สิ่งที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน แม้จะใช้อีซูซุช่วยดีไซน์ นั่นก็คือ มาสด้ายังคงเอกลักษณ์ในเรื่องของการออกแบบตามแบบฉบับ “โคโดะดีไซน์” ซึ่งใช้กับรถยนต์มาสด้าทุกรุ่น ทั้งเก๋ง เอสยูวี

โดยเฉพาะมุมมองจากด้านหน้า ฝากระโปรง กระจังหน้า รวมถึงส่วนที่เป็นซิกเนเจอร์วิงส์และไฟหน้าทรงกระบอก เรียกว่า หัวเก๋งครึ่งคันหน้านั้นคือ “มาสด้า” แน่นอน

ซึ่งช่วยทำให้ “รถปิกอัพ” คันนี้ ดูเฉี่ยว หรูหรา ที่สำคัญดูดี น่าจะเกาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นคุณสุภาพสตรีได้มากขึ้น ตามกลยุทธ์ที่ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งหวังเอาไว้

บนแพลตฟอร์มที่ใช้ร่วมกับอีซูซุ ดีแมคซ์ ดังนั้นขนาดของตัวรถจึงใกล้เคียงกัน ส่วนของเครื่องยนต์ก็เป็นเครื่องยนต์เดียวกัน คือ มีให้เลือก 2 เครื่องยนต์ ขนาด 3.0 ลิตร 190 แรงม้า 450 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,600 รอบต่อนาที

และเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร เทอร์โบ ขนาด 150 แรงม้า 350 นิวตันเมตรที่ 1,800-2,000 รอบต่อนาที มีให้เลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา 6 สปีด

ส่วนภายในห้องโดยสาร มาสด้าออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่หรูและดูแพงเข้ามาไว้ในรถคันนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ให้สามารถ “ใช้งานได้ในทุกโอกาส” คอนโซลแนวราบถูกขยายออกไปถึงประตูด้านข้าง

ช่วยให้พื้นที่กว้างขวาง สะดวกสบาย แผงคอนโซลหน้ามาพร้อมกับแผ่นรองหัวเข่า เน้นการออกแบบให้ผู้ขับเป็นศูนย์กลาง

ส่วนการให้โทนสี ภายในห้องโดยสาร เลือกใช้วัสดุสีน้ำตาล คุมโทนที่ให้น้ำหนักสีออกมาค่อนข้างดี เบาะนั่งเดินตะเข็บด้วยด้ายชั้นดี เน้นความพิถีพิถันตั้งแต่แผงหน้าปัด คอนโซลหน้า และแผ่นรองหัวเข่า

ที่หน้าปัดเป็นมาตรวัดแบบแอนะล็อก 2 วง พร้อมจอแสดงข้อมูลอยู่ตรงกลาง แผงหน้าปัดข้างหลังสีดำสนิท ช่วยเพิ่มความเข้ม ดุดัน ช่องแอร์กลาง และซ้าย-ขวา ถูกจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม ตัดด้วยกรอบโครเมียม

มาสด้ายังนำหน้าจอสัมผัสแบบ WXGA ขนาด 7 นิ้ว ในรุ่นเริ่มต้น และ 9 นิ้วในรุ่นท็อปมาวางในตำแหน่งคอนโซลหน้า และจอแสดงผลขนาด 4.2 นิ้ว ที่สามารถควบคุมระบบนำทางแบบสัมผัส รวมทั้งระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ ได้ง่าย

ส่วนระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ปิกอัพคันนี้มีระบบเตือนจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน, ระบบเตือนเมื่อรถถอยหลัง, ระบบช่วยจอด, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน และระบบช่วยออกตัวรถขณะอยู่บนทางลาดชันมาให้

แต่ระบบการเตือนการชนด้านหน้า ครุยส์คอนโทรลและการมองรอบคันยังไม่มีมาให้ เหมือนรถกลุ่มรถยนต์นั่งและเอสยูวี

รุ่นที่เราทดสอบวันนี้ในสนามทดสอบเป็นรุ่น 1.9 ลิตร เทอร์โบแบบ 4 ประตูก่อน ช่วงแรกของการขับขี่ เริ่มที่สถานีสลาลอม เพื่อสัมผัสถึงความคล่องตัวและความแม่นยำของพวงมาลัย รวมทั้งจังหวะออกตัวของรุ่นนี้ถือว่า “ประทับใจ” เครื่องยนต์ตอบสนองดี แถมพวงมาลัยสั่งการได้แม่นยำ ไม่ได้รู้สึกเทอะทะ

เมื่อเข้าสู่การขับรอบใหญ่ อัตราเร่งทำได้ดี การเก็บเสียงของห้องโดยสารเยี่ยม เสียงเล็ดลอดเข้ามาไม่ดังจนเกินไป เมื่อเทียบกับรุ่น 3.0 ลิตรที่รู้สึกว่าเสียงของเครื่องยนต์ที่คำราม ขณะที่วิ่งด้วยความเร็วสูง ๆ ดังเข้ามาในห้องโดยสารมากกว่า

ความเร็วที่ทำได้ ในวันนี้วิ่งไปเกือบแตะ ๆ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากถูกจำกัดด้วยสภาพเส้นทางและสนาม เช่นเดียวกับอัตราเร่งและความคล่องตัวของรถทั้ง 2 รุ่นนั้น โดยส่วนตัวประทับใจกับรุ่น 1.9 ลิตร ที่ดูจะปราดเปรียว ทันใจมากกว่า

ส่วนการให้ความยืดหยุ่นของช่วงล่างนั้น ถือว่ามาสด้าเซตได้มาค่อนข้างดี หนึบ และนุ่ม แต่ต้องไม่ลืมว่าเราขับบนสนามทดสอบนี้อาจจะต้องรอดูในช่วงของการขับ ออกถนนจริง ๆ ที่เส้นทางขรุขระ ช่วงล่างจะเป็นอย่างไร

 

การโยนตัวของมาสด้า รักษาบาลานซ์ได้ค่อนข้างดี ไม่มีอาการดีดหรือเด้งมากให้จับได้

บางจังหวะที่เข้าโค้ง เพื่อดูการควบคุมพวงมาลัย อันนี้ต้องชมมาสด้าเซตมาดี ถือว่าเปลี่ยนความเป็นอีซูซุให้มาเป็น “มาสด้า” ได้ แต่ยังไม่คม หนึบหนับ ในแบบฉบับมาสด้า และขับด้วยความเร็วให้ความมั่นใจได้ถือว่าดี

โดยส่วนตัว จากการทดสอบวันนี้ชอบเครื่อง 1.9 ลิตร ชอบความคล่องตัวปราดเปรียว และความนุ่มนวลของรุ่นนี้มากกว่า ขับสนุก กระฉับกระเฉงกว่าเครื่อง 3.0 ลิตร

จะเสียดาย แต่ว่าหากรถคันนี้ได้ความเป็นสกายแอคทีฟมาเติม น่าจะขับสนุกและชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนคะแนนของจุดขายที่ชัดเจน คือความต่างในเรื่องของดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ จะช่วยตอบโจทย์และเติมเต็มให้มาสด้าได้มากน้อยแค่ไหนโปรดติดตาม

 

ที่สำคัญ ยังต้องรอลุ้นราคาที่มาสด้าจะเปิดปีหน้าออกมาว่า บีที-50 เวอร์ชั่นนี้จะน่าสนใจแค่ไหน ต้นปีหน้าได้รู้แน่