บทเรียน “เขื่อนแตก”

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

เห็นข่าว “น้ำท่วมใหญ่” ที่ญี่ปุ่น กับ “เขื่อนแตก” ที่ลาว

เป็นมหันตภัยจาก “น้ำ” เหมือนกัน

แต่มาจากคนละสาเหตุ

“น้ำท่วมใหญ่” และ “ดินถล่ม” ที่ญี่ปุ่น เกิดจากภัยธรรมชาติ 100%

แต่ “เขื่อนแตก” ที่ลาว

…ไม่ใช่

ฝนตกหนักเหมือนกับที่ญี่ปุ่น

แต่ “มหันตภัย” ที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากฝนตกหนักแล้วน้ำท่วมฉับพลันธรรมดา

หากมาจาก “เขื่อน” ที่สร้างยังไม่เสร็จ รับแรงน้ำในเขื่อนไม่ไหว

บริษัทร่วมก่อสร้างของเกาหลีใต้พบ “รอยรั่ว” กลางฐานเขื่อนก่อนเขื่อนแตก 3 วัน หลังฝนตกหนัก

เขาคิดว่าจะซ่อมแซมได้

แต่ “ไม่สำเร็จ”

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ “มหันตภัย” ที่มาจากธรรมชาตินั้น เราให้อภัยได้

เพราะเป็นเรื่องที่นอกเหนือความคาดหมาย

เหมือน “สึนามิ” ที่เมืองไทย

หรือแม้แต่กรณี “หมูป่าติดถ้ำ” ที่เชียงราย

ไม่มีใครนึกว่าน้ำในถ้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่กรณี “เขื่อนแตก” เป็นเรื่องความประมาทของมนุษย์

และความพยายามรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร

ไม่ยอมแจ้งข่าวกับชาวบ้านให้เตรียมอพยพ หรืออพยพล่วงหน้า

ไม่มีการเฝ้าระวังหรือเตรียมพร้อมหากเขื่อนแตก

กลัวแจ้งข่าวแล้วคนจะตื่นตระหนก

กลัวภาพลักษณ์ของบริษัทและเขื่อนจะเสียหาย

กลัวราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะได้รับผลกระทบ

กลัว-กลัว-กลัว…

แต่ลืมกลัวเรื่องเดียว

คือ กลัวว่าคนจะเสียชีวิตและทรัพย์สินจาก “เขื่อนแตก”

กลัวทุกอย่างที่เกี่ยวพันกับตัวเองและองค์กร

แต่ไม่กลัวเรื่องความเสียหายของ “คนอื่น”

สมมุติว่าถ้าบริษัทก่อสร้างของเกาหลีใต้แจ้งข่าวนี้ให้รัฐบาลลาว ตั้งแต่ 3 วันก่อนเขื่อนแตก

และรัฐบาลอพยพชาวบ้านขึ้นไปอยู่ในที่สูง

ความเสียหายจะต่ำกว่านี้มาก

เพราะครั้งนี้ ตอนที่เขื่อนแตกเป็นเวลาตอนค่ำ

ชาวบ้านเข้านอนแล้ว

“เขื่อนแตก” ไม่เหมือน “น้ำท่วม” ปกตินะครับ

“น้ำท่วม” จะค่อย ๆ เอ่อขึ้นมา

แต่ “เขื่อนแตก” น้ำจะทะลักแรงยิ่งกว่า “น้ำป่า” เสียอีก

ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนกลางวัน คนก็จะเสียชีวิตน้อยกว่านี้

เพราะจะมีคนเห็นกระแสน้ำที่เริ่มถล่มตั้งแต่แรก ๆ

ไม่ใช่นอนหลับอยู่ กว่าจะรู้ตัว

“มหันภัย” ก็มาถึงแล้ว

บทเรียนจากเหตุการณ์ “เขื่อนแตก” ที่ลาว

เป็น “บทเรียน” สำคัญที่รัฐบาลไทย และภาคเอกชนควรจะเรียนรู้

เพราะนับจากนี้ไป เมืองไทยก็ต้องเจอกับปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นทุกปี

นั่นคือ ปัญหา “น้ำท่วม”

ตอนนี้หลายจังหวัดก็เจอแล้ว

อีกพักหนึ่งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะเอ่อสูง

พื้นที่ลุ่มภาคกลางจะเจอกับปัญหาน้ำท่วม

เขื่อนแต่ละเขื่อนก็จะต้องระบายน้ำออกมา

บางช่วงเวลารัฐบาลก็จะขอให้ระบายน้ำน้อยหน่อย เพื่อไม่ให้พื้นที่ด้านล่างรับน้ำมากเกินไป

เรื่องเหล่านี้ คือ ปัญหาเดิม ๆ ที่วนเวียนเกิดขึ้นทุกปี

กรณี “เขื่อนแตก” ที่ลาวได้ให้บทเรียนสำคัญข้อหนึ่ง คือ รัฐบาลต้องกล้าบอก “ความจริง” กับประชาชน

อย่าระวังภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากเกินไป

อย่ากลัวเรื่องของ “ตนเอง”

จนลืม “ลมหายใจ” ของผู้อื่น

เพราะ “ชีวิต” ของทุกคนมีค่ากว่าทุกสิ่งในโลก