
คอลัมน์ : Pawoot.com ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปงาน Singapore FinTech Festival
พูดถึง “ฟินเทค” ต้องบอกว่า สิงคโปร์จากเดิมที่เมื่อก่อนบอกว่าอยากเป็นเมืองท่า ต่อมาก็เริ่มปรับตัวเองเป็น financial center หรือเป็นแหล่งศูนย์กลางทางด้านการเงิน แต่ในช่วงที่ผ่านมา เขาก็ประกาศชัดเจนว่าต้องการเป็นผู้นำด้านฟินเทคในย่านอาเซียน และแน่นอนตอนนี้เขาก็ทำได้แล้ว
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 1 เม.ย. 66 (อัพเดต)
- 12 นิสิตเก่า ‘สิงห์ดำ’ ดีเด่น ปี 66 ความภาคภูมิใจ ‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ สถาบันผลิตบุคลากรชั้นนำของประเทศ
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
งานนี้เป็นงานที่ใหญ่มาก จัดขึ้นที่ Singapore EXPO มีทั้งหมด 6 ฮอลล์ ต้องบอกว่าใหญ่มาก มีบริษัทที่เกี่ยวกับฟินเทคน่าจะเป็นพัน ๆ บริษัทเลย บริษัทจากไทยมีไม่มาก แต่บริษัทจากในอาเซียนรวมไปถึงจากต่างประเทศมีมามากเลยทีเดียว
งานแบบนี้มีจัดมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่ก็ทราบอยู่แล้วว่าอย่างไร ฟินเทคก็มา แต่ไปแล้วต้องตกใจว่าบริษัททางด้านฟินเทคมากันเยอะมาก
และพูดได้เลยว่าทำไมธนาคารถึงกลัวพวกฟินเทค เพราะมากันเยอะมากจริง ๆ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากประเทศไทยเราก็ไป
ถ้ามองย้อนกลับไปก่อนที่จะมี “ฟินเทค” ธุรกิจธนาคารมีบริการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝากเงิน ปล่อยกู้ การยืนยันตัวตน การทำเครดิตสกอริ่ง ฯลฯ
แต่ตอนนี้บริการต่าง ๆ ของธนาคารถูกฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ กลายเป็นบริการย่อย ๆ และมีบริษัทที่เป็นฟินเทคหรือที่เกี่ยวกับการให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเป็นบริการย่อย ๆ
บางคนทำเกี่ยวกับการปล่อยกู้อย่างเดียว บางคนทำเกี่ยวกับเรื่องยืนยันตัวตน หรือเดี๋ยวนี้คือการทำ e-KYC (electronic know your customer) หรือการเซ็นเอกสารออนไลน์ หรือทำเครดิตสกอริ่งว่าคุณเป็นใคร และเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ฯลฯ ทุกอย่างที่พูดถึงกลายเป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่มาในงานนี้เต็มไปหมด
ในงานนี้ก็มีพวกคริปโตเคอร์เรนซีไปด้วย แม้ตอนนี้วงการคริปโตจะค่อนข้างซบเซาแต่ก็ยังมีอยู่ และสิงคโปร์ถือว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเปิดเกี่ยวกับเรื่องคริปโต เพราะเริ่มมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปกำกับและเปิดอนุญาตให้บริษัทคริปโตต่าง ๆ เข้าไปเปิดให้บริการในประเทศสิงคโปร์
บอกได้เลยว่างานนี้ใหญ่มากจริง ๆ เดินได้ไม่ทั่ว สำหรับเป้าหมายที่ผมไปคือ หนึ่ง ไปดูเทคโนโลยี สอง ไปดูพาร์ตเนอร์เพื่อขยายตลาดออกไปต่างประเทศ สาม เช่นเดียวกันผมก็ไปมองหาพาร์ตเนอร์ที่เขาต้องการเข้ามาให้บริการในไทย และสี่ พูดแบบไม่อายคือ ไปดูว่าเทคโนโลยีตัวไหนดีที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ หรือเอามาใช้ก่อนคนอื่นได้
ที่ผมไปดูก็จะมี Country Pavilion ที่ประเทศต่าง ๆ รวมตัวกันมา เพราะบางทีแต่ละประเทศที่มีบริษัทเทคโนโลยีจะมาออกบูททีนึงต้องใช้เงินหลักหลายแสนจึงมีการมารวมตัวกัน เช่น อิสราเอล เกาหลี มาเลเซีย ฯลฯ
ในพาวิเลียนก็จะมีบริษัทต่าง ๆ มาเปิดเป็นบูทย่อย ๆ โดยรัฐบาลจะออกเงินช่วยสนับสนุนและทำงานร่วมกับสมาคมฟินเทค หรือสมาคมทางด้านการเงินของประเทศนั้น ๆ ผมเดินดู มีประเทศต่าง ๆ มามาก ประเทศกัมพูชายังมา แต่ไม่มีประเทศไทย
หนึ่งในสปอนเซอร์ของงาน Singapore FinTech Festival คือ “อาลีเพย์” หรือ Ant Financial บริษัทลูกของอาลีบาบากรุ๊ป ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องฟินเทคโดยเฉพาะ “อาลีเพย์” มีบริการหนึ่ง ชื่อ Alipay+ ซึ่งได้เข้ามาลงทุนในฟินเทคไทยเยอะมาก
อย่างกลุ่มแรกในประเทศไทย คือ “ทรูมันนี่” Ant Financial เข้ามาถือประมาณ 25% และล่าสุดมีบริษัทด้านการเงิน เช่น 2C2P และบริษัทเกี่ยวกับเรื่องการเงินก็จะมี Ant Financial เข้าไปลงทุนหรือซื้อกิจการเลยก็มี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็เพิ่งมีการจัดงาน BOT Digital Finance Conference 2022 ไป มีการจัดแสดงเทคโนโลยีต่าง ๆ มีธนาคารต่าง ๆ มีพวก nonbank อินชัวรันซ์ บริษัทเทคโนโลยีในไทย และต่างประเทศมาในงานนั้นด้วย
จะเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่วงการฟินเทคเติบโตกันคึกคัก บริษัทฟินเทคในบ้านเราและต่างประเทศก็ตื่นตัวกันมาก
นั่นก็เพราะตอบรับกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางออนไลน์มากขึ้นนั่นเองครับ