“บิ๊กตู่” ชิงแต้มฐานเสียง “คนจน” เท 3 แสนล้าน มัดจำ 11.4 ล้านคน

1 ปีนับจากนี้ ตามคำประกาศโค้งสุดท้ายโรดแมป รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชูการแก้ปัญหาความยากจนเป็น “ธงนำ” ในการขับเคลื่อนให้ “คนจน” 11.4 ล้านคน “หมดประเทศ”

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบ “มาตรการแก้จน เฟสสอง” พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เม็ดเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-“ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ฝากความหวังกับ “มาตรการแก้จนเฟสสอง”
เป็นอย่างมาก เพราะเป็น “เดิมพันสูง” ของ “พล.อ.ประยุทธ์และคณะ” หากหวังที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี (คนนอก) อีกครั้ง

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะ “บอร์ดแก้จน”

“พล.อ.ประยุทธ์ ” ลงมือ “กุมบังเหียน” แก้ความยากจนด้วยตัวเอง ภายใต้ “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (คนส.) โดยมี “ดร.สมคิด” เป็นรองประธาน และ “ขุนคลัง” อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ ยังมี “คณะติดตาม-ประเมินผล” หรือ “คณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (คอต.) มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ขณะที่ในระดับ “พื้นที่” ขับเคลื่อนโดยกลไกกระทรวงมหาดไทยของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผ่าน “คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด” (คอจ.)

ปูพรม ผอ.เขต-นอภ. 878 ชุด

โดยให้ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) รับผิดชอบในพื้นที่ “คนจนเมือง” และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เป็นประธานในระดับจังหวัด มีตัวแทน-กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด เป็นกรรมการ รวม 77 คณะ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

คอจ.มี อำนาจในการแต่งตั้ง กำกับดูแล การปฏิบัติงาน-ลงพื้นที่ของ”คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ” หรือ “ทีมหมอประชารัฐสุขใจ” (ทีม ปรจ.) มีผู้อำนวยการเขต กทม.ทุกเขต-นายอำเภอ เป็นประธาน 878 ชุด“ทีม ปรจ.” จึงเป็นกลไกภาครัฐ “เคาะประตูบ้าน” ชนิด “ถึงเนื้อ-ถึงตัว” ผู้มีรายได้น้อย “รายบุคคล” โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน 2 หมื่นคน และ ธ.ก.ส. 1 หมื่นคน เป็น “หน่วยเคลื่อนที่” เรียกว่า ผู้ดูแลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer : AO) สัดส่วน AO 1 คน รับผิดชอบผู้มีรายได้น้อย 30-50 คน

ตั้งพลเรือน-ทหารแก้จน

“พล.อ.ประยุทธ์ ” กล่าวถึงมาตรการแก้จน ระยะที่ 2 ว่า “เป็นโครงการแก้ปัญหาความยากจนในทุกจังหวัด ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนของกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เกษตรฯ สิ่งแวดล้อม รวมถึงความมั่นคง เพื่อลงไปแก้ปัญหา เหมือนกับที่รัฐบาลจีนได้ลงไปพบปะทุกครอบครัว”

ขณะที่ “ดร.สมคิด” แม่ทัพเศรษฐกิจ กล่าวว่า กระทรวงการคลังใช้เวลามากในการประสานกับกระทรวงต่าง ๆ เช่น แรงงาน เกษตรฯ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพราะต้องลงไปพบผู้มีรายได้น้อย-รับฟังความต้องการในการพัฒนา

“นายกฯกำลังให้มีทีมทำเรื่องนี้ ประกอบด้วยหลายกระทรวง เช่น มหาดไทย เกษตรฯ ธ.ก.ส. รวมทั้งกลาโหม เพื่อลงไปในระดับจังหวัด เช่น จ.กาฬสินธุ์ ลงไปให้ลึกระดับจังหวัด”

เคาะประตู-แก้จนตัวต่อตัว

“มหาดไทย คือ หัวใจ ทุกจังหวัดรู้ว่าจะต้องทำอะไร เมืองจีนพัฒนาได้เร็ว แก้จนได้เร็ว เพราะเขาโฟกัสลงไปที่จังหวัด ใช้กำลังของสมาชิกพรรคลงไปตรวจสอบว่า แต่ละจังหวัด แต่ละมณฑลที่ยากจน เหตุคืออะไร แตกต่างกัน”

ด้าน “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1 ใน “ทีมคิด” กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็น “แกนหลัก” ในการคิดมาตรการแก้จน เฟส 2 โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความยากจน

“หัวใจ คือ ต้องลงไปถึงพื้นที่ จึงต้องมีคณะกรรมการระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เป็นความตั้งใจของเราเพื่อให้ลงไปตอบโจทย์ในพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพ ชีวิต”

“กรรมการระดับประเทศลงไปข้างล่างไม่ได้ เกมนี้จะต้องไปคุยกับประชาชนตัวต่อตัวว่า มีปัญหาอะไร จะช่วยเหลือได้อย่างไร ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือ เพื่อให้เหมาะสม-ตรงตามความต้องการของผู้มีรายได้น้อย”

แก้จน 4.7 ล้านคน มีนา 61

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งเป้าแก้ปัญหา “คนจน” ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี 4.7 ล้านคน ให้ “เลิกจน” โดยเริ่ม “คิกออฟ” เดือนมีนาคม 2561 จำนวน 34 โครงการ 4 มติ พ่วงของแถม-แรงจูงใจเข้าคอร์สอบรมคนละ 100-200 บาทต่อเดือน

มิติที่ 1 การมีงานทำ 5 โครงการ มิติที่ 2 การฝึกอบรมและการศึกษา 10 โครงการ มิติที่ 3 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 11 โครงการ และมิติที่ 4 การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 8 โครงการ

ขณะเดียวกันด้วยการบริหาร “สไตล์ประชารัฐ” ยังอนุมัติ “มาตรการภาษี” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อจูงใจ “นายจ้าง” ฝึกทักษะฝีมือ-จ้างงานเป็นกรณีพิเศษ โดยหักจากรายจ่ายเป็นจำนวน 1.5 เท่า

ทุ่มงบฯกลางปี 1.5 แสนล้าน

สอดประสานกับกระทรวง การคลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายกลางปี เพิ่มเติมปี 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนมีนาคม เพื่อทันใช้ในเดือนเมษายนต่อไป แบ่งออกเป็น โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 3.5 หมื่นล้านบาท การปฏิรูปภาคการเกษตร 4 หมื่นล้านบาท โครงการกองทุนหมู่บ้าน 1 หมื่นล้านบาท โครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับตำบล 1 หมื่นล้านบาท

งบฯปฏิรูปประเทศ 1 ล้านล้าน

ขณะ ที่กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ซึ่งเป็นช่วง “รอยต่อ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศโรดแมปไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

ล่าสุด พุ่งทะลุ 3 ล้านล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลกว่า 4.5 แสนล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในวันที่ 16 มกราคม 2561 ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.พิจารณาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561

โดยมีสัดส่วนงบฯปฏิรูปประเทศถึง 1 ล้านล้านบาท ! บวกกับงบฯ อปท. 1.5 แสนล้าน เบ็ดเสร็จแล้วใช้งบฯแก้จนโค้งสุดท้าย 3 แสนล้านบาท

การแก้ปัญหาความยากจน 1 ปีนับจากนี้ จึงเป็น “เดิมพันสูง” ของ พล.อ.ประยุทธ์-คณะ คสช.