รัฐสภา คว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว.-+นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.  

รัฐสภา

รัฐสภาตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ร่างรวด ทั้งปิดสวิตช์ ส.ว. และนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.  

วันที่ 7 กันยายน 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 4 ฉบับ เป็นวันที่ 2 ตามที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คนเป็นผู้เสนอ

แบ่งเป็น 1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยแก้ไข อาทิ เรื่องว่าด้วยสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน โดยเพิ่มเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ หลักประกันสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน รวมถึงผ่านการประเมินคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

3.ร่างเพิ่มเติมมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ เพิ่มเติมให้มีหลักประกันเรื่องสุขภาพ ให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพมีคุณภาพ เท่าเทียม เสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า และ เรื่องสิทธิสวัสดิการประชาชน เพื่อเติมเต็มดูแลตั้งแต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

4.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะเป็นผู้เสนอ แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ซึ่งแก้ไขให้มาจาก ส.ส.เท่านั้น และดำเนินการตามมาตรา 88

Advertisment

โดยให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯได้ แต่ผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขมาตรา 170 (2) ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เป็นการเฉพาะ ให้สิ้นสุดลงเพราะเหตุอันสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส.ด้วย

ทั้งนี้ ก่อนการลงมติ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย สรุปว่า การขอแก้ไขมาตรา 159 ให้บุคคลได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. และอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ยึดหลักอุดมคติประชาธิปไตย และยึดโยงประชาชน คนจะเป็นผู้บริหารประเทศต้องผ่านการคัดกรองจากประชาชน ซึ่งคนเป็น ส.ส.ก็ผ่านการคัดกรองจากประชาชนก่อน ไม่ใช่จู่ ๆ ไปเอาใครมายัดให้สภาเลือก

Advertisment

“เท่าที่ฟังการอภิปรายมั่นใจว่าทั้ง 4 ร่างจะตก เพราะเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ประกาศไม่รับทั้ง 4 ร่าง แต่เหตุผลที่บอกไม่รับ เพราะถูกเหน็บแนม ตบกะโหลกนั้น ถ้าจะตกด้วยอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจ โกรธแค้น ถือว่าน่าผิดหวังสำหรับประชาชน ยิ่งการไม่ยอมรับกติกาฉบับนี้ แล้วบอกว่าก็ต้องไม่เข้ามาอีกในสมัยหน้า แต่เรายืนยันจะดึงดันเข้ามา เพื่อแก้ไขกติกาให้ได้” นายสุทินกล่าว

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 กล่าวสรุปว่า มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะความจำเป็นต่อเนื่องเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศสิ้นสุดแล้ว และความรู้สึกประชาชน ไม่ได้รู้สึกว่า ส.ว.เลือกนายกฯด้วยความเป็นกลาง แต่ฝักใฝ่การเมือง ยิ่งในอนาคตปี 2566

หากให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นการเลือกที่มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นนักการเมืองล้วน ๆ แต่ข้อกล่าวหาอาจรุนแรงขึ้น ประชาชนอาจเข้าใจได้ว่ากล้วยที่เคยแจก ส.ส.อาจจะเป็นกล้วยที่มาแจก ส.ว. เพื่อเลือกใครเป็นนายกฯก็ได้ ถึงเวลาที่ ส.ว.ต้องปล่อยวาง โดยการร่วมลงมติเห็นชอบการแก้ไขมาตรา 272

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายสรุปฝั่ง ส.ว.ว่า ยืนยันร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ร่างยังไม่ควรผ่าน ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 นั้น เราจะต้องเคารพประชามติที่ประชาชนโหวตให้ผ่าน ซึ่งตนก็จะทำหน้าที่นี้ต่อไป เพราะประชาชน 15 ล้านเสียงลงมติรับรองให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม มาตราดังกล่าวอยู่ในบทเฉพาะกาล ถ้าเข้าใจก็จะไม่ต้องเสียเวลาขอแก้ไข เพราะเมื่อครบ 5 ปีก็จะไม่มีผล รัฐธรรมนูญปี 60 ออกแบบมาเพื่อแก้วิกฤตต่าง ๆ และในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ ส.ว.มาช่วยสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้หมายความว่าให้ ส.ว.เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การเลือกตั้งคราวหน้าในส่วนของสภา ก็รวมเสียงให้ได้ 250 เสียงขึ้นไป แล้วเสนอให้สภา

โดน ส.ส.กระแนะกระแหน และใช้ถ้อยคำเสียดสี ดังนั้น จึงขอเรียนว่า อดทน อดกลั้นมาถึงสองวัน เดิมอยากเห็นสภาแห่งนี้เป็นที่พูดคุยกัน แต่ ส.ว.กลับโดนตบกะโหลก การจะขอให้ ส.ว.ช่วยลงมติให้ในครั้งนี้จำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งสองสภา

ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็สามารถทำได้ เพราะเคยลงมติเรื่องแก้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบให้ไปแล้ว และเมื่อครั้งที่แล้วเสนอขอแก้ไขมาตรา 272 ก็มี ส.ว. 56 คนลงมติให้ แต่ครั้งนี้กลับมีสมาชิกใช้วาจาส่อเสียด ส.ว.มากเกินไป ตนจึงไม่แน่ใจว่า ส.ว.ที่เคยลงมติให้ไปครั้งที่แล้วจะลงมติครั้งนี้อย่างไร แต่สำหรับตนลงมติให้ไม่ได้ เพราะจะเท่ากับว่าโดนตบหัวแล้วลูบหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการลงมติด้วยการขานชื่อ โดยใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. กระทั่งลงมติเสร็จสิ้นในเวลา 20.50 น. โดยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่จะผ่านวาระรับหลักการจะต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง คือ 364 เสียงขึ้นไป และต้องมี ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 83 เสียงจึงจะผ่าน แต่ปรากฏว่าที่ประชุมรัฐสภา โหวตตกทั้ง 4 ร่าง ดังนี้

1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ที่ประชุมมีมติ รับหลักการ 356 ต่อ 253 เสียง งดออกเสียง 53 เสียง คะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ 364 เสียง ทำให้ร่างตกไป

2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะเป็นผู้เสนอ ที่ประชุมมีมติ รับหลักการ 382 เสียง ต่อ 252 เสียง งดออกเสียง 28  แม้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง แต่มี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่ถึง 1 ใน 3 คือ 83 เสียง ทำให้ร่างตกไป

3.ร่างเพิ่มเติมมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะเป็นผู้เสนอ มีมติรับหลักการ 346 เสียง ไม่รับหลักการ 299 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง คะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ 364 เสียง ทำให้ร่างตกไป

และ 4 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะเป็นผู้เสนอ มีมติรับหลักการ 346 เสียง ไม่รับหลักการ 292 เสียง งดออกเสียง 24 เสียง คะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ 364 เสียง ทำให้ร่างตกไป