เกมแก้รัฐธรรมนูญ Comeback ลุ้นปิดสวิตช์ ส.ว. ล็อกนายกฯเป็น ส.ส.

หลังจากรัฐสภาฝุ่นตลบกับการแก้กฎหมายลูก ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ว่าจะเอาสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 100 หรือหาร 500

เป็นเกมที่นักเลือกตั้งประลองกำลังเสียงกันในสภาจนวุ่นวาย ซึ่งบัดนี้ยังไม่มีทีท่าจะจบแบบ happy ending หรือไม่

เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในอนาคตอาจวุ่นวายอีกรอบหนึ่ง

เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มีเรื่องเกี่ยวกับการตัดเรื่องการทำไพรมารี่โหวต ที่นักเลือกตั้งฝ่าย ส.ส.เห็นว่า “ยุ่งยาก” ทิ้งไป ทว่า ฝ่าย ส.ว.ได้เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดเช่นกัน ดีไม่ดี ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองอาจถูกตีตกไปก็ได้

ทว่า ในการประชุมรัฐสภารอบล่าสุดมีการพิจารณาวาระสำคัญ คือ การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 5 ฉบับ มีถึง 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายทางการเมืองในอนาคต

หนึ่ง ร่างฯแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 64,151 คน

“สมชัย” อดีต กกต. ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ในนามคณะรณรงค์แก้ไขบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ระดมชื่อกว่า 6 หมื่นคน เข้าชื่อเพื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

“สมชัย” หมายมั่นปั้นมือว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ถูกตีตก อาจเป็นโอกาส “ตัดอำนาจ” ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ทันในการเลือกตั้งปี 2566

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ที่ร่วมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

ได้แก่ 1.ร่างฯแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ 2. ร่างฯเพิ่มเติมมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยทั้ง 2 ฉบับนี้ พรรคเพื่อไทย แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน โดยเพิ่มเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ หลักประกันสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน รวมถึงผ่านการประเมินคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังแก้ไขในมาตรา 47 เพิ่มเติมให้มีหลักประกันเรื่องสุขภาพ ให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพมีคุณภาพ เท่าเทียมเสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า และ 48 เรื่องสิทธิสวัสดิการประชาชน เพื่อเติมเต็มดูแลตั้งแต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

3.ร่างฯแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ซึ่งแก้ไขให้มาจาก ส.ส.เท่านั้น และดำเนินการตามมาตรา 88 คือ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯได้ แต่ผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขมาตรา 170 (2) ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เป็นการเฉพาะ ให้สิ้นสุดลงเพราะเหตุอันสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส.ด้วย

สรุปให้เข้าใจง่าย คือ แก้ไขให้คนที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ดังนั้น ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้สำเร็จ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พ้นบ่วงนายกฯ 8 ปี และอยากเดินหน้าการเมืองต่อไปอีก ก็ต้องลงเลือกตั้ง เป็น ส.ส.เท่านั้น

และร่างสุดท้ายเป็นของร่างฯแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 120 เสนอโดย นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.ภูมิใจไทย กับคณะ อันเป็นการแก้ไขมาตรา 120

จุดประสงค์เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ออกข้อบังคับกำหนดองค์ประชุมสภาในวาระการรับทราบรายงานขององค์กรอิสระ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะเป็นองค์ประชุม เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.มีเวลาในกิจกรรมที่เกี่ยวกับหน้าที่มากขึ้น

แต่ความหวังของ “สมชัยและพวก” รวมถึงพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องการจุดกระแสสังคมที่เคยร้อนแรงเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง เป็นเกมกดดันนอกสภา

ทว่าหน้างานการเมืองตอนนี้ถูกกลบด้วยเรื่องนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะไปต่อ หรือพอแค่นี้ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ

กลบเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไปมิดชิด